ครองราชย์และในรัชกาล ของ สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่_3_แห่งมาดากัสการ์

สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ในวันขึ้นครองราชสมบัติ

พระนางทรงได้รับการประกาศเป็นสมเด็จพระราชินีสืบต่อจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2426[5] พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่อิมาฮาซินาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ซึ่งมีพระชนมายุครบ 22 พรรษาในวันนั้นพอดี พระอิสริยยศเต็มของพระนางคือ"สมเด็จพระนางเจ้ารานาวาโลนาที่ 3 โดยความดีงามแห่งพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาแห่งปวงพสกนิกร, สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์และผู้ปกป้องกฎอันชอบธรรมแห่งชาติ" ("Her Majesty Ranavalona III by the grace of God and the will of the people, Queen of Madagascar, and Protectoress of the laws of the Nation") พระราชพิธีครองราชย์ได้จัดขึ้นที่เขตมาฮามาซินาในกรุงอันตานานารีโวในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ซึ่งเฉลิมฉลองสิริพระชนมายุครบ 22 พรรษา พระนางทรงเลือกที่จะฝืนโบราณราชประเพณีโดยการเพิ่มกำลังทหารในพระราชพิธีของพระนางโดยทหารคือกลุ่มเด็กนักเรียนชาย 500 คนและนักเรียนหญิง 400 คนจากโรงเรียนที่ดีที่สุดในเมืองหลวง เด็กผู้หญิงสวมชุดกระโปรงยาวสีขาว ส่วนเด็กผู้ชายสวมชุดเครื่องแบบทหารและฝึกซ้อมใช้อาวุธหอกตามธรรมเนียมโบราณ พระราชินีรานาวาโลนาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกโดยทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมคลุมยาวสีขาวพร้อมชายกระโปรงปักด้วยไหมสีแดงและเครื่องประดับจากทองคำ[6] ชาวอเมริกันที่เข้าร่วมพระราชพิธีได้บรรยายถึงพระนางว่า "พระนางมีพระวรกายสูงกว่าคนปกติเล็กน้อยและทรงมีลักษณะที่ละเอียดอ่อน ผิวของพระนางสีคล้ำน้อยกว่าผู้ติดตามคนอื่น ๆ พระนางปรากฏว่าค่อนข้างประหม่าและอาย และพระนางทรงเป็นผู้รับผิดชอบพิธีทางศาสนาในราชสำนักอย่างเคร่งครัด"[7]

ซึ่งเหมือนกับพระราชินีนาถสองพระองค์ก่อน คือ พระนางต้องอภิเษกสมรสกับนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนี พระราชินีมีพระราชอำนาจเพียงในพระนาม ข้อตกลงทางการเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือการตัดสินโดยนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าเป็นผู้อาวุโสและมีประสบการณ์สูง พระราชินีนาถรานาวาโลนาจะต้องมีพระราชดำรัสในที่สาธารณะบ่อย ๆ ในนามของนายกรัฐมนตรี และต้องทรงประกอบพระราชกรณียกิจเปิดอาคารสาธารณะใหม่ ๆ เช่น โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ไอโซอาวินอันเดรียนา และโรงเรียนแห่งใหม่ที่อัมโบดินอันโดฮาโล[8] ตลอดรัชกาลของพระนาง เจ้าหญิงรามิซินดราซานา ผู้เป็นพระปิตุจฉา ได้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระราชินีและทรงอิทธิพลมากในราชสำนัก เจ้าหญิงราเซนดราโรโน ผู้เป็นพระภคินีในพระราชินี เจ้าหญิงมีพระโอรสคือ เจ้าชายรากาโตเมนา และพระธิดาคือ เจ้าหญิงราซาฟินานเดรียมานิทรา ทั้งสองพระองค์เป็นพระนัดดาที่พระราชินีสนิทที่สุด พระนางโปรดเวลาในการทรงว่าวหรือเล่นเกมล็อตโต (เกมชนิดหนึ่งคล้ายบิงโก) และเกมพาร์ลอร์ โดยทรงเล่นร่วมกับพระญาติและนางสนองพระโอษฐ์ในราชสำนัก พระนางโปรดงานเย็บปักถักร้อยและการปักโครเช่ต์ และบ่อยครั้งที่พระนางจะนำโครงการแนวพระราชดำริเสนอต่อคณะรัฐมนตรี[3] พระนางโปรดฉลองพระองค์ต่าง ๆ มากและพระนางทรงเป็นผู้ปกครองชาวมาลากาซีคนแรกที่นำเข้าเสื้อผ้าจากปารีสมากกว่าลอนดอน[7]

สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี

ดูบทความหลักที่: สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี
ทหารชาวมาลากาซีพยายามต่อสู้เพื่อป้องกันการรุกรานจากจักรวรรดิฝรั่งเศส

ขณะเป็นพระประมุขแห่งมาดากัสการ์ สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาทรงเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการล่าอาณานิคมระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศสซึ่งก็คือ ต้องเข้าพึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการปกป้องมาดากัสการ์ ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษ ความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสและมาดากัสการ์ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีก่อนที่พระนางรานาวาโลนาที่ 3 ครองราชย์ ฝรั่งเศสได้รุกรานเมืองต่าง ๆ ตลอดชายฝั่งของชาวมาลากาซีในช่วงปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 2 และยังคงดำเนินต่อจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 ซึ่งได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่ในช่วงฤดูร้อน ของ พ.ศ. 2426 ในภายหลัง นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีตัดสินใจที่จะติดต่อกับพันโท วิลลอจบี ทหารชาวบริเตนที่มีประสบการณ์จากสงครามอังกฤษ-ซูลู เพื่อให้เป็นผู้ตรวจตราควบคุมทหารและฝึกฝนทหารในพระราชินีและปกป้องประเทศจากการรุกรานของฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[2]

นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีผู้มีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดในมาดากัสการ์

ระหว่าง พ.ศ. 2426 ถึงพ.ศ. 2428 ฝรั่งเศสสร้างความมั่นคงในการยึดครองชายฝั่งของมาดากัสการ์แต่ประสบความล้มเหลวในการรุกรานเข้าไปถึงในตัวเกาะ[2] สงครามทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2428 มีการการโจมตีโดยการใช้ระเบิดหรือปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์และกองทัพฝรั่งเศสสามารถยึดครองเมืองมาฮาจันกาได้[9] ตลอดช่วงนี้มาดากัสการ์พยายามที่จะเจรจาต่อรองกับจักรวรรดิฝรั่งเศส แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าประสบความล้มเหลวโดยทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะทำตามความต้องการของทั้งสองฝ่ายจึงจบลงด้วยข้อโต้แย้ง จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อฝรั่งเศสตระหนักว่าทัศนคติของกองทัพและผู้แทนทางการเมืองในมาดากัสการ์นั้นไม่เห็นพ้องต้องกันกับเหล่าคณะผู้แทนจากปารีส เอ็ม. โบเดส์ กงสุลฝรั่งเศสถูกเรียกตัวกลับและแทนที่ด้วยบุคคลที่มีอำนาจเต็มพิเศษคนใหม่ ได้มีการพาดหัวข่าวยื่นคำขาดมาที่กรุงอันตานานารีโว เพื่อต้องการให้รับรองสิทธิของชาวฝรั่งเศสในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโดยฝรั่งเศสจะรวมซากาลาวาเป็นรัฐในอารักขา มาดากัสการ์ต้องยินยอมที่จะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 ฟรังก์ สนธิสัญญาสันติภาพนี้ได้รับการอนุมัติโดยพระราชินีรานาวาโลนาและนายกรัฐมนตรี ไรนิไลอาริโวนิในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429 โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินการในสองเดือนหลังจากนั้น[9]

กองทัพฝรั่งเศสขึ้นฝั่งที่มาจันกา ในระหว่างสงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี พ.ศ. 2438

ก่อนการอนุมัติสัญญา พระราชินีและนายกรัฐมนตรีพยายามหาความชัดเจนในข้อความต่าง ๆ ของสนธิสัญญาหลักที่ระบุ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ที่จะควบคุมโดย "ชาวฝรั่งเศสที่มาอยู่อาศัย" และอ้างอิง "การก่อตั้ง" ที่อ่าวดีเอโก-ซัวเรซ โดยมาดากัสการ์ที่พ่ายแพ้ยินยอมทำสนธิสัญญาโดยยอมถูกผนวกเป็นรัฐอารักขาในฝรั่งเศส เมื่อข่าวการผนวกไปถึงอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ปฏิเสธความถูกต้องต่าง ๆ ทางกฎหมายโดยยืนยันจะยึดครองมาดากัสการ์ในทุกวิถีทาง ฝรั่งเศสได้ประกาศครอบครองประเทศแม้จะได้รับการต่อต้านจากฝ่ายค้านของรัฐบาลมาลากาซี และฝรั่งเศสยังละเลยข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา[2] อีกทั้งเกิดปัญหาการแทรกแซงรัฐบาลมาลากาซีของฝรั่งเศสมากขึ้น[10]

ใน พ.ศ. 2430 ฝรั่งเศสเริ่มโจมตีเมืองทางชายฝั่งของมาดากัสการ์อีกครั้ง พระนางรานาวาโลนาทรงขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาโดยทรงส่งของกำนัลไปให้แก่ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ อันได้แก่ผ้าไหม, งาช้างและตะกร้าจักสาน[11] แต่อเมริกาไม่สามารถทำตามคำขอของพระนางที่ทรงให้รับรองเอกราชของมาดากัสการ์ ในรัชกาลของพระนางทรงพ่ายแพ้สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี จากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ประเทศไปสู่หายนะ ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2430 ทรงยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสเพื่อต้องการให้ประเทศสงบสุข[2]

ฝรั่งเศสได้ประกาศอารักขามาดากัสการ์อย่างเป็นทางการ โดยอังกฤษยอมรับสิทธิของฝรั่งเศส จากการยอมตกลงในข้อตกลงร่วมอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2433[12] ระหว่าง พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2437 ฝรั่งเศสได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการครอบครองดินแดนมาดากัสการ์ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสไม่สามารถครอบครองดินแดนอย่างสมบูรณ์เพราะมีอุปสรรคคือ สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาและนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนี ซึ่งได้พยายามขัดขวางทุกวิถีทางในการกระทำอันไม่ถูกต้องของฝรั่งเศส จนถึงที่สุด ชาร์ลส์ เลอ แมร์ เดอ วิแยร์ ได้ถูกส่งมาเพื่อข่มขู่ให้พระราชินีและรัฐบาลให้ทรงยอมรับในสนธิสัญญาที่ให้ฝรั่งเศสครอบครองประเทศอย่างสมบูรณ์ แต่พระนางทรงปฏิเสธและเพิกเฉยต่อคำขู่โดยสิ้นเชิง ทำให้ฝรั่งเศสประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาดากัสการ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2437[2]

จากการตัดความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ทิ้งระเบิดและยึดครองอ่าวโทอามาซินาทางชายฝั่งตะวันออกได้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2437 และยึดครองมาฮาจันกาทางชายฝั่งตะวันตกได้ในอีกเดือนถัดมา[12] การโจมตีทางบกได้เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2438 โดยการมาถึงของกองทหาร flying column ได้เดินทางเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงอันตานานารีโวในใจกลางเกาะ ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ทหารฝรั่งเศสหลายนายต้องเสียชีวิตจากไข้มาลาเรียและโรคภัยต่าง ๆ ทำให้จำเป็นต้องส่งกองทัพหนุนกว่า 1,000 คนจากอาณานิคมอื่น ๆ ของฝรั่งเศสในแอลจีเรียและซับ-ซาฮาราน แอฟริกา กองทัพได้มาถึงกรุงอันตานานารีโวในเดือนกันยายน พ.ศ. 2438 ทหารมาลากาซีต้านทานกองทัพฝรั่งเศสได้เพียง 3 วันในบริเวณรอบนอกของกรุง แต่ทหารมาลากาซีได้พยายามป้องกันเมืองอย่างเต็มที่ เมื่อฝรั่งเศสต้องใช้วิธีทิ้งระเบิดกรุงอันตานานารีโว โดยโจมตีที่พระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโวและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทำให้ชาวเมืองต้องสูญเสียชีวิตหลายคน พระนางไม่อาจเห็นชาวมาลากาซีต้องสูญเสียเลือดเนื้อ โดยพระองค์ตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของชาวมาลากาซีทั้งปวง โดยทรงยอมให้ราชอาณาจักรกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ถือเป็นจุดจบของความเป็นเอกราชของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ที่ยืนยาวกว่า 400 ปี[13]

อาณานิคมของฝรั่งเศส

สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพฝรั่งเศสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2438 ทำให้เป็นจุดจบของระบอบกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมรีนาที่ยืนยาวกว่า 400 ปี

ฝรั่งเศสยึดครองมาดากัสการ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2439 ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ฝรั่งเศสได้ประกาศให้มาดากัสการ์เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและเนรเทศนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีไปยังแอลเจียร์ ที่ซึ่งเขาเสียชีวิตในหลายปีถัดมา สมเด็จพระราชินีนาถและฝ่ายบริหารของพระนางยังคงดำรงอยู่และถูกยึดพระราชอำนาจทางการเมือง ในเวลาไม่ช้าหลังจากไรนิไลอาริโวนีถูกเนรเทศ สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาทรงถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ทางการฝรั่งเศสให้ทรงยอมรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ทรงฝรั่งเศสเลือก พระราชินีนาถทรงตัดสินใจอย่างเร่งรีบตามคำกราบทูลของนายพลฝรั่งเศส ฌาคส์ ดูเชเน ผู้ซึ่งเป็นคนควบคุมกองทัพในการต่อต้านพระราชวงศ์เมรีนา การยอมรับในธรรมเนียมแบบแผนทางการเมืองของมาดากัสการ์ยังคงอยู่ สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาทรงเกรงว่าพระนางจะต้องอภิเษกสมรสกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งพระนางทรงเป็นทุกข์ยิ่งที่ต้องอภิเษกสมรสกับฌาคส์ ดูเชเน แต่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ทางการฝรั่งเศสไม่ต้องการที่จะให้พระราชินีต้องสมรสกับนายกรัฐมนตรีโดยยกเลิกกฎมณเฑียรบาลนี้ซึ่งสร้างความโล่งพระทัยในพระราชินีได้ระดับหนึ่ง ไรนิทซิมบาซาฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระราชินีได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปโดยได้รับความยินยอมจากฝรั่งเศส[14]

สมเด็จพระราชินีรานาวาโลนาที่ 3 และพสกนิกรชาวมาลากาซีผู้จงรักภักดีนับพันใน พ.ศ. 2438 ณ กรุงอันตานานารีโว แสดงให้เห็นถึงพระบารมีที่มีมากในหมู่ชนมาลากาซี ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องการให้พระนางเสด็จออกจากประเทศ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2438 สองเดือนหลังจากฝรั่งเศสยึดครองกรุงอันตานานารีโว ได้เกิดการต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสที่สำคัญซึ่งมีชื่อว่า กบฏเมนาเลมบา (กบฏผ้าคลุมแดง) โดยปฏิบัติการกองโจรเพื่อขับไล่ชาวต่างชาติ ชาวคริสต์และการคอร์รัปชันของรัฐบาลโดยมีผู้เข้าร่วมกลุ่มกบฏมากมายซึ่งล้วนแต่ใส่ผ้าคลุมไหล่สีแดง การต่อต้านครั้งนี้ได้ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลฝรั่งเศสและพบกับจุดจบใน พ.ศ. 2440[15] ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มกบฏเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งฝรั่งเศสสั่งให้ประหารชีวิตทุกพระองค์ ซึ่งรวมถึง เจ้าชายรัทสิมมามันกา พระปิตุลาในพระราชินีและไรเดรียมอัมพันดรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ส่วนเจ้าหญิงรามิซินดราซามา พระปิตุจฉาในพระราชินีทรงถูกเนรเทศไปยังเรอูนียงเพราะว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่ต้องการประหารสตรี[16]

จากการต่อต้านนี้ทำให้ฝรั่งเศสต้องเปลี่ยนผู้ว่าราชการประจำเกาะ จาก ฮิปโปไลท์ ลาโร็ช เป็นโจเซฟ กาเลียนี ผู้ว่าการทหาร หนึ่งวันก่อนที่กาเลียนีจะเดินทางมาถึงอันตานานารีโว เขาได้ส่งจดหมายกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาให้เสด็จมารายงานพระองค์ที่ฐานบัญชาการทางทหารด้วยพระองค์เองพร้อมกับข้าราชบริพารทั้งหมด ฐานบัญชาการได้มีผู้ถือธงชาติฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมตามพระองค์มาด้วย สมเด็จพระราชินีนาถทรงถูกบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยยินยอมยกพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์เมรีนาทั้งหมดแก่ฝรั่งเศสก่อนที่พระนางทรงถูกกักขังคุกภายในพระราชวังของพระองค์เอง พระนางทรงได้พบปะเพียงผู้ที่ได้รับการอนุญาตจากกาเลียนีเท่านั้น ขณะทรงถูกจองจำพระนางรานาวาโลนาทรงเปลียนศาสนานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเพื่อให้ฝรั่งเศสพึงพอใจแต่ฝรั่งเศสก็ไม่สนใจอะไรในการกระทำของพระนาง[16]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่_3_แห่งมาดากัสการ์ http://books.google.com/?id=BOopmtvrsOAC&pg=PA305 http://books.google.com/?id=I_S1D8cnTiEC&pg=PT19 http://books.google.com/books?id=8IOZLvSrspIC&prin... http://books.google.com/books?id=I-2gAAAAMAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=J5MoAAAAYAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=QiJDS97UJAoC&prin... http://books.google.com/books?id=R8HQAAAAMAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=SlIDAAAAYAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=_gX-iWzB6pUC&prin... http://books.google.com/books?id=gvREAAAAIAAJ&prin...