พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี_พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4

(จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 โดยได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405 ซึ่งเป็นวันทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา"[2] พระราชหัตถเลขามีดังนี้

"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามกรแก่บุตรี ที่ประสูติแต่เปี่ยมผู้มารดา ในวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช 1224 นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา วัคมูลคู่ธาตุเป็นอาทิอักษร วัคอายุเป็นอันตอักษร ขอให้จงเจริญพระชนมายุพรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล พิบูลพูนผลทุกประการเทอญ"[3]

สำหรับพระพรที่ทรงผูกเป็นภาษามคธกำกับลายพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามว่า "สฺวางฺควฑฺฒนา" สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า[4]

"เราได้ตั้งนามของบุตรีในราชสกุลนี้ว่า "สว่างวัฒนา" ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดายั่งยืนกาลนานเทอญ"

พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ[5]

พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง ทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย[6] มีพระพี่นางพระน้องนางที่สนิทสนมเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกัน คือ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระองค์เจ้านภาพรประภา พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 6 พรรษา พระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์จักรี พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา[7]

สมเด็จพระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5

พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า "'หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา"[8] นอกจากนี้ยังปรากฏในโคลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ความว่า[9]

งามโฉมโฉมนิ่มน้องนงลักษณ์
งามเกษกรรณรับภักตร์ผ่องแผ้ว
ขนงเนตรนุชน่ารักงามรับ กันนา
งามโอษฐเอื้อมอัตถ์แผ้วเพริศพริ้มรายกนต์
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา[2] โดยมีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี[10]

แต่พระองค์เจ้าทักษิณชามีพระสติวิปลาสไปมิอาจรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป[11] พระภรรยาเจ้าสี่พระองค์หลังมีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเป็นสำคัญ[10] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิมมีพระราชดำริที่จะสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าด้วยเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5[4] แต่ในปี พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จสวรรคตพร้อมพระราชธิดาและพระราชโอรสในพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่สวรรคตไปแล้ว ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเสมอกัน ซึ่งสมภพ จันทรประภาสรุปคำบอกเล่าของนางข้าหลวงว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาไม่เต็มพระทัยมีพระอิสริยยศสูงกว่าเพราะเป็นน้อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นพระบรมราชเทวีด้วย[12]

หลังจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างพระตำหนักขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระตำหนักใหม่นี้เป็นพระตำหนักขนาดใหญ่ ถือเป็นพระตำหนักประธานในเขตพระราชฐานชั้นในเลยทีเดียว โดยเมื่อขึ้นพระตำหนักใหม่แล้ว ชาววังก็ออกพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีโดยลำลองว่า สมเด็จพระตำหนัก ตั้งแต่นั้นมา

ในช่วงเวลานี้พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจออกรับแขกเมืองในฐานะพระราชินีแห่งสยาม ดังในปี พ.ศ. 2428 ขณะมีพระชนมายุ 22 พรรษา ได้เสด็จออกเพื่อต้อนรับเจ้าชายออสการ์ ดยุกแห่งกอตลันด์ ดังปรากฏว่า[13][14]

ในพระราชสำนักฝ่ายใน

"...เข้าไปถึงห้องรับแขกของพระราชินีไทย ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้ากับผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นแบบบาง ๆ อายุราว ๆ 19 ปี คล้ายมหาดเล็ก แต่มีความคิดดีในการแต่งกาย ทำให้ดูหยดย้อย แสนจะหรูหรา พระเจ้าแผ่นดินทรงแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์ เครื่องทรงของพระราชินีซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคตสีทอง ๆ เงิน ๆ พอดีพระองค์ แขนเป็นจีบ ๆ ทำด้วยไหมทองจุดขาว มีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวม ๆ ทรงสนับเพลาหรือผ้าทรงแบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่ง เป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง ทำให้ดูเครื่องแต่งพระองค์ที่ประหลาดแต่สวยงามนี้ครบชุด โดยมีดุมเพชรเม็ดใหญ่และเข็มกลัดเพชรกลัดตรึงไว้รอบพระศอ ทรงสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับเพชรวูบวาบ ติดทับอยู่บนฉลองพระองค์ ท่านงามสะดุดตาอยู่แล้ว ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เอง กับมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร [...] ก็เช่นเดียวกับตัวฉัน คืองงงัน ซาบซึ้ง และปีติในสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะในพระราชินีที่งามเลิศ..."

นอกจากนี้ยังเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสแหลมมลายูไปเมืองสิงคโปร์ พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงนัดกับเซอร์เฟรเดอริก เวลด์ (Frederick Weld) เจ้าเมืองสิงคโปร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ไว้ ความว่า[15]

"...เขาขอให้แม่กลางไปด้วย เห็นว่าไม่เป็นการเสียอันใด จึงได้พาแม่กลางลงไปด้วยคนเดียว มีคนทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่ในที่นั้นประมาณ 20 คน นำให้รู้จักคนเหล่านั้น ผัวมานั่งพูดกับเรา เมียพูดกับแม่กลาง ครู่หนึ่งเปลี่ยนเมียมาพูดกับเรา ผัวไปพูดกับแม่กลาง ในเวลานี้เลี้ยงน้ำชาไปพลางแล้วเปลี่ยนกันอีกครั้งหนึ่ง..."

ทรงตก

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า "ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียกพี่เรียกน้องในการสืบสันตติวงศ์"[16] พร้อมทั้งสถาปนาพระอิสริยยศของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในฐานะเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระองค์จึงไม่ยอมเสด็จไปก่อนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีโดยพระราชทานเหตุผลว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นพระราชชนนีของมกุฏราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินว่า "แม่กลางกับแม่เล็กไม่ใช่คนอื่นพี่น้องกันแท้ ๆ แม่กลางเป็นพี่ไปหน้าตามอายุแล้วกัน"[16]

แต่ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ พระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า มีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการปกครองสยามเป็นระยะเวลาถึง 9 เดือน[17] ทำให้ฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีลดลงมาเป็นอันดับสองของพระราชวงศ์ฝ่ายในโดยปริยาย

ซึ่งสภาวการณ์ "ตก" ดังกล่าว พระองค์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ความว่า "...ฉันน่ะไม่เคยขี้เหนียวหรอก แต่เห็นเสียแล้ว เมื่อเวลาฉันมีบุญน่ะ ล้วนแต่มาห้อมล้อมฉันทั้งนั้นแหละ เวลามีงานมีการอะไร ฉันก็ช่วยเต็มที่ไม่ขัด แต่พอฉันตกก็หันหนีหมด ไปเข้าตามผู้มีบุญต่อไป ฉะนั้นฉันจึงตัดสินใจไม่ทำบุญกับคนรู้จัก แต่จะทำการกุศลทั่วไปโดยไม่เลือก"[18]

ในปี พ.ศ. 2453 ทันทีที่ทรงสูญเสียพระบรมราชสวามี พระองค์ก็ทรงประชวรพระวาโย บรรทมบนพระเก้าอี้ปลายพระแท่นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเอง เหล่ามหาดเล็กอยู่งานจึงใช้พระเก้าอี้หามเชิญเสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์ เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ประชวรพระวาโยและเชิญเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปพระตำหนักสวนสี่ฤดูเช่นกัน[19] หลังจากนั้นท่านผู้ใหญ่ฝ่ายในเล่าว่าแต่นั้นมา ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ไม่ทรงแย้มพระสรวล จนถึงกับมีผู้กล่าวว่าถ้าเห็นทรงพระสรวลก็เป็นบุญ[3] หลังสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่วังพญาไทเป็นเวลาแรมเดือน ภายหลังได้เสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์[16]

สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระพันวัสสาในรัชกาลที่ 7

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี[2] (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า แปลว่า สมเด็จป้า-พี่สาวของแม่) โดยข้าราชสำนักในสมัยนั้นออกพระนามว่า สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯ เป็นคู่กันกับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ช่วงเวลาดังกล่าวสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงประชวรกระเสาะกระแสะตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตได้เข้ามากราบพระบาทของสมเด็จพระมาตุจฉา และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีเป็นนัยว่าขออภัยที่เคยล่วงเกินกันในอดีต ดังปรากฏในคำตรัสเล่าของหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ความว่า[20]

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งประชวรกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต ประชวรมากขึ้น และเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน และเป็นพระมเหสีเทวีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย เสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรในท้องพระโรงพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ทรงสนทนากันสามพระองค์พี่น้องถึงความหลังครั้งเก่า แล้วสมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงกราบลงที่พระบาทสมเด็จฯ ก็ที่ใคร ๆ จะรู้สึกพระองค์ เป็นนัยว่าทรงขอพระราชทานอภัยในความหลังดั้งเดิมทั้งหมด ฝ่ายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงเบี่ยงพระองค์ชักพระบาทหลบ เห็นด้วยเกรงว่าสมเด็จพระพันปีจะกราบมาถึงท่านอีกพระองค์ เสร็จจากทรงกราบที่พระบาทสมเด็จฯ แล้ว สมเด็จพระพันปีก็ทรงคลานอ้อมมานิดหนึ่ง แล้วก็ทรงกราบลงที่พระบาทพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีได้ แล้วก็ทรงกราบลงพร้อม ๆ กับที่พระกันแสงกันทั้งสามพระองค์ ทำให้ข้าหลวงแถว ๆ นั้นอดกลั้นน้ำตามิได้ไปตาม ๆ กัน..."

สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าทรงพระกรุณาเป็นพระธุระให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ทรงพระครรภ์จนถึงมีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงเล่าถึงสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯว่า "ถ้าไม่ได้ท่าน เจ้าฟ้าก็ไม่ได้เป็นพระองค์"[21] สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระประสูติกาลก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งวัน โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชดำรัสทรงฝากฝังพระราชธิดาไว้กับ "สมเด็จป้า" ด้วย[5]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริว่าทรงนับถือสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี สมควรเฉลิมพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่ง เพื่อเป็นที่ทรงปฏิบัติบูชาต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพันวัสสา" มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[22] ข้าราชสำนักจึงออกพระนามกันทั่วไปว่า สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า สืบต่อมา[2]

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 8 และ 9

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯ รับพระราชนัดดา เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนคร ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[2][23] ตามพระราชสัมพันธ์ที่สมเด็จฯ ทรงมีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 คือเป็นพระอัยยิกา (ย่า) และทรงดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2489 ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงทราบ ในวันเชิญพระบรมศพลงพระโกศนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จพระราชดำเนินออกมาทางระเบียงและตรัสขึ้นมาว่า "วันนี้เป็นอะไร ฟ้าเศร้าจริง นกสักตัวกาสักตัวก็ไม่มาร้อง เศร้าเหลือเกิน นี่ทำไมมันเงียบเชียบไปหมดอย่างนี้ล่ะ" ข้าราชบริพารเมื่อได้ยินดังนั้นต่างก็รู้สึกสะเทือนใจ ผู้ใดที่ทนไม่ได้ต่างก็หลบออกมาด้วยกลัวที่พระองค์ท่านจะทรงรู้ได้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น[24] พระองค์จึงทรงรำลึกอยู่เสมอว่า "มีหลานชาย 2 คน"[25]

อนึ่ง ทางรัฐสภาเคยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่ได้ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าพระองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าให้มีพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นคณะบุคคลนั่นเอง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 เมื่อพระองค์ทรงเจิมหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรแล้ว มีรับสั่งว่า "หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เข้ามาซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็ม ๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย"[26] ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ผู้เข้าเฝ้า ณ ที่นั้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเลือนพระสัญญาด้วยทรงเจริญพระชนมพรรษาเกือบ 90 พรรษาแล้วในขณะนั้น และมักจะไม่มีพระราชเสาวนีย์แก่ผู้มาเฝ้าเท่าใดนัก

สวรรคต

พระเมรุมาศ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนาน 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรหลังตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้องทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึงสามเดือน 5 ปีต่อมาก็ประชวรด้วยมีอาการอักเสบที่พระปับผาสะ[27]

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุมเมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระอาการหนักสุดที่จะแก้ไขแล้ว พระชนมชีพคงจะถึงที่สุดในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ นอกจากนั้น ก็มีเสด็จพระองค์วาปีฯ หม่อมเจ้าหลาน ๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการน่าเป็นห่วงตั้งแต่ 5 ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้าในวาระสุดท้าย หลังจากตีสองชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ ติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ 16 นาที สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น.[28] โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงถวายบังคม "สมเด็จย่า" อยู่ที่เบื้องปลายพระบาทนั่นเอง สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน[29]

หลังจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคต ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล ประกอบพระลองทองใหญ่ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (พระเศวตฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จนถึงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปประดิษฐานเหนือพระยานมาศสามลำคาน แล้วอัญเชิญพระบรมศพออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปทางวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงทอดผ้าไตรที่โกศพระบรมศพ หลังจากนั้น พระบรมศพเคลื่อนขบวนไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง แล้วจึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ และในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระบรมอัฐิ และเชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวังเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไว้ภายใต้ฐานชุกชี พระสัมพุทธวัฒโนภาส วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[30]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี_พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า http://161.200.101.21/homepage/history/bhanwasa.ph... http://www.posttoday.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News... http://www.yingthai-mag.com/?q=magazine/reader/879... http://www.queensavang.org/index.php?option=com_co... http://www.queensavang.org/index.php?option=com_co... http://www.queensavang.org/index.php?option=com_co... http://www.queensavang.org/index.php?option=com_co... http://www.wattano.ac.th/wattano/history/index_3.h... http://www.wattano.ac.th/wattano51/history/index.p...