สาระสำคัญ ของ สนธิสัญญาเบาว์ริง

สรุปสาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง มีดังนี้

  1. คนในบังคับอังกฤษจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว
  2. คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ (สองร้อยเส้น) แต่ไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้ คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล
  3. ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน
    1. อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
    2. สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก
  4. พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง
  5. รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ[18]

หนังสือพ่วงท้าย

นอกจากหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีแล้ว ยังมีหนังสือพ่วงท้ายอีกสองฉบับ โดยเป็นข้อกำหนดที่พ่อค้าอังกฤษจะต้องปฏิบัติ กับพิกัดภาษี โดยแบ่งสินค้าออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่เสียภาษีเฉพาะเมื่อบรรทุกลงเรือ และประเภทที่เสียเฉพาะภาษีชั้นใน โดยตัวอย่างพิกัดภาษี เช่น[12]

สินค้าที่เสียเฉพาะบรรทุกลงเรือ
สินค้าพิกัดภาษี
งาช้างหาบละ 10 บาท
นอแรดหาบละ 50 บาท
รงหาบละ 6 บาท
ข้าวสารเกวียนละ 4 บาท
(ต่อมา ลดเหลือเกวียนละ 2 บาท
คำแก้ไขหนังสือสัญญา พฤษภาคม พ.ศ. 2399)
ปีกนกกระเต็นร้อยละ 6 บาท
ไม้ฝางหาบละ 2 สลึงเฟื้อง
ปลาแห้งหาบละ 6 สลึง
กำยานหาบละ 4 บาท

สินค้าที่เสียแต่ภาษีชั้นใน
สินค้าพิกัดภาษี
น้ำตาลทรายขาวหาบละ 2 สลึง
น้ำตาลทรายแดงหาบละ 1 สลึง
เกลือเกวียนละ 6 บาท
งา12 ชัก 1
กุ้งแห้ง12 ชัก 1
ถั่วทุกชนิด12 ชัก 1

ประเด็นด้านการเก็บภาษีขาเข้า

ตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยได้รับเงื่อนไขให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งยังเสียเปรียบกว่าจีนและญี่ปุ่นที่ถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 5 โดยตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น พ.ศ. 2400 อังกฤษยังยอมให้สินค้าบางชนิดเก็บอัตราภาษีขาเข้าสูงกว่าร้อยละ 5 โดยบางชนิดสูงถึงร้อยละ 35 ก็มี[17] ส่วนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับก่อนหน้านั้น ทั้งที่ทำกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ต่างก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องภาษีขาเข้าแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2409 ชาติตะวันตกหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์จึงได้ร่วมกันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเก็บอัตราภาษีขาเข้าส่วนใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 5[17]

ใน พ.ศ. 2398 เจ้าพระยาพระคลังได้ขอดูหนังสือสัญญาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกากับเทาเซนด์ แฮริส ทูตอเมริกันที่เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี แต่แฮริสไม่ต้องการให้เห็น จึงได้บ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้นำหนังสือติดตัวมาด้วย[17] จึงทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ไทยยังเสียเปรียบประเทศเอเชียอื่นที่ถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกัน

เดิมก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยเคยเก็บภาษีขาเข้าจากพ่อค้าฝรั่งถึงร้อยละ 8[19]

การทำข้อไขสัญญา

เมื่อทูตอังกฤษเดินทางนำหนังสือสัญญากลับไปยังรัฐบาลอังกฤษให้ลงหนังสือรับรอง รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าข้อความบางตอนในหนังสือสัญญาคลุมเครือ จึงให้แฮริปากส์ ผู้ถือหนังสือสัญญาแทนเบาว์ริงกลับไปยังลอนดอน มาทำข้อไขสัญญาอีกฉบับหนึ่ง อธิบายความที่ยังคลุมเครืออยู่ ทางรัฐบาลสยามก็ต้องการให้การทำหนังสือสัญญากับอังกฤษเป็นไปด้วยดี ก็ผ่อนปรนตามคำขอของแฮริปากส์ ในส่วนนี้สยามได้อากรสวนผลไม้เพิ่มขึ้น[20]

ใกล้เคียง

สนธิสัญญาแวร์ซาย สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 สนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1783) สนธิสัญญาทรียานง สนธิสัญญา สนธิสัญญาอึลซา