พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช_เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ_สยามมกุฎราชกุมาร

พระราชสมภพ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 7 แรม 12 ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบอกพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ว่า "มหาอุณหิศ" แต่ด้วยทรงเห็นว่าเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วอาจจะอ่านได้ว่า 'อุณหิศ' หรือ 'อันหิศ' ก็ได้ จึงมีพระราชหัตถ์ถึงพระยาอัษฎางค์เปลี่ยนพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เสียใหม่ว่า "มหาวชิรุณหิศ" ซึ่งแปลว่า มงกุฎเพชรใหญ่

พระองค์มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จเจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)

สยามมกุฎราชกุมาร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีโสกันต์

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. 2428 ก็ไม่มีการสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ซึ่งเรียกว่า "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2430) มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า[2]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเป็นตำแหน่งรัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในการนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้ส่งโทรเลขมาอำนวยพรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย[3]

โสกันต์และผนวช

เมื่อพระองค์มีพระชันษาครบ 13 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์อย่างใหญ่ โดยโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นอธิบดีดำเนินการสร้างเขาไกรลาศบริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชพิธีโสกันต์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 มกราคม พ.ศ. 2433 จากนั้นได้ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2434 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์[4] ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2434 จึงลาผนวช[5]

สวรรคต

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา 191 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้ราชการไว้ทุกข์ 1 เดือน[6][7]

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2444 อัญเชิญพระบุพโพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นพระราชยานกง ตั้งกระบวนแห่ไปยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ประดิษฐานถ้ำพระบุพโพบนแว่นฟ้าในศาลาที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าขาวสดับปกรณ์ 40 พับ พระสงฆ์มีพระพิมลธรรม (ฑิต อุทโย) เป็นประธานสดับปกรณ์ แล้วอัญเชิญพระบุพโพไปยังพระเมรุข้างศาลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปจุดเพลิงพระราชทาน แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระเพลิงตามลำดับ[8]

วันที่ 22 มกราคม อัญเชิญพระบรมศพโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส ถึงวันที่ 24 มกราคม บ่าย 3 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ มาทอดผ้าสดับปกรณ์และพระราชทานเพลิงพระบรมศพ

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช_เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ_สยามมกุฎราชกุมาร http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2429/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2429/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/03...