งานบทละคร ของ วิลเลียม_เชกสเปียร์

นักวิชาการมักแบ่งลำดับงานเขียนของเชกสเปียร์ออกเป็นสี่ช่วง[21] ในช่วงแรกจนถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1590 เขามักเขียนบทละครชวนหัวซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานของชาวโรมันและอิตาลี หรือบทละครแนวอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนั้น ต่อมาในช่วงที่สองตั้งแต่ราวปี 1595 เขาเริ่มเขียนละครโศกนาฏกรรม เริ่มตั้งแต่ โรมิโอกับจูเลียต ไปจนถึง จูเลียส ซีซาร์ ในปี ค.ศ. 1599 ในระหว่างช่วงเวลานี้ เขายังได้เขียนงานบทละครที่ได้รับยกย่องว่าเป็นบทละครแนวขบขันและแนวประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาด้วย จากนั้นในราวปี ค.ศ. 1600 ถึงประมาณ 1608 นับเป็น "ยุคโศก" ของเขา เชกสเปียร์เขียนแต่เรื่องโศกนาฏกรรมเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นในช่วงปี 1608 ถึง 1613 จะเป็นแนวเศร้าปนตลก หรือบางครั้งเรียกว่าแนวโรมานซ์

งานบทละครชิ้นแรกของเชกสเปียร์ที่มีการบันทึกไว้ คือบทละครเรื่อง พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และบทละครอีกสามองก์ของ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1590 อันเป็นยุคที่นิยมละครชีวิตอิงประวัติศาสตร์ การระบุวันเวลาในการประพันธ์บทละครของเชกสเปียร์ทำได้ค่อนข้างยาก แต่จากการศึกษางานเขียนของเขา นักวิชาการเชื่อว่า Titus Andronicus, The Comedy of Errors, The Taming of the Shrew และ Two Gentlemen of Verona น่าจะเป็นงานเขียนในช่วงแรก ๆ ของเชกสเปียร์[6] ผลงานในกลุ่มละครอิงประวัติศาสตร์ของเชกสเปียร์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของราฟาเอล โฮลินเชด ในปี 1587 คือ Chronicles of England, Scotland, and Ireland แสดงให้เห็นถึงความล่มจมที่เกิดจากการปกครองอันอ่อนแอ ซึ่งสามารถตีความไปถึงต้นกำเนิดของราชวงศ์ทิวดอร์[22] องค์ประกอบของบทละครยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของนักเขียนบทละครในยุคเอลิซาเบธหลายคน โดยเฉพาะ โทมัส คิด และ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ อันเป็นลักษณะของบทละครในยุคกลาง[23] บทละคร The Comedy of Errors ก็มีพื้นฐานมาจากรูปแบบละครในยุคคลาสสิก แต่ไม่พบแหล่งกำเนิดของ The Taming of the Shrew แม้ว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับละครอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเดียวกันซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้าน[6]

ภาพวาด Oberon, Titania and Puck with Fairies Dancing โดย วิลเลียม เบลก ค.ศ. 1786

ผลงานคลาสสิกและงานขำขันในยุคแรกของเชกสเปียร์มักมีโครงเรื่อง 2 ส่วนเกี่ยวพันกัน และมีลำดับการออกมุขตลกที่แน่ชัด เป็นตัวเบิกทางไปสู่ผลงานสุขนาฏกรรมอันอบอวลด้วยความรักในช่วงกลางทศวรร

ษ 1590[7] นั่นคือ ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน (A Midsummer Night's Dream) อันเป็นบทละครที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวความรัก เวทมนตร์ของนางฟ้า และฉากตลกขำขัน บทละครเรื่องต่อมาคือ เวนิสวาณิช ก็เป็นละครชวนหัวที่เกี่ยวกับความรัก มีตัวละครชาวยิวผู้เป็นนายหน้าเงินกู้จอมงก ไชล็อก อันสะท้อนภาพของผู้คนในยุคเอลิซาเบธ นอกจากนี้ยังมีบทละครชวนหัวที่เล่นถ้อยคำอย่างชาญฉลาด Much Ado About Nothing, ฉากอันงดงามมีเสน่ห์ใน As You Like It ตลอดจนเรื่องราวรื่นเริงใน ราตรีที่สิบสอง (Twelfth Night) เหล่านี้ล้วนเป็นบทละครสุขนาฏกรรมอันมีชื่อเสียงของเชกสเปียร์[7] หลังจากงานกวีเรื่อง ริชาร์ดที่ 2 เชกสเปียร์นำเสนองานเขียนร้อยแก้วเชิงขำขันกับละครอิงประวัติศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1590 คือเรื่อง พระเจ้าเฮนรีที่ 4 และ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ตัวละครของเขามีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากขึ้น โดยที่ต้องสลับไปมาระหว่างความจริงจังกับความตลก และยังสลับไปมาระหว่างการบรรยายแบบร้อยแก้วกับร้อยกรอง นับเป็นผลสำเร็จในการนำเสนอเรื่องราวด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ในงานเขียนของเขา[24][7] ยุคนี้ของเชกสเปียร์เริ่มต้นและจบลงด้วยงานเขียนโศกนาฏกรรมสองเรื่อง คือ โรมิโอกับจูเลียต ละครโศกนาฏกรรมความรักที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุด และ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งแต่งขึ้นจากผลงานแปลของเซอร์โทมัส นอร์ธ เรื่อง Parallel Lives ในปี 1579 นับเป็นการนำเสนอรูปแบบละครชีวิตแนวใหม่[7]

ภาพวาดแฮมเล็ตกับปีศาจของบิดา วาดโดยอองรี ฟูเซลิ ราวปี ค.ศ. 1780-5

ช่วงที่เรียกว่า "ยุคโศก" ของเชกสเปียร์อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1600 - 1608 เขาเขียนทั้งบทละครโศกนาฏกรรมรวมถึงบทละครที่เรียกกันว่า "problem plays" (บทละครกังขา : กล่าวคือไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นละครตลกหรือละครเศร้า อาจเรียกว่าเป็น "ตลกร้าย") ได้แก่ Measure for Measure, ทรอยลัสกับเครสสิดา, และ All's Well That Ends Well[25][26] นักวิจารณ์หลายคนเห็นว่า ละครโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์เป็นตัวแสดงถึงศิลปะอันสูงสุดในตัวเขา วีรบุรุษ แฮมเล็ต เป็นตัวละครของเชกสเปียร์ที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะบทรำพันของตัวละครที่โด่งดังมาก คือ "To be or not to be; that is the question."[25] แฮมเล็ตเป็นตัวละครที่มีปัญหาภายในใจมาก และความลังเลของเขาเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ทว่าตัวละครเอกในโศกนาฏกรรมเรื่องอื่นที่ตามมา คือ Othello และ King Lear กลับได้รับผลร้ายจากความรีบเร่งด่วนตัดสิน[25] โครงเรื่องโศกของเชกสเปียร์มักเกิดเหตุการณ์ที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเกิดขึ้น อันนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำลายชีวิตของตัวละครเอกกับคนรัก นักวิจารณ์คนหนึ่งคือ แฟรงค์ เคอร์โมด (Frank Kermode) กล่าวว่า "บทละครไม่เปิดโอกาสให้ตัวละครหรือผู้ชมสามารถหลุดพ้นจากความโหดร้ายได้เลย"[25][7] ในบทละครเรื่อง แมคเบธ ซึ่งเป็นบทละครที่สั้นที่สุดของเชกสเปียร์ ความทะเยอทะยานไม่รู้จบยั่วให้แมคเบธกับภริยา คือเลดี้แมคเบธ ปลงพระชนม์กษัตริย์ผู้ชอบธรรมและชิงบัลลังก์มา ความผิดนี้ทำลายคนทั้งสองในเวลาต่อมา เชกสเปียร์ได้ประพันธ์บทกวีนิพนธ์อันไพเราะลงในงานบทละครโศกชิ้นสำคัญในช่วงหลัง ๆ คือ Antony and Cleopatra กับ Coriolanus ซึ่งถือว่าเป็นบทกวีที่ดีที่สุด ที.เอส.อีเลียต กวีและนักวิจารณ์ ยังยกย่องว่าเป็นบทละครโศกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเชกสเปียร์อีกด้วย[7][27]

ยุคสุดท้ายของผลงานของเชกสเปียร์หวนกลับไปสู่บทละครโรมานซ์หรือตลกโศกอีกครั้ง โดยมีบทละครสามเรื่องเป็นเรื่องเอกคือ Cymbeline, The Winter's Tale และ The Tempest นอกจากนี้ยังมีงานอื่นอีกเช่น Pericles, Prince of Tyre บทละครทั้งสี่เรื่องนี้มีบรรยากาศของเรื่องค่อนข้างเศร้ากว่าบทละครตลกอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษ 1590 แต่ก็จบลงด้วยความปรองดองและการให้อภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้เกิดจากการที่เชกสเปียร์มีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น แต่ก็อาจเกิดจากความนิยมในการชมละครที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ด้วยเช่นกัน ยังมีผลงานของเชกสเปียร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันที่เชื่อว่าประพันธ์ขึ้นในยุคนี้อีกคือเรื่อง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และ The Two Noble Kinsmen โดยคาดว่าเป็นงานเขียนร่วมกับจอห์น เฟล็ตเชอร์

การแสดงละคร

โรงละครโกลบ หลังที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงลอนดอน

ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเชกสเปียร์เขียนบทละครในยุคแรก ๆ ให้แก่คณะละครใด ที่หน้าปกของ Titus Andronicus ฉบับพิมพ์ปี 1594 ระบุว่าบทละครถูกนำไปแสดงโดยคณะละครเร่ถึง 3 คณะ[28] หลังจากเหตุการณ์โรคระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1592-3 บทละครของเขาก็นำไปแสดงในคณะละครของเขาเองที่โรงละคร The Theatre และ The Curtain ในชอร์ดิทช์ ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเทมส์[28] ชาวลอนดอนแห่กันไปที่นั่นเพื่อชมละครตอนแรกของเรื่อง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 เลโอนาร์ด ดิกก์ส บันทึกไว้ว่า "แทบจะหาห้องไม่ได้"[29] เมื่อชาวคณะละครมีปัญหากับเจ้าของที่ดิน พวกเขาก็รื้อโรงละครลงแล้วเอาไม้ไปสร้างโรงละครแห่งใหม่ชื่อ "โรงละครโกลบ" ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์ที่เซาธ์วาร์ค เป็นโรงละครแห่งแรกที่นักแสดงสร้างขึ้นเพื่อนักแสดงเอง[30] โรงละครใหม่เปิดในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1599 โดยแสดงเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ เป็นเรื่องแรก บทละครที่เชกสเปียร์เขียนขึ้นหลังปี 1599 ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับโรงละครแห่งนี้ รวมถึงเรื่อง แฮมเล็ต โอเธลโล และ King Lear[31]

หลังจากคณะละคร Lord Chamberlain's Men เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น King's Men ในปี 1603 พวกเขาก็เริ่มได้เข้าเฝ้าถวายรับใช้แด่กษัตริย์องค์ใหม่ คือ พระเจ้าเจมส์ แม้ประวัติการแสดงค่อนข้างจะขาดตอนไม่ต่อเนื่อง แต่คณะละครก็ได้ใช้บทละครของเชกสเปียร์แสดงต่อหน้าพระที่นั่งถึง 7 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 ถึง 31 ตุลาคม ค.ศ. 1605 รวมถึงเรื่อง เวนิสวาณิช ที่ได้แสดง 2 ครั้ง[28] หลังจากปี 1608 พวกเขาแสดงที่โรงละครในร่ม Blackfriars ในระหว่างฤดูหนาว และแสดงที่โกลบในช่วงฤดูร้อน[30] ฉากของโรงละครในร่มเปิดโอกาสให้เชกสเปียร์ได้ทดลองใช้อุปกรณ์ประกอบฉากแบบแปลกใหม่ เช่นในเรื่อง Cymbeline ฉากการโจมตีของเทพจูปิเตอร์ "ในท่ามกลางเสียงฟ้าร้องแสงฟ้าผ่า ประทับอยู่เหนืออินทรี ทรงขว้างค้อนสายฟ้า เหล่าปีศาจต่างทรุดลงไป"[7][32]

ในบรรดานักแสดงในคณะละครของเชกสเปียร์ มีนักแสดงผู้มีชื่อเสียงเช่น ริชาร์ด เบอร์บาจ, วิลเลียม เคมป์, เฮนรี่ คอนเดล และ จอห์น เฮมมิ่งส์ เบอร์บาจได้แสดงเป็นตัวละครเอกในบทละครยุคแรก ๆ ของเชกสเปียร์หลายเรื่อง รวมถึง ริชาร์ดที่ 3 แฮมเล็ต โอเธลโล และ King Lear[33] นักแสดงตลกผู้โด่งดัง วิล เคมป์ แสดงเป็นปีเตอร์คนรับใช้ในเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต เป็น Dogberry ในเรื่อง Much Ado About Nothing[6] และบทอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มิถุนายน 1613 มีปืนใหญ่ยิงถูกหลังคาของโรงละครโกลบ ทำให้เกิดไฟไหม้ทลายโรงละครลง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด[28]

ต้นฉบับงานเขียน

ภาพปก First Folio รวมงานเขียนของเชกสเปียร์ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1623

ปี ค.ศ. 1623 เพื่อนของเชกสเปียร์สองคนในคณะละคร King's Men คือ จอห์น เฮมมิ่งส์และเฮนรี่ คอนเดล ได้จัดพิมพ์หนังสือ First Folio เป็นการรวมงานเขียนบทละครต่าง ๆ ของเชกสเปียร์เป็นครั้งแรก เป็นหนังสือขนาดใหญ่ราว 15 นิ้ว (เรียกว่า folio) ประกอบด้วยเนื้อเรื่องบทละคร 36 เรื่อง ในจำนวนนี้มี 18 เรื่องเป็นบทละครที่เพิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก[28] โดยที่เนื้อเรื่องบางส่วนเคยเผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้วในรูปแบบหนังสือขนาดเล็ก (เรียกว่า quarto) ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าเชกสเปียร์เห็นชอบกับการตีพิมพ์คราวนี้ บางครั้ง "First Folio" จึงได้ชื่อว่าเป็นงานที่ "ขโมยมาและลักลอบตีพิมพ์"[34] อัลเฟรด พอลลาร์ด เรียกบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ว่า "bad quarto" (หมายถึงหนังสือที่บิดเบือน) เนื่องจากเนื้อหาจำนวนหนึ่งถูกดัดแปลง ถ่ายความ หรือบิดเบือนไป อันเนื่องจากการเขียนบทประพันธ์ขึ้นใหม่จากความทรงจำ[34] บทละครอื่น ๆ ของเชกสเปียร์ยังปรากฏเหลือรอดมาอยู่หลายชุด และแต่ละชุดก็มีความแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งอาจเกิดจากการคัดลอกหรือความผิดพลาดจากการพิมพ์ จากการบันทึกย่อของนักแสดง จากบันทึกของผู้ชม หรือบ้างก็จากกระดาษร่างของเชกสเปียร์เอง[35] บทละครบางเรื่องเช่น แฮมเล็ต ทรอยลัสกับเครสสิดา หรือ โอเธลโล ได้รับการดัดแปลงบทจากเชกสเปียร์เองหลายครั้ง สำหรับเรื่อง King Lear เนื้อหาที่ปรากฏในฉบับ folio กับฉบับ quarto ในปี 1608 มีความแตกต่างกันมากจนกระทั่งทางออกซฟอร์ดต้องตีพิมพ์ใน The Oxford Shakespeare ทั้งสองแบบ เพราะไม่สามารถนำสองเวอร์ชันนี้มารวมเข้าด้วยกันได้โดยไม่ทำให้เกิดความสับสน[28]

ใกล้เคียง

วิลเลียม เชกสเปียร์ วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน วิลเลิม เดอ โกนิง วิลเลียม รีกัล วิลเลียม วอลเลซ วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ วิลเลียม ทอมสัน บารอนเคลวินที่ 1 วิลเลียม ฟอกเนอร์ วิลเลียม สแตนดิช โนลส์ วิลเลียม ชอกลีย์

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิลเลียม_เชกสเปียร์ http://www.bartleby.com/100/146.html http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3709/i... http://shakespeare.palomar.edu/rowe.htm http://www.william-shakespeare.info/william-shakes... http://www.americanshakespearecenter.org/ http://www.nycgovparks.org/sub_your_park/historica... http://www.opensourceshakespeare.org/ http://worldcat.org/oclc/1935264 http://worldcat.org/oclc/2364570 http://worldcat.org/oclc/336379