พระประวัติ ของ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี_พระวรราชชายา

ต้นพระชนม์ชีพ

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี มีพระนามเดิมว่า ประไพ สุจริตกุล ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 ที่บ้านคลองด่าน อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของปู่คือ พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล)[1] ซึ่งพระยาราชภักดีเป็นน้องชายของ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นพระยาราชภักดี รวมทั้งบุตรหลานจึงมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรีในฐานะราชินิกุลที่ใกล้ชิด[2]

สมเด็จพระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

ประไพเกิดมาเป็นเด็กรูปร่างเล็กบอบบาง อุปนิสัยร่าเริง และมีผู้ทำนายไว้ว่าลักษณะมีบุญ จนพี่น้องรู้กันดีว่า หากจะขออนุญาตไปเที่ยวงาน หรือต้องการของกินของเล่นอย่างใด หากอ้างชื่อคุณประไพ ก็จะได้ดังประสงค์ทุกครั้งไป เมื่อคุณประไพอายุครบแปดขวบจึงได้เข้าไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีตั้งแต่ พ.ศ. 2454—2463 จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ระหว่างศึกษานั้นคุณประไพชอบวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี การฝีมือ และกีฬา[3] คุณประไพชอบการกีฬามากกว่าวิชาการ แต่ก็สอบได้คะแนนดีทุกครั้ง ต่อมาพระยาราชภักดี (โค) ก็ถึงแก่อนิจกรรม บิดาของคุณประไพจึงย้ายไปปลูกบ้านใหม่ที่ประตูน้ำภาษีเจริญ ห่างจากบ้านคลองด่านไม่มากนัก

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีผู้เป็นบิดา ได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อเข้ารับราชการฝ่ายใน คุณประไพสนใจการขับร้องอย่างมาก[3] โดยเป็นต้นเสียงร่วมกับพระสุจริตสุดา เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโขนสมัครเล่น เรื่อง "รามเกียรติ์" ตอนนางลอย[4] นอกจากนี้คุณประไพยังแสดงเป็น "อินทิรา ดุลยวัจน์"[5] นางเอกของพระราชนิพนธ์ละครพูด ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง "เสือเถ้า"[6]

เข้ารับราชการฝ่ายใน

พระองค์ และพระราชสวามี

ในเวลาต่อมาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) มีความประสงค์ที่จะถวายตัวหญิงนักเรียนนอกจากสกุลบุนนาคเป็นฝ่ายในเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ แต่พระสุจริตสุดาหรือคุณเปรื่องพี่สาวของประไพ ได้กราบทูลว่าจะถวายน้อง ๆ ของตนเองแทน[7] ด้วยเหตุนี้พระสุจริตสุดาจึงให้ประไพ ซึ่งเป็นน้องสาวไปถวายการรับใช้บ่อย ๆ ครั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส[8] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณประไพดำรงตำแหน่งพระสนมเอก มีราชทินนามว่า พระอินทราณี[9] พระราชพิธีอภิเษกสมรสมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2465 โปรดฯ ให้ท้าวภัณฑสารานุรักษ์ หัวหน้าคลังฝ่ายในนำเงินไปพระราชทานตามพระราชประเพณีเป็นเงิน 4,000 บาท โดยพระนาม อินทราณี เป็นพระนามหนึ่งของพระชายาของพระอินทร์ และต่อมาได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณขึ้นเป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ และอาศัยร่วมกันในพระราชวังพญาไท หากมีพระราชพิธี พระนางเธอลักษมีลาวัณจะเป็นผู้นำและประทับคู่กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระสุจริตสุดาและพระอินทรานีเดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ[10]

ต่อมาพระอินทราณีตั้งครรภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอินทราณี ขึ้นดำรงพระยศเจ้านายตำแหน่งพระมเหสีพระองค์หนึ่ง[11] ที่ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465[12] โดยนับเป็นสามัญชนท่านแรกที่ได้รับการสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[13] ซึ่งปรากฏอยู่ในคำประกาศสถาปนาว่า

"...อันพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าตามราชประเพณีที่ได้มีมาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีนั้นด้วยแล้ว สมควรที่จะสถาปนาพระอินทราณี ให้มียศเหมือนเจ้าได้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นเป็นพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิ์ศจี..."

พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าอันเป็นตราชั้นสูงสุดสำหรับฝ่ายในแก่พระวรราชชายาเธอในโอกาสนี้ด้วย[14]

ตำแหน่งพระบรมราชินี

ในเวลาต่อมา พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466[15]

ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นายพันโท และแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์และกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์แก่สมเด็จพระบรมราชินี[16] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับพระราชทานพระยศทางทหาร[17] ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จทอดพระเนตรละครพระราชนิพนธ์เรื่องผิดวินัย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นการแสดงถวายของนายทหารกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชินี ทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ[18] และเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงอำนวยพรพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องลิลิต นารายณ์สิบปาง[19]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปดสิบเก้าไร่ ด้านหน้าติดถนนเพชรเกษม ตรงข้ามวัดพระประโทน จังหวัดนครปฐม แก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระราชทานนามที่ดินแห่งนี้ว่า สวนราชฤดี[20] พร้อมกันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักเรือนไม้สองชั้นไว้พร้อมกับมีเครื่องตกแต่งที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชยทรงควบคุมจัดสร้าง เครื่องเรือนชุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงใช้เป็นประจำตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์[21] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงประกอบพระราชพิธีเสด็จขึ้นพระตำหนักในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2467

ตกพระโลหิต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี (พระยศในขณะนั้น)

ในการทรงครรภ์ พระองค์ตกพระโลหิตเสียก่อนที่จะมีพระประสูติกาลถึง 3 ครั้ง เนื่องจากพระองค์ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดไม่ได้หยุดจึงทำให้ตก[22] ทรงตกพระโลหิตครั้งแรกในพ.ศ. 2465[23] ต่อมาได้ทรงพระครรภ์และมีพระประสูติกาลก่อนกำหนดประมาณ 6 เดือนบนพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไทเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เป็นพระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วถึงกับน้ำพระเนตรไหล[24] กระนั้นก็ยังทรงมีพระเมตตาต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนี ทรงอ่านหนังสือพระราชทาน ทรงประคองและดูแลเป็นอย่างดี

และในครั้งนั้นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในขณะยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงมีพระราชหัตเลขามาปลอบสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี มิให้ทรงโศกเศร้าในการตกพระโลหิตครั้งนี้ เพราะอย่างไรเสียในวันหน้า ก็ยังทรงมีโอกาสที่จะทรงพระครรภ์อีก[25] หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าทรงพระครรภ์อีก และก็ตกพระโลหิตอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2468 ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี[26]

ลดพระอิสริยยศ

ต่อมาในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการว่าด้วยการออกพระนาม โดยโปรดให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาแทน เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2468[27] และโปรดฯ ให้เสด็จไปประทับยังพระที่นั่งวิมานเมฆ ภายในพระราชวังดุสิต

สาเหตุที่ทรงลดพระอิสริยยศมีหลายประการ แต่มีปรากฏในพระราชพินัยกรรม เรื่อง การสืบพระราชสันตติวงศ์แลตั้งพระบรมอัษฐิ เป็นพระราชพินัยกรรม ฉบับบันทึกประจำวัน ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2468 ก่อนวันประกาศลดพระอิสริยยศประมาณ 1 สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เหตุผลว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงทำให้พระองค์ไม่สบายพระทัยอยู่เป็นเนืองนิตย์ ในพระราชพินัยกรรมปรากฏข้อความเป็นพระบรมราชโองการความว่า[28]

"...ข้อ ๔ ต่อไปภายหน้าก็คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัษฐิ คือ จะเอาองค์ใดขึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า. ฃ้าพเจ้าขอสั่งเด็ดขาดไว้เสียแต่บัดนี้ , ห้ามมิให้เอาพระอัษฐิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีขึ้นมาตั้งเคียงฃ้าพเจ้าเป็นอันขาด; เพราะตั้งแต่ได้มาเป็นเมียฃ้าพเจ้า ก็ได้บำรุงบำเรอน้ำใจฃ้าพเจ้าเพียง ๑ เดือนเท่านั้น, ต่อแต่นั้นมาเอาแต่ความร้อนใจหรือรำคาญมาสู่ฃ้าพเจ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์..."

เรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงตกพระโลหิตพระกุมารนั้นเป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง เพราะมีบันทึกปรากฏชัดเจนว่าแม้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีทรงแท้งแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทะนุถนอมอย่างดี ถึงกับเสด็จไปรับ และทรงเข็นพระเก้าอี้เข็นที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ประทับมาร่วมเสวยกับพระองค์ทุกวัน[29]

เหตุการณ์ที่เป็นเหตุสำคัญในการลดพระอิสริยยศเห็นจะเป็นเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซ้อมละครเรื่องพระร่วง[30] ครั้งนั้น ในบทบาทการแสดงต้องมีการแตะเนื้อต้องตัวกันระหว่างนายมั่นแสดงโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสาวใช้ของนางจันทร์แสดงโดยคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ภาพนั้นคงไม่สบพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี จึงทรงกระทืบพระบาท และโปรดให้ข้าหลวงของพระองค์ โห่ฮาและใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยุดการซ้อม และเสด็จขึ้นทันที[31] ขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีมีพระชันษาเพียง 21 ปี เป็นธรรมดาที่จะมีพระอาการหึงหวงต่างๆ และหลายครั้งก็ไม่ทรงสามารถเก็บกลั้นพระอารมณ์ได้ เช่น ทรงขอพระบรมราชานุญาตกลับพระนครก่อน ทำให้ต้องตระเตรียมเรือพระที่นั่งอย่างฉุกละหุก และอีกครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้คุณสุวัทนากราบพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระองค์ก็ทรงชักพระบาทหลบและเบือนพระพักตร์ เหตุเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระทัย[31]

พระชนม์ชีพหลังรัชกาลที่ 6

พระสุจริตสุดา (ซ้าย), สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี (กลาง) และท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร (ขวา) ในพ.ศ. 2517

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงย้ายไปประทับยังพระตำหนักสวนนกไม้ ในพระราชวังดุสิต[32] ต่อมาจึงทรงย้ายไปประทับที่บริเวณบ้านของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีพระบิดา เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเสด็จมาประทับเป็นการถาวรแล้ว เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจึงกั้นบริเวณที่ดินว่างเปล่าด้านหลังของบ้านซึ่งเป็นที่กว้างขวางให้เป็นที่ประทับ กับให้สร้างพระตำหนักสไตล์ยุโรปงดงามเป็นพระตำหนักที่ประทับ โดยมีทางเชื่อมต่อกับตึกใหญ่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีอีกด้วย ต่อมาวังแห่งนี้มีชื่อเรียกว่าวังริมคลองภาษีเจริญ[33] หรือวังประตูน้ำ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีได้ประทับอยู่ ณ วังริมคลองภาษีเจริญนี้มาโดยตลอดท่ามกลางพระประยูรญาติอย่างอบอุ่นต่อมาอีกกว่า 40 ปี[34]

ในสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาตลอดพระชนมชีพ[35] โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา เนื่องในวโรกาสฉลองพระชันษาครบ 5 รอบในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2505 และเมื่อพระชันษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ตามลำดับ[35] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์แก่พระราชวงศ์ผู้ใกล้ชิดสนิทสนม ในบางโอกาสเท่านั้น[36]

ประชวร

ครั้นวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีประชวรปวดพระนาภีมาก จึงได้เสด็จเข้ารับการถวายการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้งนั้นแพทย์ได้ถวายพระโอสถแก้ปวดพระนาภีทางหลอดพระโลหิต พระอาการทุเลาลง[37] ระหว่างเวลาที่ทรงรับการถวายการรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น พระอาการประชวรมีแต่ทรงและทรุดลงเรื่อยมา มีพระอาการปวดพระนาภีมากขึ้น คณะแพทย์ต้องถวายพระโอสถแก้ปวดทางหลอดพระโลหิตถี่ขึ้น จนเมื่อมีพระอาการมาก ก็ต้องถวายพระโอสถทุก 3 ชั่วโมง[38]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแจกันดอกไม้ไปเยี่ยมพระอาการประชวร นอกจากนี้ก็มีพระราชวงศ์เสด็จไปทรงเยี่ยม ตลอดจนพระญาติ ข้าราชการ และข้าราชบริพารได้ผลัดเปลี่ยนกันไปเฝ้าและเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา[35] ระหว่างที่ทรงประชวรอยู่นั้น เมื่อทรงทุเลาจากการประชวรก็ทรงมีปฏิสันถารกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนเป็นปกติ ยังทรงพระอนุสรณ์ถึงเรื่องตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หรือธุรกิจส่วนพระองค์ได้เป็นอย่างดี เวลาประชวรมากก็รับสั่งให้ไปตามพระสุจริตสุดา เมื่อมาถึงก็ทรงกรรแสง[37] พระองค์เคยทรงพระปรารภว่ายังไม่อยากสิ้นพระชนม์ ด้วยทรงเป็นห่วงพี่น้องและหลานๆ ซึ่งยังไม่สำเร็จการศึกษา[37]

สิ้นพระชนม์

พระโกศทองน้อย ทรงพระศพสมเด็จฯ ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น

ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพยาบาลเห็นพระอาการหนักมากสิ้นหวังแล้ว เพราะเสวยไม่ใคร่ได้ ต้องถวายน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เวลา 7 โมงเช้า พระอาการประชวรน่าวิตก พยาบาลได้ตามคณะแพทย์มาถวายการรักษา แม้คณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่มีพระอาการพระหทัยวายจึงสิ้นพระชนม์ในเวลา 7.55 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร สิริพระชนมายุ 73 พรรษา 5 เดือน 20 วัน[39]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และทรงรับพระศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2518[40], 50 วัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2519[41] และ 100 วัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2519[42] ตามลำดับ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519[43] พระอัฐิเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระอังคารเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลาสุจริตกุล วัดราชาธิวาส[44]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี_พระวรราชชายา http://chechadnews.blogspot.com/2012/12/blog-post.... http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3... http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://variety.teenee.com/world/77434.html http://www.khunnamob.info/board/print.php?Category... http://www.phyathaipalace.org/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E... http://bcnnon.ac.th/webnon/Load/2013/01/king22.pdf http://kps.ku.ac.th/v8/index.php/th/12-news/kps-ne... http://www.snc.lib.su.ac.th/west/index.php?option=... http://www2.vajira.ac.th/tqm/wp-content/uploads/20...