ลักษณะการประพันธ์ ของ วิลเลียม_เชกสเปียร์

ลักษณะการประพันธ์บทละครยุคแรก ๆ ของเชกสเปียร์เป็นไปตามสมัยนิยมในยุคของเขา โดยใช้ถ้อยคำภาษาที่มิได้ส่งออกมาจากภาวะในใจของตัวละครหรือตามบทบาทอันแท้จริง[39] คำพรรณนาในบทกวีก็เต็มไปด้วยอุปมาอุปไมยอันเพราะพริ้ง ภาษาที่ใช้เป็นลักษณะของสุนทรพจน์อันไพเราะมากเสียกว่าจะเป็นบทพูดจาสนทนากันตามจริง

แต่ต่อมาไม่นาน เชกสเปียร์เริ่มปรับปรุงวิถีทางดั้งเดิมเหล่านั้นเสียใหม่ตามจุดประสงค์ส่วนตัว การรำพึงรำพันกับตัวเองใน ริชาร์ดที่ 3 มีพื้นฐานมาจากวิธีการบรรยายจิตสำนึกของตัวละครในละครยุคกลาง ในขณะเดียวกันก็มีการแสดงบุคลิกตัวละครอย่างชัดแจ้งในระหว่างการรำพันนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดขึ้นทันทีทันใดในบทละครเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เชกสเปียร์ค่อย ๆ ผสมผสานวิธีการทั้งสองนี้เข้าด้วยกันไปเรื่อย ๆ ในระหว่างการทำงาน ตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นจะได้แก่บทละครเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต[40] ช่วงกลางทศวรรษ 1590 ระหว่างที่เขาประพันธ์เรื่อง โรมิโอกับจูเลียต, ริชาร์ดที่ 3 และ ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน เชกสเปียร์เริ่มแต่งบทกวีที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เขาค่อย ๆ ปรับระดับการอุปมาและการพรรณนาให้เหมาะสมกับลักษณะของตัวละครและเนื้อเรื่องของเขา

ฉันทลักษณ์มาตรฐานสำหรับบทกวีของเชกสเปียร์คือ blank verse ประพันธ์ด้วยมาตราแบบ iambic pentameter หมายความว่าบทกวีของเขาไม่ค่อยมีเสียงสัมผัส และมี 10 พยางค์ต่อ 1 บรรทัด ออกเสียงหนักที่พยางค์คู่ ฉันทลักษณ์ในบทประพันธ์ยุคแรกก็ยังมีความแตกต่างกับบทประพันธ์ในยุคหลังของเขาอยู่มาก โดยทั่วไปยังคงความงดงาม แต่รูปประโยคมักจะเริ่มต้น หยุด และจบเนื้อหาลงภายในบรรทัด เป็นความราบเรียบจนอาจทำให้น่าเบื่อหน่าย[41] ครั้นเมื่อเชกสเปียร์เริ่มชำนาญมากขึ้น เขาก็เริ่มใส่อุปสรรคลงไปในบทกวี ทำให้มีการชะงัก หยุด หรือมีระดับการลื่นไหลของคำแตกต่างกัน เทคนิคนี้ทำให้เกิดพลังชนิดใหม่และทำให้บทกวีที่ใส่ในบทละครมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่นที่ปรากฏใน จูเลียส ซีซาร์ และ แฮมเล็ต[42]

หลังจากเรื่อง แฮมเล็ต เชกสเปียร์ยังปรับรูปแบบการประพันธ์บทกวีของเขาต่อไปอีก โดยเฉพาะการแสดงความรู้สึกสื่อถึงอารมณ์ซึ่งปรากฏในบทละครโศกในยุคหลัง ๆ ในช่วงปลายของชีวิตการทำงานของเขา เชกสเปียร์พัฒนาเทคนิคการประพันธ์หลายอย่างให้ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ต่าง ๆ กันได้ เช่น การส่งเนื้อความจากประโยคหนึ่งต่อเนื่องไปอีกประโยคหนึ่ง (enjambment) การใส่จังหวะเว้นช่วงหรือจังหวะหยุดแบบแปลก ๆ รวมถึงโครงสร้างและความยาวประโยคที่แตกต่างกันหลาย ๆ แบบ ผู้ฟังถูกท้าทายให้จับใจความและความรู้สึกของตัวละครให้ได้[43] บทละครโรมานซ์ในยุคหลังที่มีโครงเรื่องพลิกผันชวนประหลาดใจ ส่งแรงบันดาลใจให้กับแนวทางประพันธ์บทกวีในช่วงสุดท้าย โดยมีประโยคสั้น-ยาว รับส่งล้อความกัน มีการใช้วลีจำนวนมาก และสลับตำแหน่งประธาน-กรรม ของประโยค เป็นการสร้างสรรค์ผลกระทบใหม่โดยธรรมชาติ[43]

อัจฉริยะในทางกวีของเชกสเปียร์มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสัญชาตญานการทำละคร[44] โครงเรื่องละครของเชกสเปียร์ได้รับอิทธิพลจาก เปตราก และ โฮลินเชด เช่นเดียวกับนักเขียนบทละครคนอื่น ๆ แต่เขาปรับปรุงโครงเรื่องเสียใหม่ สร้างศูนย์กลางความสนใจขึ้นหลาย ๆ จุดและแสดงการบรรยายด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ชมมากเท่าที่จะทำได้ ยิ่งเชกสเปียร์มีความชำนาญมากขึ้นเท่าใด เขาก็สามารถสร้างตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้น มีแรงจูงใจอันหลากหลายมากขึ้น และมีวิธีการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ดี เชกสเปียร์ยังคงรักษารูปแบบของงานในยุคต้นของเขาเอาไว้อยู่บ้าง แม้ในงานบทละครโรมานซ์ช่วงหลังของเขา ก็ยังมีการใช้รูปแบบของบทอันพริ้งเพรา เพื่อรักษามนต์เสน่ห์ของมายาแห่งการละครเอาไว้[43][45]

ใกล้เคียง

วิลเลียม เชกสเปียร์ วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน วิลเลิม เดอ โกนิง วิลเลียม รีกัล วิลเลียม วอลเลซ วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ วิลเลียม ทอมสัน บารอนเคลวินที่ 1 วิลเลียม ฟอกเนอร์ วิลเลียม สแตนดิช โนลส์ วิลเลียม ชอกลีย์

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิลเลียม_เชกสเปียร์ http://www.bartleby.com/100/146.html http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3709/i... http://shakespeare.palomar.edu/rowe.htm http://www.william-shakespeare.info/william-shakes... http://www.americanshakespearecenter.org/ http://www.nycgovparks.org/sub_your_park/historica... http://www.opensourceshakespeare.org/ http://worldcat.org/oclc/1935264 http://worldcat.org/oclc/2364570 http://worldcat.org/oclc/336379