พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระเจ้าเสือเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระเพทราชา[9]

ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนมซึ่งเป็นพระราชธิดาในพญาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่[10] โดยคำให้การขุนหลวงหาวัดออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดี[11] ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้ากรมช้าง) โดยในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า มีเนื้อหาสอดคล้องกัน กล่าวคือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดแตกต่างไปจากคำให้การของขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้วได้ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นสนม แต่นางสนมเกิดตั้งครรภ์ พระองค์ได้ละอายพระทัยด้วยเธอเป็นนางลาว พระองค์จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา[11] ดังความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ ความว่า[12]

"แล้วเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่านางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน"

โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบฏชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การของขุนหลวงหาวัดว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น[11]

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่าพระนามเดิมของพระองค์คือ มะเดื่อ[12][13] ส่วนในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกว่า ดอกเดื่อ[14] เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตร ขณะพระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชาโดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก

จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2233 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2233 พระสรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา[15] แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2213[11]

ทัศนะ

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิทรงเชื่อว่าหลวงสรศักดิ์จะเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์ ทรงวินิจฉัยว่าในเมื่อหลวงสรศักดิ์รู้อยู่เต็มอกว่าสมเด็จพระนารายณ์คือพระราชบิดา เหตุไฉนจึงร่วมมือกับพระเพทราชาบิดาบุญธรรมปราบดาภิเษกชนกแท้ ๆ ของตน แทนที่จะประจบเอาใจขอราชสมบัติกับพระราชบิดาเมื่อครั้งยังประชวร ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ว่า "พระยาแสนหลวง" เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ที่ตกเป็นเชลยมายังกรุงศรีอยุธยานั้นก็มิได้มีฐานะต่ำต้อยอันใด ซ้ำยังจะดูมีหน้ามีตาเพราะสามารถต่อโคลงกับศรีปราชญ์ กวีในรัชกาลได้ ถ้าหากพระยาแสนหลวงเป็นพระสัสสุระของสมเด็จพระนารายณ์จริง ก็น่าจะเป็นที่ความภาคภูมิมากกว่าอับอาย และยังสามารถใช้การเสกสมรสดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองเข้าครอบครองล้านนาผ่านพระชายาได้[16]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี http://www.pptvthailand.com/sport/news/22592 http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://dl.kids-d.org/bitstream/handle/123456789/HA... http://www.kingdom-siam.org/ayudhya-e.html http://student.nu.ac.th/muaythaiboran/prawatmuay02... http://www.phichit.go.th/phichit/index.php/about/c... http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?b... https://web.archive.org/web/20030722030712/http://... https://web.archive.org/web/20160404040952/http://... https://web.archive.org/web/20160821074412/http://...