ประวัติ ของ ศาสนาในประเทศเกาหลีใต้

ก่อน พ.ศ. 2488

พระศรีอริยเมตไตรย

เดิมชาวเกาหลีนับถือศาสนาพื้นเมืองคือลัทธิมูหรือชินโด ต่อมารัฐโคกูรยอรับศาสนาพุทธจากรัฐฉินเมื่อ พ.ศ. 915 และพัฒนาจนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ในช่วงเวลานั้นคาบสมุทรเกาหลีแบ่งออกเป็นสามอาณาจักร คือ โคกูรยอทางเหนือ แพ็กเจทางตะวันตกเฉียงใต้ และชิลลาทางตะวันออกเฉียงใต้ ศาสนาพุทธแพร่หลายไปยังรัฐชิลลาในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และเพียงระยะเวลาไม่นาน ศาสนาพุทธได้รับการยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติใน พ.ศ. 1095[22] ศาสนาพุทธเป็นที่นิยมมากในชิลลาและแพร่หลายไปยังรัฐแพ็กเจ (รัฐทั้งสองตั้งอยู่ในเขตประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน) ขณะที่รัฐโคกูรยอยังนิยมนับถือศาสนาพื้นเมืองอยู่อย่างเหนียวแน่น กระทั่ง พ.ศ. 1461 มีการรวบรวมรัฐทั้งสามก่อตั้งเป็นรัฐโครยอ ศาสนาพุทธก็ยิ่งโดดเด่นและพระสงฆ์เริ่มมีอำนาจทางการเมือง[23]

เมื่อถึงยุคราชวงศ์โชซ็อนเรืองอำนาจช่วงปลายศตวรรษที่ 14 พวกเขานับถือลัทธิขงจื๊อใหม่อย่างเคร่งครัด จึงมีการลดอำนาจและปราบปรามทั้งศาสนาพุทธ[24][25] และลัทธิชินโด[6] อารามในพุทธศาสนาหลายแห่งถูกทำลาย จากที่เคยมีอยู่หลายร้อยแห่ง หลงเหลืออารามเพียงสามสิบหกแห่ง ศาสนาพุทธถูกกำจัดออกจากตัวเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ ภิกษุและภิกษุณีล้วนถูกกีดกันและผลักดันไปยังพื้นที่ภูเขาอันห่างไกล[25] นโยบายกีดกันนี้กินเวลาจนถึงศตวรรษที่ 19[26]

ปลายศตวรรษที่ 19 โชซ็อนมีสถานะทางการเมืองและวัฒนธรรมย่ำแย่[27] กลุ่มปัญญาชนจึงมองหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อกอบกู้วิกฤติชาติ[27] ในช่วงเวลานี้พวกเขาได้ติดต่อมิชชันนารีตะวันตกให้ช่วยเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ชาวเกาหลี[27] เดิมเกาหลีมีชุมชนชาวคริสต์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และ พ.ศ. 2423 รัฐบาลอนุญาตให้มิชชันนารีจำนวนมากเผยแผ่ศาสนาในประเทศอย่างเสรี[28] มิชชันนารีเหล่านี้ก่อตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และโรงพิมพ์[29] เหล่าพระราชวงศ์เองก็ให้การสนับสนุนศาสนาคริสต์เสียด้วย[30]

ในยุคเกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น มีการเชื่อมโยงระหว่างศาสนาคริสต์กับลัทธิชาตินิยมเกาหลีอย่างเหนียวแน่น[8] หลังรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามกลืนลัทธิชินโดรวมเข้ากับชินโตรัฐ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาของชินโต[8] ในเวลาเดียวกันก็เกิดขบวนการศาสนาจำนวนมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดจากความพยายามที่จะปฏิรูปศาสนาพื้นเมืองเกาหลี โดยเฉพาะลัทธิช็อนโดซึ่งเฟื่องฟูมาก[31]

พ.ศ. 2488—ปัจจุบัน

โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในหมู่บ้านประวัติศาสตร์ฮาฮเวและยังดง

หลังการแบ่งคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นสองประเทศ รัฐทางเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนรัฐทางใต้ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ คริสต์ศาสนิกชนเกาหลีกว่าครึ่งจากเกาหลีเหนืออพยพลงเกาหลีใต้[10] ประมาณการผู้อพยพลงใต้นี้อาจมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนผู้ที่นับถือลัทธิช็อนโดยังกระจุกตัวอยู่ในเกาหลีเหนือหลังการแยกดินแดน[31] ขณะที่เกาหลีใต้มีผู้นับถือลัทธิช็อนโดเพียงไม่กี่พันคน

ในรัฐบาลประธานาธิบดีพัก ช็อง-ฮีซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน[32] เกิดขบวนการที่เรียกว่า "ขบวนการโค่นล้มการบูชาเทพเจ้า" มีการห้ามมิให้ผู้คนนับถือศาสนาพื้นเมืองและกวาดล้างศาลเจ้าแบบดั้งเดิมทั้งหมดรวมทั้งศาลขงจื๊อ[33]

จากพลวัตทางสังคม[2] ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและศาสนาคริสต์มีการเติบโตสูง[34] ดังจะพบว่าวัดพุทธจากเดิมมี 2,306 วัด เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มขึ้นเป็น 11,561 วัด ใน พ.ศ. 2540, โบสถ์โปรเตสแตนต์จากเดิม 6,785 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มขึ้นเป็น 58,046 แห่ง ใน พ.ศ. 2540, โบสถ์คาทอลิกจากเดิมมี 313 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2508 เพิ่มขึ้นเป็น 1,366 ใน พ.ศ. 2548, วัดของลัทธิว็อนบุลจากเดิมมี 131 วัด เมื่อ พ.ศ. 2512 เพิ่มขึ้นเป็น 418 ใน พ.ศ. 2540[35] และวัดของลัทธิแทซ็อนจินรีโฮจากเดิมมี 700 วัด เมื่อ พ.ศ. 2526 เพิ่มขึ้นเป็น 1,600 วัด ใน พ.ศ. 2537[36] จากสถิติสำมะโนครัวประชากรพบว่าประชาชนระบุว่าเป็นพุทธศาสนิกชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มเป็นร้อยละ 22.8 เมื่อ พ.ศ. 2548[2] และศาสนาคริสต์เติบโตขึ้นจากร้อยละ 5 เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มเป็นร้อยละ 29.2 เมื่อ พ.ศ. 2548[2] แต่หลังจากปี พ.ศ. 2548 จนถึง 2558 เป็นต้นมาพบว่าศาสนิกชนของทั้งสองศาสนาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่ลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือเพียงร้อยละ 15.5 และผู้นับถือศาสนาคริสต์ลดลงเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 27.6[37]

โปรเตสแตนต์โจมตีศาสนาดั้งเดิม

ช่วงยุค ค.ศ. 1980 จนถึง 1990 มีศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนต์ที่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพุทธและศาสนาพื้นเมืองของเกาหลี มีการลอบวางเพลิงวัด ตัดเศียรพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ ใช้สีแดงทาเป็นรูปไม้กางเขนลงพระพุทธรูปหรือรูปเคารพในศาสนาอื่น ๆ[38] การกระทำบางอย่างได้รับการสนับสนุนจากศิษยาภิบาลของโบสถ์[38]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศาสนาในประเทศเกาหลีใต้ http://news.chosun.com/site/data/html_dir/2016/12/... http://www.thearda.com/ http://www.thearda.com/internationalData/countries... http://www.wingia.com/web/files/news/14/file/14.pd... http://afe.easia.columbia.edu/tps/300ce_ko.htm#bud... http://image.kmib.co.kr/online_image/2016/1219/201... http://kostat.go.kr/portal/eng/pressReleases/8/7/i... http://kosis.kr/statHtml/statHtml.do?orgId=101&tbl... http://kosis.kr/statHtml/statHtml.do?orgId=101&tbl... http://kosis.kr/statHtml/statHtml.do?orgId=101&tbl...