ถูกเนรเทศ ของ สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่_3_แห่งมาดากัสการ์

กาเลียนีประกาศเนรเทศสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2440 และประกาศล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันถัดมา ฝรั่งเศสออกคำสั่งให้อดีตสมเด็จพระราชินีนาถต้องเสด็จออกจากพระราชวังภายในเวลา 1 นาฬิกา 30 นาที พระนางถูกควบคุมพระองค์ออกจากอันตานานารีโวด้วยเกี้ยว ในขณะที่ชาวเมืองยังคงหลับนอน โดยมีผู้รักษาความปลอดภัยและข้าราชบริพารตามเสด็จประมาณ 700 ถึง 800 คน[17] โดยตลอดการเดินทางต้องเสด็จไปยังที่หมายที่ชายฝั่งตะวันออกของเมืองโทอามาซินาที่ซึ่งพระนางต้องเสด็จประทับโดยเรือไปยังเกาะเรอูนียง ได้มีรายงานว่าระหว่างเสด็จโดยเรือพระนางรานาวาโลนาทรงเมาอย่างหนัก เสวยเหล้ารัมหลายขวดซึ่งผิดธรรมเนียมวิสัย[18] ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าทรงเสียพระทัยอย่างหนัก ที่โทอามาซินาในวันที่ 6 มีนาคม พระนางรานาวาโลนาทรงได้รับการแจ้งให้ทราบว่า เจ้าหญิงราเซนดราโนโร พระขนิษฐา และเจ้าหญิงราซินดราซานา พระปิตุจฉา ได้เสด็จมาถึงในเวลาอันสั้นพร้อมกับเจ้าหญิงราซาฟินนานเดรียมานิทรา พระราชนัดดาวัย 14 พรรษา ซึ่งเจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงพระครรภ์ได้ 9 เดือนกับทหารชาวฝรั่งเศส[19]

ณ เกาะเรอูนียง

อดีตสมเด็จพระราชินีรานาวาโลนาที่ 3 ระหว่างทรงถูกเนรเทศที่เรอูนียงพระมหามงกุฎแห่งสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Musée de l'Armée กรุงปารีส

พระราชวงศ์เสด็จทางเรือพระที่นั่งลา เปรูสถึงท่ากาเลต์ ห่างจากนครแซงต์-เดนิส เมืองหลวงของเกาะเรอูนียงเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยมีการระมัดระวังอย่างรอบคอบตามคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามของฝูงชนชาวฝรั่งเศสได้ออกมาดูสมเด็จพระราชินีพระองค์สุดท้ายแห่งมาดากัสการ์พร้อมตะโกนด่าสาปแช่งและเย้ยหยันพระนางในขณะที่เรือจอดเทียบท่าซึ่งโกรธแค้นพระนางที่ทำให้ทหารชาวฝรั่งเศสที่เป็นสามี บุตร พี่น้องหรือบิดาของพวกเขาต้องเสียชีวิตในการรบกับมาดากัสการ์โดยรุกคืบเข้ากรุงอันตานานารีโวที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ยากแก่การรุกรานซึ่งทำให้ทหารฝรั่งเศสต้องเสียชีวิตจากไข้ป่าหลายร้อยนาย หลังจากกลุ่มฝูงชนที่ตั้งใจจะมารุมประชาทัณฑ์พระนางสลายการชุมนุมออกไป กัปตันได้ถวายการคุ้มครองพระนางและพระราชวงศ์เสด็จประทับรถเทียมม้าซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระนางทรงรู้จักรถเทียมม้าและได้เดินทางไปยังโรงแรมเดอลายูโรเปในกรุงแซงต์-เดนิส เจ้าหญิงราซาฟินนานเดรียมานิทราซึ่งทรงพระครรภ์และทรงเครียด พระองค์ทรงทรมานจากพระอารมณ์แปรปรวนอย่างมากตลอดการถูกเนรเทศ เจ้าหญิงทรงคลอดบุตรอย่างยากลำบากในโรงแรมและมีพระประสูติกาลพระธิดาในวันที่สองหลังจากเสด็จถึงเรอูนียง แต่ไม่สามารถฟื้นฟูพระวรกายของพระองค์ได้ เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ในอีก 5 วันต่อมา ทารกถูกตั้งชื่อว่า "มารี-หลุยส์" และทรงได้รับพิธีศีลจุ่มตามแบบคาทอลิก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูกับฝรั่งเศส เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แห่งมาดากัสการ์ โดยอดีตพระราชินีนาถรานาวาโลนาทรงรับเจ้าหญิงเป็นธิดาบุญธรรม[20]

ภายในเวลา 1 เดือน พระราชวงศ์ถูกย้ายไปยังคฤหาสน์ของมาดามเดอวิลเลนตองย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณที่เงียบสงบของรู เดอ ลา อาร์เซนองและรู เดอ เลมพาร์ต ใกล้จวนว่าราชการของฝรั่งเศสในแซงต์-เดนิส พระนางรานาวาโลนาทรงประทับใจในสองสิ่งของคฤหาสน์ที่ซึ่งมีกำแพงที่ใหญ่และมีหลังคายอดแหลมตัดขวางซึ่งเตือนให้พระนางรำลึกถึงสถาปัตยกรรมมาดากัสการ์และชีวิตบนที่ราบสูงมาดากัสการ์ที่ซึ่งทรงรักยิ่ง พระราชวงศ์ที่เสด็จมานี้เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายหญิงทั้งหมดได้แก่ อดีตพระราชินี พระปิตุจฉา พระขนิษฐาและพระปนัดดา เท่านั้นไม่พอผู้ติดตามรวมทั้งราชเลขานุการ 2 คน พ่อครัว แม่บ้าน และคนรับใช้ 3 คนของพระนางรานาวาโลนา อาจารย์ส่วนพระองค์ของพระราชินีได้รับเข้าหาพระราชวงศ์อย่างอิสระ[21]

อดีตพระราชินีและพระราชวงศ์ทรงประทับที่คฤหาสน์ในเรอูนียงเป็นเวลาเพียง 2 ปี จากความตึงเครียดที่ทวีมากขึ้นอีกครั้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการขัดแย้งจากปัญหาซูดาน ผู้มีอำนาจในรัฐบาลฝรั่งเศสกังวลกับสภาพของประชาชนในมาดากัสการ์ที่พยายามหาทางต่อต้านกฎหมายของฝรั่งเศสจนอาจจะกลายเป็นการก่อกบฏใหม่ อดีตสมเด็จพระราชินีซึ่งใกล้ชิดกับมาดากัสการ์อาจทรงสนับสนุนช่วยเหลือและปลุกระดมกลุ่มกบฏ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตัดสินใจอย่างฉับพลันให้ย้ายพระนางรานาวาโลนาและพระราชวงศ์ไปยังแอลจีเรีย โดยเชื่อว่าถ้าพระนางประทับห่างจากบ้านเกิดของพระนางก็จะทำให้กลุ่มกบฏไม่มีผู้สนับสนุนและสถานการณ์ของมาดากัสการ์จะกลับเป็นปกติ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 หลังจากทรงได้รับการเตือนล่วงหน้าไม่นาน พระนางรานาวาโลนาและพระราชวงศ์ทรงถูกบังคับให้ขึ้นเรือยาง-เซ โดยมีราชเลขานุการ ล่ามและคนรับใช้ตามเสด็จมากมาย[22] ในเวลาการเดินทาง 28 วันก่อนถึงเมืองท่ามาร์แซย์พระราชวงศ์ได้หยุดพักที่เมืองท่าต่าง ๆ ได้แก่ มายอต, แซนซิบาร์, เอเดน และจิบูตี[23] พระราชวงศ์ประทับที่มาร์แซย์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกย้ายไปที่คฤหาสน์ในมุสตาฟา ซูเพอริเออร์ ในพื้นที่แอลเจียร์ในแอลจีเรีย ตลอดการเดินทาง กัปตันหลายคนพยายามขัดขวางไม่ให้พระนางรานาวาโลนาตรัสกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส[18] พระนางทรงหวังว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะให้พระนางประทับที่กรุงปารีสและทรงผิดหวังอย่างมากเมื่อทรงทราบว่าพระนางจะถูกส่งไปยังแอลจีเรีย พระนางตรัสและพระอัสสุชลไหลรินหลังจากได้รับรายงาน ตรัสว่า

ใครคือความแน่นอนของพรุ่งนี้ เพียงเมื่อวานเท่านั้นที่ฉันเป็นราชินี วันนี้ฉันกลับกลายเป็นหญิงที่ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง เป็นเพียงผู้หญิงที่ถูกทำลายจิตใจจนแตกสลาย[6]

ณ แอลจีเรียและการเสด็จประพาสฝรั่งเศส

หนังสือพิมพ์ La Petit Journal พาดหัวข่าว พระนางรานาวาโลนาเสด็จถึงฝรั่งเศสในการเสด็จประพาสครั้งแรกอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2444 โดยเป็นภาพอดีตพระราชินีและข้าราชบริพารมาถึงที่สถานีรถไฟและพระนางทรงรับดอกไม้จากเด็กหญิงโดยมีชาวฝรั่งเศสเดินทางมาถวายพระพรแด่พระนาง
จากการตอบสนองคำขอร้องของพระนางอย่างเร่งด่วน พระนางทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จประพาสปารีสและใช้พระราชทรัพย์ได้ พระนางทรงเป็นจุดสนใจทั่วทั้งถนนและทรงเป็นที่นิยมอย่างมหาศาล แต่พระนางทรงใช้พระราชทรัพย์มากเหลือเกินและทรงเก็บสะสมบิลค้างชำระเงินซึ่งมีมโหฬาร ทำให้สำนักงานอาณานิคมได้เตือนและส่งพระนางขึ้นเรือพระที่นั่งกลับแอลเจียร์ได้อย่างทันท่วงที

— Kings in Exile (กษัตริย์ยามลี้ภัย), Our Paper (1904) (พ.ศ. 2447) [24]

พระฉายาลักษณ์พระนางรานาวาโลนาบนกล่องคุกกี้ "Petit Beurre" ใน พ.ศ. 2459 โดยทรงมีลายพระหัตถ์ข้อความว่า "Tsara ny Petit Beurre แปลว่า "คุกกี้ Petit Beurre เยี่ยมมาก"

ที่พระตำหนักของพระราชินีในแอลเจียร์ พระนางทรงได้รับการจัดเตรียมข้าราชบริพารและผู้ถวายการต้อนรับซึ่งเป็นสตรีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้คอยสังเกตการณ์อดีตพระราชินีทุกฝีก้าวและทำหน้าที่คอยดูและแนะนำเมื่อใดที่อดีตพระราชินีทรงเชิญแขกเข้ามา เท่านั้นไม่พอในขั้นต้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดเตรียมถวายพระราชทรัพย์ประจำปีแก่พระนางรานาวาโลนาเป็นจำนวน 25,000 ฟรังก์ ซึ่งเป็นเงินรายได้จากอาณานิคมแห่งมาดากัสการ์ซึ่งได้รับอำนาจจากผู้ว่าราชการนายพลของอาณานิคม[25] พระราชทรัพย์เกือบทั้งหมดของพระนางรานาวาโลนาได้ถูกยึดโดยอำนาจของผู้ว่าราชการอาณานิคม ถึงแม้ว่าพระนางจะได้รับอนุญาตที่จะเก็บรักษาพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บางอย่างซึ่งรวมทั้งเครื่องเพชรบางชิ้นของพระนาง บำนาญของพระนางในขั้นต้นทรงได้รับน้อยจนถึงกับยากจนที่ซึ่งรัฐบาลอาณานิคมแห่งแอลจีเรียชักชวนให้ขายทรัพย์สินไม่สำเร็จหลายครั้งในนามของพระนางเพื่อจะได้ให้เงินเพิ่มสำหรับพระนาง พระนางรานาวาโลนาทรงพยายามอย่างหนักร่วมกับข้าราชบริพารในการขายเครื่องเพชรบางส่วนของพระนางเป็นการลับแต่แผนการนี้รั่วไหลจนรัฐบาลอาณานิคมรู้จึงได้ขับไล่และส่งข้าราชบริพารคนนั้นกลับมาดากัสการ์[18]

ในช่วงปีแรกหลังจากถูกเนรเทศมาที่แอลจีเรีย พระนางรานาวาโลนาทรงสนพระทัยที่ได้พบกับวิถีชีวิตสังคมแบบชาวแอลเจียร์ พระนางทรงได้รับเชิญเสมอ ๆ ในงานเลี้ยง, การเสด็จประพาสในระยะสั้น และงานประเพณีท้องถิ่น โดยพระนางจะถูกเชิญให้เป็นเจ้าภาพประจำงานบ่อย ๆ [26] อย่างไรก็ตามความคิดถึงบ้านเกิดนั้นเกิดขึ้นประจำและความหวังที่จะได้เสด็จกลับมาดากัสการ์มีส่วนทำให้พระนางโศกเศร้าและเหนื่อยหน่าย พระนางประสงค์ที่จะพระราชดำเนินเพียงพระองค์เดียวบ่อย ๆ ในเขตชนบท, ทรงพระราชดำเนินผ่านชายหาดหรือผ่านเมืองเพื่อที่จะทำจิตใจให้สงบและระงับอารมณ์ของพระนางเอง[27] อดีตพระราชินีทรงมีความกระตือรือร้นที่จะทอดพระเนตรแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศส โดยเฉพาะกรุงปารีส โดยมีพระราชประสงค์ขอความยินยอมจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อการเดินทางหลายครั้ง โดยพระราชประสงค์ขอพระนางได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอดจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 พระนางรานาวาโลนาได้รับการอนุญาตให้เสด็จประพาสฝรั่งเศส ในเวลาหลายเดือนพระนางรานาวาโลนาทรงพำนักอยู่ที่เขตการปกครองปารีสที่ 16 ใกล้กับจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล และถนนช็องเซลีเซ โดยเสด็จไปสถานที่หลักทั่วกรุงปารีสและทรงได้รับการถวายการต้อนรับจากผู้คนจำนวนมาก พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางโดยวงสังคมชั้นสูงและทรงได้รับของขวัญมากมายรวมทั้งผ้าคลุมซึ่งมีค่ามาก ในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งแรก ทรงเยี่ยมชมพระราชวังแวร์ซาย และทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการที่โฮเต็ล เดอ วิลเล ปารีส และเสด็จประพาสเมืองบอร์โดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ท้ายสุดพระนางเสด็จประพาสชายหาดอาร์คาชอง ก่อนที่พระนางทรงใช้พระราชทรัพย์จนหมดสิ้นและประทับเรือพระที่นั่งแอลจีเรียที่มาร์แซย์ในต้นเดือนสิงหาคม[28] การเสด็จประพาสครั้งนี้เป็นที่ดึงดูดใจชาวปารีสมาก[24] ที่ซึ่งแสดงความเห็นใจในชะตากรรมของพระราชินีและได้รวมกันกล่าวหารัฐบาลโดยเรียกร้องให้จัดหาตำหนักที่ใหญ่กว่านี้หรือถวายพระเกียรติที่พระนางสมควรได้รับมากกว่านี้โดยให้พระนางได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์[28]

อดีตสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ขณะเสด็จประพาสฝรั่งเศส

พระนางรานาวาโลนาจะได้กลับไปยังฝรั่งเศส 6 ครั้งในอีก 12 ปีถัดไป การเสด็จประพาสบ่อยครั้งทำให้พระนางทรงมีชื่อเสียงขึ้นมามากจนเป็นที่สรรเสริญ (cause célèbre) ของพลเมืองฝรั่งเศสจำนวนมากที่ซึ่งสงสารในชะตากรรมของพระนางและยกย่องพระนางในด้านกิริยามารยาทที่งดงามและความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่งในพระชะตา การเสด็จประพาสของพระนางรานาวาโลนาเป็นที่สนใจแก่สื่อสาธารณะและจากความนิยมในอดีตพระราชินีรานาวาโลนาทำให้พระฉายาลักษณ์ของพระนางได้ถูกพิมพ์ลงบนกล่อง Petit Beurre คุกกี้ใน พ.ศ. 2459 [29] การเสด็จประพาสครั้งที่สองของพระราชินีมีขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2446 เมื่อเสด็จประพาสวิค-ซูร์-ซีเรและโอรียัก พลเมืองจำนวนมากได้กดดันรัฐบาลในระหว่างที่พระนางเสด็จให้เพิ่มพระราชทรัพย์ประจำปีของพระนางขึ้นเป็นจำนวน 37,000 ฟรังก์ ใน 3 ปีถัดมาพระนางเสด็จประพาสมาร์แซย์และแซงต์-เจอร์แมน และทรงเข้าพำนักในอพาร์ตเมนต์ขนาด 5 ห้องนอนใหญ่ของชาวปารีสที่เขตการปกครองปารีสที่ 16 ซึ่งพระนางได้ทอดพระเนตรการแสดงที่โรงละครปารีสโอเปรา, ทรงเข้าสังเกตการณ์การประชุมของสภาผู้แทนฝรั่งเศสและทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศส และเป็นอีกครั้งที่ทรงได้รับความเห็นใจจากชาวฝรั่งเศส พระราชทรัพย์ของพระนางรานาวาโลนาได้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ฟรังก์ต่อปี ในการเสด็จประพาสครั้งต่อไป พ.ศ. 2450 พระนางต้องประทับที่ดิเวส-ซูร์-เมอร์เพื่อการเสด็จประพาสจังหวัดกาลวาโดส ที่ซึ่งพระนางทรงได้รับการฉายพระรูปลงในสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศส จากเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2453 อดีตพระราชินีนาถรานาวาโลนาเสด็จประพาสปารีส, น็องต์, ลา บูลล์-เอสคอบาค และแซงต์-นาแซร์และทรงได้รับการฉายพระรูปลงในสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสหลาย ๆ ครั้ง ใน พ.ศ. 2455 การเสด็จประพาสของพระนางครั้งนี้ไม่มีพิธีรีตองโดยเสด็จยังหมู่บ้านกีเบอวิลล์และมีการเพิ่มพระราชทรัพย์ประจำปีของพระนางขึ้นเป็นจำนวน 75,000 ฟรังก์ พระนางเสด็จประพาสครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2456 โดยเสด็จยังมาร์แซย์, แอกซ์-เลส-บานส์ และอัลเลวาร์ด[30]

การเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2457 ได้ปิดโอกาสในการเสด็จประพาสฝรั่งเศสของพระนาง ตลอดพระชนม์ชีพในแอลจีเรีย พระนางและพระราชวงศ์ได้เข้าร่วมพิธีของโปรแตสแตนต์เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่คริสตจักรปฏิรูปซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงแอลเจียร์[31] หลังสงครามพระนางทรงเข้าร่วมกาชาดแอลจีเรียและทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อการกุศล พระนางต้องเสด็จสวรรคตโดยไม่มีโอกาสหวนกลับมาดากัสการ์บ้านเกิดที่ทรงรักยิ่ง โดยทรงขอร้องรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ 2 ครั้งใน พ.ศ. 2453 และ พ.ศ. 2455 แต่ได้ถูกปฏิเสธเนื่องจากเงินทุนจากอาณานิคมไม่เพียงพอ[28]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่_3_แห่งมาดากัสการ์ http://books.google.com/?id=BOopmtvrsOAC&pg=PA305 http://books.google.com/?id=I_S1D8cnTiEC&pg=PT19 http://books.google.com/books?id=8IOZLvSrspIC&prin... http://books.google.com/books?id=I-2gAAAAMAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=J5MoAAAAYAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=QiJDS97UJAoC&prin... http://books.google.com/books?id=R8HQAAAAMAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=SlIDAAAAYAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=_gX-iWzB6pUC&prin... http://books.google.com/books?id=gvREAAAAIAAJ&prin...