เกี่ยวกับตระกูลกัลยาณมิตร ของ สพรั่ง_กัลยาณมิตร

ต้นตระกูลกัลยาณมิตร คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต) เป็นบุตรของ หลวงพิไชยวารี (มั่ง แซ่อึ้ง) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่จั๋นกัวยิม เมืองเอ้หมึง ประเทศจีน

ขณะนั้น มั่ง แซ่อึ้ง ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี ในฐานะพ่อค้าเรือสำเภา ค้าขายรุ่งเรือง ได้เป็นคุณหลวงในรัชกาลที่ 1 มีบุตร 2 คน คือ เจ้าสัวโต และเจ้าสัวต่วน

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เป็นขุนนางในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะแต่เดิมเมื่อพระองค์ยังไม่ขึ้นครองราชสมบัตินั้น เจ้าสัวโตถือเป็นขุนนางผู้ใกล้ชิด และทำราชการอยู่ในกรมท่า ดูแลการค้าขายเรือสำเภาเป็นที่รุ่งเรือง เป็นที่พอพระทัยเป็นอย่างมาก

และเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงสมุหนายก (ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ) อีกทั้งยังถือเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญรัชกาลที่ 4 ขณะที่ยังผนวชอยู่ขึ้นเถลิงราชสมบัติอีกด้วย

ขณะที่ หลวงเดชนายเวร (ทองอยู่) ทวดของ พล.อ.สพรั่ง มีบทบาทสำคัญในการเจริญราชไมตรีกับประเทศอังกฤษช่วงรัชกาลที่ 4 (ช่วงปี 2400 ) โดยเป็นผู้กำกับเครื่องราชมงคลบรรณาการไปยังประเทศอังกฤษ กับคณะราชทูตสยามชุดนั้นด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 4 มีพระราชหัตถเลขา เกี่ยวกับอาการป่วยของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ พระราชทานแก่นายพิจารณ์สรรพกิจ (ยศขณะนั้น) รวม 10 กว่าฉบับ

ส่วนที่มาของนามสกุล 'กัลยาณมิตร' เกิดจากเมื่อครั้งเจ้าสัวโต เป็นพระยาราชสุภาวดี มีศรัทธาสร้างวัดถวายรัชกาลที่ 3 และด้วยความจงรักภักดี เช่น 'มิตรแท้' ทำให้รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานวัดนามว่า 'วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร' (ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่)

อีกทั้งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าสัวโต เป็น 'เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร' และรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้าสัวรอด เป็น 'เจ้าพระยารัตนบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร' จึงทำให้รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสกับเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย) ว่า

"พวกเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นวงษ์กัลยาณมิตร ทั้งในสร้อยนามเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เจ้าพระยารัตนบดินทร์ และของเจ้าพระยาสุรสีห์เองก็มีกัลยาณมิตรเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว" จึงได้พระราชทานนามสกุลด้วยลายพระหัตถ์เป็นหลักฐาน