พระกรณียกิจโดยสังเขป ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังปรากฏในพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชันษาครบ 61 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต

– สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี[35]

นับแต่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2502 พระกรณียกิจก็ได้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการเสด็จแทนพระองค์ไปในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีต่างๆ โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์พระองค์เสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ ประกอบกับพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง[31][36] เมื่อพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าเฝ้าและได้ปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เนือง ๆ[20]

การพุทธศาสนา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงทอดพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2512.

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงกำหนดธรรมเนียมเป็นแบบแผนไว้สำหรับพระองค์และพระธิดา เป็นพระกรณียกิจแบบฉบับเฉพาะพระองค์ที่ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพ เล่ากันว่าในเทศกาลทอดกฐิน นอกจากจะทรงเป็นผู้แทนพระองค์เชิญพระกฐินหลวงไปถวายตามพระอารามหลวงแล้วปีละ 2 วัด โดยส่วนมากจะเสด็จวัดพระปฐมเจดีย์ ในส่วนพระองค์ทรงเลือกวัดราษฎร์ที่ยากจนและอยู่หัวเมืองไกล ๆ อีก 3 วัด เพื่อเสด็จไปทอดกฐิน เล่ากันถึงวิธีการเลือกวัดดังกล่าวไว้ว่า จะโปรดให้คนในวังไปสำรวจหาวัดที่มีคุณสมบัติดังที่ทรงประสงค์ และเก็บข้อมูลมาเล่าถวายว่าสมควรจะได้รับพระอุปการะอย่างไร ด้านไหน ก็จะทรงช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการและยังประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่มหาดเล็กในวังเล่าไว้ว่า “...โปรดที่จะเสด็จไปทำบุญกับวัดที่ยากจน หรือไม่ก็ไม่มีใครเหลียวแลจริง ๆ...”[37] ส่วนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็โปรดที่จะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลอยู่เสมอ อาทิ วันมาฆบูชา ก็โปรดจะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลและทรงเวียนเทียนที่วัดพระปฐมเจดีย์ นอกจากนี้ยังทรงเคยเสด็จไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ๆ มาแล้วทั่วประเทศ อาทิ พระพุทธบาทสระบุรี พระแท่นดงรัง พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุดอยตุง พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ และในบางแห่งยังทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องราชสักการะถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ทรงสร้างต้นไม้เงินต้นไม้ทอง จากทองคำและเงิน สูงกว่า 1 ฟุต ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธชินราช[38]

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า 30 แห่ง ทั้งในส่วนที่สืบสานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโดยส่วนพระองค์เอง ในด้านการศึกษานั้น พระองค์ทรงอุปการะกิจการของสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนห้องสอนศึกษา [39] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงอุปการะกิจการของสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้ทรงตั้ง “ทุนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” เพื่อมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาของสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้แก่ โรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา โรงเรียนราชินีบูรณะ โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ โรงเรียนศรียานุสรณ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย[39] ในส่วนพระองค์นั้น พระองค์ทรงให้การอุปการะกิจการของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนเพชรรัตนราชสุดา และสถานศึกษาไว้ในพระอุปถัมภ์หลายแห่ง เช่น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ โรงเรียนเพชรรัชต์ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง โรงเรียนสยามธุรกิจและพณิชยการ โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนกองทัพอุปถัมภ์ เพชราวุธวิทยา [39][40]

ด้านการสาธารณสุข

ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระองค์ทรงตั้งกองทุนและมูลนิธิในโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น ทุนเพชรรัตนการุญ ในศิริราชมูลนิธิ โรงพยาบาลศิริราช มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร[39] นอกจากนี้ทรงรับมูลนิธิวชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย และมูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพไว้ในพระอุปถัมภ์[40] และทรงให้การอุปการะกิจการของโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[39]

ด้านงานอันเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบิดา

พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อรวบรวมข้อมูลพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและจัดตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือกิจการของหอวชิราวุธานุสรณ์[41][39]

ด้านการลูกเสือ เนตรนารี

พระองค์ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายกิจการ เช่น กิจการลูกเสือ-เนตรนารี พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอุปถัมภิกา คณะลูกเสือแห่งชาติ และทรงรับองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับลูกเสือและเนตรนารีไว้ในอุปถัมภ์หลายแห่ง ได้แก่ คณะลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์ สโมสรเนตรนารีเพชรรัชต์ สมาคมสโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย และสโมสรลูกเสือวิสามัญกรุงเทพฯ[39][40] ด้วยพระกรุณาที่พระองค์ทรงมีต่อกิจการลูกเสือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษแก่พระองค์เมื่อ พ.ศ. 2533 [42]

งานด้านสตรี

นอกจากนี้ ทรงรับองค์กรสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน ได้แก่ สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย สหพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย และสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร ไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยองค์กรสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนเหล่านี้จัดตั้งขึ้นเนื่องจากได้ตระหนักถึงพระราชดำริของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะให้สตรีไทยได้มีส่วนรับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเป็นสมาชิกแม่เสือควบคู่กับเสือป่า[39]

ด้านศิลปวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้แก่ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี และ พระราชวังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า[43] โดยพระองค์ทรงรับเป็นประธานในคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จนกระทั่งการบูรณะเสร็จสมบูรณ์ และมีการน้อมเกล้าถวายพื้นที่คืนให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาค้นคว้า รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ[44] ในส่วนของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี นั้น พระองค์ทรงจัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพื่อนำเงินที่ได้รับบริจาคของผู้มีจิตศรัทธามาบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันและทรงรับมูลนิธิไว้ในพระอุปถัมภ์[45] นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทไว้ในพระอุปถัมภ์ด้วย[46]

ด้านสังคมสงเคราะห์

ส่วนกิจกรรมสังคมสังเคราะห์ พระองค์ทรงบุกเบิกกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 โดยจัดขึ้นที่วังรื่นฤดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงานหารายได้เพื่อการกุศลสงเคราะห์ต่าง ๆ เมื่อวังสร้างเสร็จได้สองปี ก็มีงานการกุศลงานแรกคืองานเมตตาบันเทิง รื่นฤดี ซึ่งมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาทรงเป็นประธาน เพื่อหารายได้สมทบทุนสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อมายังมีอีกหลายงาน เช่น งานหาทุนสร้างหอพักเพชรรัตน ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, งานหาทุนสร้างตึกอุบัติเหตุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, งานหาทุนสร้างตึกเรียนวิทยาศาสตร์ วชิราวุธวิทยาลัย เป็นต้น[47] นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดาในพระองค์นั้น ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อการกุศล เช่น สงเคราะห์ผู้สละชีวิตเพื่อป้องกันประเทศชาติ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บำรุงโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ [39]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี http://www.akitia.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%... http://www.baanjomyut.com/library/ratchasuda/index... http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=alfajet&mo... http://news.ch7.com/detail/143393/%E0%B8%9E%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/16099/%E0%B8%9E%E0%B8%A... http://www.ch7.com/news/news_royal_detail.aspx?c=1... http://www.naewna.com/lady/3105 http://www.princessbejaratana.com/th/article_detai... http://www.princessbejaratana.com/th/article_detai... http://www.princessbejaratana.com/th/article_detai...