พระประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี

ประสูติ

ไฟล์:With mother2.jpgสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 12 นาฬิกา 52 นาที ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โดยประสูติก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว นอกจากนี้ เมื่อนับพระญาติทางฝ่ายพระมารดานั้น พระองค์นับเป็นพระญาติชั้นที่สามของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา และเป็นพระญาติชั้นที่สี่ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี[3][4]

ก่อนมีพระประสูติกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา[5] และมีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศที่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ทั้งนี้เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"[6]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปีติโสมนัสอย่างพ้นประมาณ ทรงเฝ้ารอพระประสูติการของพระหน่อพระองค์แรกอย่างจดจ่อ ด้วยทรงคาดหวังว่าจะประสูติเป็นพระราชโอรส ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ความว่า "...เมื่อฉันตั้งครรภ์เจ้าฟ้า ล้นเกล้าฯ ก็ทรงโสมนัส ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นชาย ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ เมื่อยังมีพระอนามัยดีอยู่ ก็มีรับสั่งอย่างสนิทเสน่หาทรงกะแผนการชื่นชมต่อพระเจ้าลูกยาเธอที่จะเกิดใหม่..."[7] ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบทำนองปลาทองไว้ล่วงหน้าอีกด้วย [note 1]

แต่แล้วเมื่อใกล้มีพระประสูติกาล ความชื่นบานทั้งหลายกลับกลายเป็นความกังวล เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ มีพระอาการรุนแรงขึ้นอย่างมิคาดฝัน ในยามนั้น พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่ง พระนางเจ้าสุวัทนา มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนา ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[8] จนรุ่งขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ พระบิดาซึ่งกำลังทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต[8]

พระนม (แม่นม) ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ บุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดยตำแหน่ง เพราะสมเด็จเจ้าฟ้า เสวยพระกษิรธาราจากพระมารดา มีคณะพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถวายอภิบาลในเบื้องต้น จากนั้นจึงมีคณะพระอภิบาลจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นอดีตคุณพนักงานในรัชกาลที่ 6 โดยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอภิบาลจนทรงเจริญพระวัยพอสมควร

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระนาม

พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468[9] และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) โดยก่อนสมโภชมีการคิดพระนามไว้ 3 พระนาม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี[10] ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทาน[8]
โดยพระนาม แปลว่า เจ้าฟ้าพระราชธิดาผู้มีพระชาติกำเนิดเป็นศรีดั่งดวงแก้ว เป็นพัชรแห่งมหาวชิราวุธ มีพระฉวีพรรณสิริโฉมงามพร้อม[11]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ปฏิทินสากลคือ พ.ศ. 2478) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อพระปิตุลา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศเปลี่ยนคำนำพระนาม “สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ” เป็น “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ”[12]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงคำนำพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ที่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ดังเดิม เนื่องจากคำว่า "ภคินี" หมายถึง ลูกพี่ลูกน้องหญิง[13] เนื่องจากสังคมไทยจะพิจารณาจากความเป็น "ลูกผู้พี่" และ "ลูกผู้น้อง"[14] จึงทรงพระนามตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ดังปรากฏในปัจจุบันว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ส่วนพระนามในภาษาอังกฤษตามทางราชการใช้ว่า "Her Royal Highness Princess Bejaratana Rajasuda Sirisobhabannavadi"[15]

เมื่อทรงพระเยาว์

หลังจากประสูติไม่นาน สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[16] ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่นแวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ

ขณะสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าทรงมีพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”[8]

ระหว่างทรงพระเยาว์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และกบฏบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม

จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส[16] ตำหนักแห่งนี้พระราชทานนามว่า พระตำหนักสวนรื่นฤดี มีหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร (ต่อมาได้ทรงขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองทัพบก)

สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ได้ทรงพระอักษรเบื้องต้นโดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมเจ้าเสมอภาค โสณกุล และพิศ ภูมิรัตน เป็นต้น จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2476[17] (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) โดยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทั้งอาจารย์และผู้ปกครอง พระองค์มีพระสหายสนิทในขณะนั้นคือ หม่อมราชวงศ์กอบศรี เกษมสันต์, โรสลิน เศวตศิลา และงามเฉิด อนิรุทธเทวา[17]

ต่อมาพระองค์ได้ทรงลาออกจากโรงเรียนราชินีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ขณะทรงพระอักษรในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4[17] เพื่อทรงพระอักษรต่อ ณ สวนรื่นฤดี โดยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงจ้างมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมาถวายพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษและวิชาการคำนวณ[17] ยังได้นำเด็ก ๆ ชาวต่างชาติมาร่วมกิจกรรมสนทนาภาษาอังกฤษ ว่ายน้ำและดื่มน้ำชาร่วมกับพระองค์เพื่อให้ทรงคุ้นเคยกับชาวต่างชาติและฝึกการรับสั่งภาษาอังกฤษด้วย[17] นอกจากนั้นยังได้ทรงศึกษากับพระอาจารย์ไทยเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนัก โดยมีหม่อมเจ้าเสมอภาค โสณกุล ถวายพระอักษรวิชาวรรณคดีไทยและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ โดยมีการถวายพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด[17]

ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ ประเทศอังกฤษ

ต่อมาใน พ.ศ. 2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเห็นว่าพระพลานมัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นักจึงนำพระธิดาไปทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว[18] พระองค์ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ กล่าวคือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค[18] ทั้งสองพระองค์ต้องประสบความยากลำบากนานัปการอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ[18] โดยผู้ที่รับใช้ภายในพระตำหนักจะเป็นสตรีทั้งหมด[18]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ ครั้นในช่วงเสด็จลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2473 พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนประจำสตรีชื่อโรงเรียนเซเครดฮาร์ต แคว้นเวลส์[17] ส่วนพระมารดาทางสถานทูตได้จัดให้ทรงพำนักในโรงแรมอิมพีเรียลในเมืองแลนดัดโน (อังกฤษ: Landudno) ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์และพระชนนีมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยโปรดให้เข้าเฝ้าและจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ[18] และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่าง ๆ ของชาวไทยอยู่เสมอ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักรเป็นประจำ นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา[18] และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระชนนีได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

นิวัตประเทศไทย

พระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อ พ.ศ. 2500 โปรดให้สร้างวังในซอยสุขุมวิท 38 (ซอยสันติสุข) โดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในปี พ.ศ. 2501 เพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2502 ประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[18] ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบจนสิ้นพระชนม์[19] ส่วนในช่วงฤดูร้อนพระองค์จะเสด็จแปรที่ประทับไปยังตำหนักพัชราลัย ถนนเพชรเกษม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พระมารดาสิ้นพระชนม์

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อ พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญดอกไม้และผลไม้ และสังเกตพระอนามัยของพระองค์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ มีการจัดตำรวจคอยอารักขาตลอดเวลา และโปรดฯ ให้ห้องเครื่องสวนจิตรลดาจัดเครื่องเสวยมาทุกวัน[20] นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังจัดกรมวัง และสารถีมาปฏิบัติหน้าที่ประจำทั้งภายในวังที่ประทับ และจัดเจ้าหน้าที่มาตกแต่งสถานที่ และปฏิบัติในเวลาที่มีงานพิเศษ เช่น งานวันคล้ายวันประสูติ และการทรงบำเพ็ญพระกุศลอย่างสมพระเกียรติยศทุกประการ[20] ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็โปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน มาเฝ้าและคอยติดตามพระอนามัย และใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย เช่น คลุมพระบรรทมและปลอกพระเขนยที่สวยงาม รวมไปถึงการจัดดอกไม้ที่พระองค์โปรดมาไว้ในห้องพระบรรทม เพื่อให้ทรงชื่นพระทัย[20]

สิ้นพระชนม์

พระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชันษา 85 ปี 8 เดือน 3 วัน[1][21]

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่พระโกศ ประดิษฐานบนพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระลองทองใหญ่ ภายใต้เบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง[22]

ต่อมา วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โดยให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) กางกั้นพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ [23]

นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา กับทั้งให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ ทั้งนี้มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป (ยกเว้นวันที่ 12 สิงหาคม เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)[24][25] ซึ่งพระราชพิธีพระศพจะจัดสมพระเกียรติเช่นเดียวกับพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555[26][27]

ส่วนพระอังคารนั้นถูกแบ่งเป็นสองส่วน[28] ส่วนแรกได้อัญเชิญไปบรรจุในเสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงบรรจุพระอังคารส่วนแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555[29]

ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงบรรจุพระอังคารส่วนที่สอง ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม[28] โดยได้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เคียงข้างพระราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดา และพระอังคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา[30]

ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ข้าราชบริพารนำโดย พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ได้อัญเชิญพระอังคารส่วนสุดท้ายที่จำเริญจากเตาเผาพระศพก่อนการรื้อพระเมรุไปลอยกลางทะเลอ่าวไทย บริเวณ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

อนึ่ง สัปตปฎลเศวตฉัตรสุมพระอัฐิ ได้เชิญไปถวายพระพุทธรูปปางประสูติ ในวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี http://www.akitia.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%... http://www.baanjomyut.com/library/ratchasuda/index... http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=alfajet&mo... http://news.ch7.com/detail/143393/%E0%B8%9E%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/16099/%E0%B8%9E%E0%B8%A... http://www.ch7.com/news/news_royal_detail.aspx?c=1... http://www.naewna.com/lady/3105 http://www.princessbejaratana.com/th/article_detai... http://www.princessbejaratana.com/th/article_detai... http://www.princessbejaratana.com/th/article_detai...