ผลที่ตามมา ของ สนธิสัญญาเบาว์ริง

ฝ่ายอังกฤษประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยรัฐบาลสยามยอมให้อังกฤษเข้ามาตั้งกงสุล มีอำนาจพิจารณาคดีที่คนอังกฤษมีคดีความกัน และร่วมพิจารณาคดีที่คนไทยกับอังกฤษมีคดีความกัน ข้าว เกลือและปลาไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป[12] นอกจากนี้ ยังเป็นการรับเอาวิทยาการตะวันตกสมัยใหม่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศยอมรับมากขึ้น[21]

การทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับประเทศอื่น

เมื่อสยามได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษแล้ว ก็ต้องการจะทำหนังสือสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศอื่นต่อไป เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้า และเป็นโอกาสให้ของในสยามมีราคาสูงขึ้น และสินค้าต่างประเทศมีราคาต่ำ[19] ในการณ์นี้ รัฐบาลสยามจึงแต่งตั้งให้จอห์น เบาว์ริงเป็นพระยาสยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ คอยทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ แทน โดยประเทศที่ทำหนังสือสัญญากับไทยในเวลาต่อมา มีดังนี้

ประเทศที่ทำสัญญาโดยส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร ได้แก่[19]

ประเทศวันที่ (นับแบบเก่า)
สหรัฐอเมริกา29 พฤษภาคม พ.ศ. 2399
ฝรั่งเศส15 สิงหาคม พ.ศ. 2399
เดนมาร์ก29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401
โปรตุเกส10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401
แฮนซีแอติกรีปับลิก25 ตุลาคม พ.ศ. 2403
เนเธอร์แลนด์29 ธันวาคม พ.ศ. 2403
ปรัสเซีย7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404

และที่ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ ได้แก่[19]

ประเทศวันที่ (นับแบบเก่า)
นอร์เวย์18 พฤษภาคม พ.ศ. 2401
เบลเยียม29 สิงหาคม พ.ศ. 2401
อิตาลี29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401
โปรตุเกส3 ตุลาคม พ.ศ. 2401
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี17 พฤษภาคม พ.ศ. 2402

การเลิกค้าขายกับจีน

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ได้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนตามประเพณี แต่ตอนคณะทูตกำลังเดินทางกลับจากปักกิ่งได้ถูกโจรผู้ร้ายปล้นเอาทรัพย์สินไปกลางทาง "ตั้งแต่นั้นมา ที่กรุงก็มิได้แต่งทูตออกไปจิ้มก้องจนทุกวันนี้"[22] จนถึง พ.ศ. 2403 ก็ปรากฏหลักฐานว่าสยามมิได้แต่งสำเภาไปค้าขายกับจีนอีก

หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่าการที่สยามส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจีนนั้นอาจทำให้ฝรั่งสิ้นความนับถือในเอกราชของสยาม จึงทรงได้ยกเลิกประเพณีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจีนอย่างเด็ดขาด นับเป็นการตัดไมตรีที่มีมากับจีนตั้งแต่สมัยโบราณที่พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน ๆ ทรงพยายามรักษามาโดยตลอด[23]

การทำเงินแป

เพียงปีเดียวหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริง มีเรือต่างประเทศเข้ามาค้าขายยังกรุงเทพมหานครเป็น 103 ลำ และแต่งเรือออกไปค้าขายกับต่างประเทศถึง 37 ลำ[24] ทำให้มีเงินเหรียญแพร่สะพัดในสยามเป็นจำนวนมาก แต่ราษฎรสยามที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครไม่มีใครรับ เพราะไม่เคยใช้มาก่อน ต้องให้ช่างในคลังมหาสมบัติทำเงินตรา แม้จะทำไปได้ถึงกว่า 250,000 เหรียญแล้วก็ยังใช้ไม่ทันกาล[24] พ่อค้าต่างชาติก็ขอให้ทางการประกาศให้ใช้เงินเหรียญ รัฐบาลจึงให้เงินตราสิบชั่งเป็นเงินเหรียญ 480 เหรียญ[25] แต่ครั้นประกาศให้ราษฎรรับเงินเหรียญไปใช้แทนเงินพดด้วง ราษฎรก็ไม่รับไป ต้องออกพระราชบัญญัติให้รับเงินเหรียญนอกไว้

แต่เมื่อเงินเหรียญใช้กันแพร่หลาย ราษฎรก็นำเงินบาทไปซุกซ่อนไว้ และจ่ายภาษีด้วยเงินเหรียญ[25] ทำให้เงินบาทขาดแคลน ในปี พ.ศ. 2399 และ พ.ศ. 2400 เกิดความติดขัดด้านการค้าขาย ครั้นพอสยามจะส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศก็ให้ทูตซื้อเครื่องจักรทำเงินเหรียญกลับมาด้วย พอมาติดตั้งที่กรุงเทพมหานครได้แล้ว เรียกเงินตราแบบเงินเหรียญว่าเงินแป พอผลิตออกมาได้แล้วก็พบว่าราษฎรนิยมใช้กัน ปัญหาด้านการค้าจึงหมดไป[26]

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

"เซอร์ยอน เบาริ่งกล่าวถึงความสำเร็จในสนธิสัญญาฯ ว่า จะก่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่การคลังของไทย เพราะเอกสิทธิ์และสิทธิผูกขาดการหาผลประโยชน์ ซึ่งเดิมตกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน ถูกเพิกถอนเสียมากมายหลายอย่าง เหตุการณ์ที่ปรากฏต่อมาภายหลังเป็นพยานอย่างดี ว่าความคิดเห็นของเขามีส่วนถูกต้องมากทีเดียว"
—ชัย เรืองศิลป์[27]

การแลกผูกขาดการค้าของรัฐบาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ราษฎรสามารถซื้อขายสินค้าได้โดยอิสระ รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามีค่า เช่น ไม้ฝาง ไม้กฤษณา หรืองาช้างอีก เพราะรัฐบาลจะขาดทุน[27]

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้แต่งพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงความมั่งคั่งว่า

"ลูกค้านานาประเทศเข้ามาค้าขาซื้อเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๓๐๐ ลำ บางปีก็ถึง ๕๐๐ ลำ ราษฎรก็ได้ขายเข้าไปแก่ลูกค้านานาประเทศ เป็นจำนวนเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๘๐๐๐๐ เกวียน [...] ราษฎรก็ได้มั่งมีเงินทองขึ้นทุกแห่งทุกตำบล จนชั้นแต่ลาวเป็นคนเกียจคร้านไม่ใคร่จะทำไร่ไถนา [...] ทุกวันนี้มีเงินซื้อกิน ไม่เหมือนแต่ก่อน"[28]

ข้าวได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย เรือต่างประเทศก็จะเข้ามาบรรทุกข้าวและสินค้าอื่นไปขายต่อยังจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เงินตราต่างประเทศเข้าสู่ราชสำนักเป็นจำนวนมาก ราษฎรทั่วบ้านทั่วเมืองก็มีเงินตราหมุนเวียนอยู่ในมืออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน[29] และเมื่อเลิกห้ามไม่ให้ส่งข้าวขายยังต่างประเทศ ก็ทำให้มีการทำนาแพร่หลายกว่าแต่ก่อน มีที่นาใหม่เกิดขึ้นทุกปี พ่อค้าต่างชาติก็ขนข้าวออกไปปีละหลายหมื่นเกวียน "ราษฎรก็กดราคาเข้าให้แพงอยู่เป็นนิตย์ ด้วยคิดจะขายเอาเงินให้มาก"[30] ทั้งนี้ ราคาข้าวในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ที่เกวียนละ 16 ถึง 20 บาท แพงกว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งอยู่ที่เกวียนละ 3 ถึง 5 บาท[31]

การที่ราษฎรมีเงินมากกว่าแต่ก่อนก็ทำให้ชาวนามีโอกาสไถ่ลูกเมียที่ขายให้แก่ผู้อื่น ทั้งราคาทาสก็แพงขึ้นกว่าสมัยก่อนด้วย โดยใน พ.ศ. 2412 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ฝรั่งผู้หนึ่งซื้อทาสเป็นเงิน 350 บาท ผัวเป็นคนขาย[31]

ฝรั่งที่เข้ามาจ้างลูกจ้างคนไทยต่างก็ให้ค่าจ้างเป็นรายเดือนและโบนัส คิดเป็นมูลค่าสูงกว่าข้าราชการไทยเสียมาก[32] เพราะได้รับพระราชทานเงินเบี้ยหวัดประจำปีอย่างเดียว รัฐบาลจึงได้เพิ่มเงินเบี้ยหวัดและค่าแรงแก่ข้าราชการและคนงานมากขึ้น จนเพิ่มเป็นหมื่นชั่งเศษในปลายรัชกาลที่ 4[33] ส่วนพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้างที่ออกในรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างไว้ดังนี้: ถ้ากินอาหารของหลวง วันละ 16 อัฐ ถ้านำอาหารมาเอง วันละ 32 อัฐ (ยกเว้นมณฑลนครศรีธรรมราชให้ 24 อัฐ) ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มค้าแรงจากสมัยก่อนทั้งหมด ตามแนวโน้มราคาของกินของใช้[33]

ด้านพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับแจ้งจากทางกงสุลว่าฝรั่งในกรุงไม่มีหนทางขี่รถขี่ม้าไปเที่ยว ทรงพระราชดำริว่า การตัดถนนจะเป็นการทำให้บ้านเมืองงดงามขึ้น จึงทรงให้สร้างถนน ได้แก่ ถนนหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง และถนนสีลม แต่ละเส้นกว้าง 5 ศอก กับคลองถนนตรงและคลองสีลม[34] นอกจากนี้ยังมีการสร้างตึกแถวและสะพานเหล็กอีกด้วย

ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ฝรั่งต่างก็เข้ามาตั้งโรงงานในสยามเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาลทราย อู่ต่อเรือ โรงเลื่อยไม้ เป็นต้น การที่สยามรับเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้หลายอย่างนี้ทำให้ฝรั่งเรียกขานว่าเป็น "เมืองไทยยุคใหม่"[35]

ผลของสนธิสัญญายังเป็นการให้สิทธิเสรีภาพในการถือครองที่ดินแก่ทั้งราษฎรไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งแต่ก่อนราษฎรไม่ค่อยกล้าให้ชาวต่างประเทศถือครองที่ดินเพราะกลัวในหลวงจะกริ้ว[36] รัฐบาลไทยอยากให้ฝรั่งเข้ามาตั้งโรงงานสมัยใหม่ จำต้องยอมผ่อนปรนเรื่องการถือครองที่ดินให้แก่ฝรั่ง แต่ก็ไม่ใช่จะถือครองได้ทุกที่ รัฐบาลแบ่งที่ดินออกเป็นสามเขต คือ ในพระนครและห่างกำแพงพระนครออกไปสองร้อยเส้นทุกทิศ ยอมให้เช่าแต่ไม่ยอมให้ซื้อ ถ้าจะซื้อต้องเช่าครบ 10 ปีก่อน หรือจะต้องได้รับอนุญาตจากเสนาบดี เขตที่ล่วงออกไป เจ้าของที่และบ้านมีสิทธิให้เช่าหรือขายกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่มีข้อแม้ แต่ล่วงจากเขตนี้ไปอีก ห้ามมิให้ฝรั่งเช่าหรือซื้อโดยเด็ดขาด[37] เมื่อราษฎรได้รับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ราษฎรก็มีทางทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง คือ การจำนองที่ดินเพื่อกู้เงิน หรือขายฝากขายขาดที่ดินของตนได้[38]

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าฝรั่งต้องการดีบุกมาก เนื่องจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองกระ เมืองระนองและเมืองภูเก็ต ซึ่งเคยทำงานขุดแร่ดีบุกมาก่อน ก็ระดมไพร่มาขุดแร่ดีบุกอย่างเต็มที่ จึงผลิตดีบุกได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน รัฐบาลก็พลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย[39]

ใน พ.ศ. 2410 รัฐบาลมีรายได้ปีละ 3,200,000 บาท ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่ารายได้ที่ควรจะเป็นอยู่มาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและการคลัง เพื่อมิให้เงินแผ่นดินรั่วไหลไปสู่มือข้าราชการ[40]

ใกล้เคียง

สนธิสัญญาแวร์ซาย สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 สนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1783) สนธิสัญญาทรียานง สนธิสัญญา สนธิสัญญาอึลซา