พระประวัติ ของ สมเด็จพระเชษฐาธิราช_เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2425 (ปฏิทินสากลคือ พ.ศ. 2426) เป็นองค์ต้นราชสกุล "จักรพงษ์"[3] พระราชโอรสพระองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการทหารเป็นเสนาธิการทหารบก โดยทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในเมืองไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศจากนายพลเอกเป็นจอมพล และทรงเป็นผู้ที่จัดส่งทหารอาสาเข้าทำการรบในสงครามครั้งนั้น ต่อมาสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคพระปับผาสะ ขณะเสด็จไปประทับพักผ่อนพระวรกายที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 สิริพระชนมายุ 37 พรรษา

พระองค์มีพระพี่น้องร่วมพระมารดา[4] คือ

จากซ้าย: สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ร.6), สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชาธิปกศักดิเดชน์ (ร.7)
  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
  2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
  4. จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
  6. พลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
  8. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษา

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และขุนบำนาญวรวัฒน์ (สิงโต) ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวังแล้ว จึงทรงศึกษาต่อที่นี้ทั้งวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีครูสอนภาษาอังกฤษคือ นายวุลสเลย์ ลูวีส และนายเยคอล พิลด์เยมส์[5] เมื่อพระองค์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพิษณุโลกประชานารถ[6] เมื่อมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษเพื่อเล่าเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีของคนอังกฤษและชาวยุโรปชั้นสูง[7] ในปี พ.ศ. 2439

ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ก็ได้เสด็จไปเยี่ยมจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระสหายของพระองค์ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารได้เคยเสด็จเมืองไทยเมื่อวันที่ 20-24 มีนาคม พ.ศ. 2433 และทางราชสำนักไทยได้ถวายการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จนจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยอย่างสูงสุด[8] ต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียแล้ว จักรพรรดินิโคลัส จึงได้ทรงชักชวนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งพระราชโอรสไปศึกษาที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งพระองค์ยินดีที่จะอุปการะเสมือนพระญาติวงศ์แห่งพระราชวงศ์โรมานอฟด้วยผู้หนึ่ง ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษอยู่แล้ว ให้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียต่อไป[9]

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะประทับศึกษาวิชาการทหารในประเทศรัสเซีย (ในภาพ ทรงฉลองพระองค์สำหรับร่วมงานเลี้ยงที่พระราชวังฤดูหนาวของรัสเซียในปี พ.ศ. 2446)สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ เมื่อเข้าประจำโรงเรียนเสนาธิการ

สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษภูวนารถ หรือ "ทูลกระหม่อมเล็ก" ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ประเทศรัสเซีย เมื่อพระชนมพรรษา 16 ปี[10] ในการไปศึกษาของพระองค์ในประเทศรัสเซียคราวนั้น มีผู้ตามเสด็จไปร่วมเรียนด้วยคือ นายพุ่ม สาคร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงที่สอบชิงทุนได้เป็นครั้งแรก นายพุ่ม สาคร โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นายพุ่มฯ เข้ารับการศึกษาร่วมกับพระราชโอรสด้วย ทั้งนี้ก็ด้วยพระบรมราโชบายเพื่อต้องการให้พระราชโอรสได้มีคู่แข่ง ก่อให้เกิดขัตติยะมานะพยายามเล่าเรียนอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยจักรพรรดินิโคลัส ได้รับสั่งให้พลตรี เคาน์ต เค็ลแลร์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก และนายร้อยเอกวัลเดมาร์ฆรูลอฟฟ์ นายทหารม้ารักษาพระองค์ เป็นผู้ดูแลแทนพระองค์อย่างกวดขัน[11]

ครั้นในปี พ.ศ. 2442 พระองค์ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทยเป็นครั้งแรก ต่อมาพระองค์เสด็จกลับไปศึกษาต่อยังประเทศรัสเซียในปี พ.ศ. 2443 จนถึงปี พ.ศ. 2445 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระองค์ แล้วด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ผลการสอบของพระองค์ในโรงเรียนนายร้อยฯ ปรากฏว่าพระองค์ทรงสอบไล่ได้ที่ 1 นายพุ่มสอบได้เป็นที่ 2 ยิ่งกว่านั้นผลการสอบของพระองค์ในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กในราชสำนักกรุงรุสเซีย ทรงทำคะแนนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของโรงเรียน ดังนั้นพระนามของพระองค์จึงได้ถูกจารึกไว้บนแผ่นศิลาอ่อนของโรงเรียน[9] ในเวลาต่อมา ทั้งพระองค์ฯ และนายพุ่มได้รับการบรรจุเป็นนายทหารม้าประจำกรมทหารม้าฮุสซาร์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ในปีนั้นเอง

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2446 พร้อมกันนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอกในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2446 [12] และในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้เสด็จกลับเพื่อการศึกษาชั้นสูงต่อไป เข้าประจำโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับนายพุ่ม พระสหายจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2448 ปรากฏว่าพระองค์ฯ ทรงสอบได้เป็นที่ 1 อีกครั้ง และจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยยิ่ง ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น นายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซียและเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ อีกทั้งยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์อันเดรย์ ชั้นสายสะพาย ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์อีกด้วย[13]

การรับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ[14] โดยได้รับพระราชทานพระยศนายพันเอกเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2449 [15]และได้ทรงเริ่มจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเยี่ยงอารยประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถจากนายพันเอกเป็นนายพลตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2451[16]และต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2452 พระองค์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้รั้งหน้าที่ เสนาธิการทหารบก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบทั้งในยามปกติและในยามสงคราม กับรั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง [17] และทรงจัดการวาง แนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการและการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา[5][18]

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก [19] พระภารกิจของพระองค์มีมากมายที่ต้องทรงปฏิบัติราชการทั้งกลางวันและกลางคืน ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังต้องทรงแบ่งเวลาสำหรับแต่งและแปลตำราวิชาการทหารสำหรับทำการสอบนักเรียนนายร้อย ด้วยพระวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง กับทั้งได้ทรงจัดระเบียบแบบแผนโรงเรียนนายร้อยขึ้นใหม่ โดยให้มีนักเรียนนายร้อยชั้นปฐม และนักเรียนนายร้อยชั้นมัธยมขึ้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารพระเชษฐาของพระองค์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เป็นนายพลโท เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ศกเดียวกัน[20]

การรับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2454 ขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมนั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือข่าวการเตรียมการก่อการกบฏของ "คณะ ร.ศ. 130" โดยฝ่ายกบฏได้กำหนดจะใช้กำลังทหารในพระนครบางส่วนเข้าทำการยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันขึ้นศกใหม่ ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455)[21] ซึ่งกลุ่มทหารผู้ก่อการในครั้งนั้นล้วนเป็นลูกศิษย์ของพระองค์แทบทั้งสิ้น[22] ดังนั้นพระองค์จึงได้วางแผนและทำการจับกุมในตอนเช้าตรู่ของวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 (ปฏิทินสากลคือ พ.ศ. 2455) และทรงรับหน้าที่เป็นประธานอำนวยการพิจารณาโทษพวกนี้อย่างเคร่งครัด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระองค์ขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่รัชกาลที่ 6 ทรงยับยั้งไว้ ทรงให้เหตุผลว่าทรงเชื่อถือในพระราชอนุชา[23]

ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นการจับกุมกบฏในปีนั้นแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้เสด็จไปกรุงลอนดอนเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนั้นในระหว่างประทับอยู่ในยุโรป พระองค์ยังได้ปฏิบติหน้าที่ราชการในการเชิญเจ้านายพระราชวงศ์ของเจ้าต่างประเทศในยุโรป เพื่อเสด็จมาในงานสมโภชพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2454[24] ครั้นวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ก็ได้ทรงรับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เลื่อนพระอิสริยยศจากกรมขุนฯ เป็นกรมหลวงฯ[11]

เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสด็จออกไปช่วยงานนี้ต่างพระองค์เป็นอย่างดีเยี่ยม ทั้งได้เสด็จเยี่ยมราชสำนักต่างประเทศอีกหลายแห่งและได้ทรงมอบให้ตรวจงานต่าง ๆ อีกหลายแห่ง อันจะเป็นประโยชน์แก่ราชการของประเทศไทย จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวง มีพระนามตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ นริศราชมหามกุฎวงศ์ จุฬาลงกรณ์นริจทร์ สยามพิชิตินวรางกูล สมบูรณพิสุทธิชาติ วิมโลภาสอุภัยปักษ์ อรรควรรัตนขัตตยราชกุมาร กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สิงหนาม ได้ทรงศักดินา 50,000 ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรมในบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ จงเจริญพระชนมายุ วรรณะ พละ ปฏิญาณ คุณสารสมบัติสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบูลศุภผล สากลเกียรติยศอิสริยศักดิ์มโหฬารทุกประการ” และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศจากพลโทเป็นพลเอก ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน[11]

พ.ศ. 2454 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทรงจัดให้มีการคัดเลือกนายทหาร 3 นายไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส[25] จากนั้นกระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศสมาด้วย จำนวน 8 เครื่อง จัดตั้งเป็นแผนกการบินที่สนามราชกรีฑาสโมสร (สนามม้าสระปทุม)[26] อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

ต่อมา จอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบินมาที่อำเภอดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 และทรงยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457[27]

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2457 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป พระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกล เพราะทรงศึกษาสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของประเทศคู่สงครามอย่างใกล้ชิด และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนี หน้าที่ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ส่วนราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ซึ่งต้องกระทำการสงครามร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การจัดกำลังทหารอาสาที่จะไปราชการสงครามยังทวีปยุโรป พระองค์ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปเป็นตามที่พระองค์ทรงวางแผนการไว้เป็นอย่างดียิ่ง ได้ทำการจับกุมชาวเยอรมันและชนชาติที่เข้ากับเยอรมันและยึดทรัพย์สินเชลยศึกในพระนครก็เป็นไปโดยเรียบร้อย[28] การส่งกำลังทหารไปทำราชการสงครามในคราวนั้นได้จัดเป็น 2 กอง คือกองบินทหารบก กองรถยนต์ทหารบกและหน่วยแพทย์อีก 1 หน่วย มีกำลังพลทั้งสิ้น 2,287 นายและในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศจากพลเอกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถเป็นจอมพล[29]แต่แทนที่พระองค์จะทรงดีพระทัยเช่นบุคคลทั้งหลายกลับปรากฏว่าไม่สู้จะเต็มพระทัยเลย เพราะพระองค์ทรงเห็นไปอีกทัศนะหนึ่งว่า ยศอันสูงสุดนั้นได้รับโดยมิได้ออกไปทำการรบ ณ สมรภูมิใดเลย จะเป็นการง่ายเกินไปสำหรับการพระราชทานอิสริยยศจอมพล[11]

ทหารไทยเดินสวนสนามที่ประตูชัยประเทศฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 1

หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระองค์ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบิน ทั้งในกิจการทหารและกิจการพลเรือน ในปี พ.ศ. 2462 โปรดให้ทดลองใช้เครื่องบินนำถุงไปรษณีย์จากดอนเมืองไปจังหวัดจันทบุรี และในเวลาต่อมาได้ใช้กิจการบินทำการส่งเวชภัณฑ์และลำเลียง ผู้เจ็บป่วยทางอากาศ นับว่าพระองค์ทรงวางรากฐานแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน[30]

ชีวิตในส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถนั้น หลังจากที่หม่อมคัทรินพระชายาได้เสด็จไปพักผ่อนเพื่อรักษาสุขภาพที่ประเทศญี่ปุ่นและแคนาดา หลังจากกลับมาพระองค์ก็ได้ทรงหย่าขาดจากกัน และในเวลาต่อมาพระองค์ก็ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตจะทำการสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงรับพระบรมราชานุญาต จึงทรงร่วมชีวิตกันเองโดยมิได้มีพิธีสมรส ด้วยเหตุเพราะขัดกับข้อบังคับสำหรับทหารบกที่พระองค์ทรงเป็นผู้ร่างเองว่า ต้องมีการพิธีเสกสมรส จึงจะอยู่กับคู่สมรสได้ ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงลาออกจากราชการทหาร แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับใบลาแล้ว ก็มิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออก และยังทรงขอแก้ไขข้อบังคับทหารข้อนั้นเป็นการผ่อนปรน แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ก็ทรงยืนยันกราบถวายบังคมทูลลาออกเช่นเดิม และในปีนั้นเองสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462[11]

ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในต้นปี พ.ศ. 2463[4] แล้วพระองค์จึงขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอลาพักผ่อน ครั้นเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระองค์ทรงแต่งตั้งให้พลตรีพระยาภักดีภูธร (ชื่น ภักดีกุล) เจ้ากรมแผนที่ทหารบกเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบกแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2463[11]

เสด็จทิวงคต

จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระองค์ตกลงพระทัยว่าจะเสด็จประพาสทะเลทางฝั่งแหลมมลายู ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงพาหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ พระชายา, พระโอรสคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และนายพันเอกพระยาสุรเสนา ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ตามเสด็จไปด้วย แต่ขณะที่เสด็จไปทางเรือไปตามแนวฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2463[5] ได้เพียงวันเดียว ก็มีพระอาการประชวรไข้ไปตลอดทาง กลายเป็นพระปับผาสะเป็นพิษ (เป็นโรคปอดบวม) ขณะที่เรือถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2463 พระอาการกำเริบหนักขึ้น ครั้นความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พันโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาและพันเอกพระศักดาพลรักษ์รีบออกไปสิงคโปร์โดยรถไฟพิเศษ เพื่อจัดการรักษาพยาบาลร่วมมือกันกับนายแพทย์ในเมืองสิงคโปร์ ซึ่งได้ถวายพระโอสถประคับประคองเต็มความสามารถอยู่แล้ว พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดตลอดมา และเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 เวลา 13 นาฬิกา 50 นาที[31] พระอาการกำเริบหนักเหลือกำลังที่พระองค์จะทนทานได้เสด็จทิวงคตในเวลานั้น[11]

การเสด็จทิวงคตของจอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความโศกเศร้าอาลัยต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและข้าราชการฝ่ายทหารอย่างสุดซึ้ง ดังปรากฏข้อความในคำนำหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ มีความตอนหนึ่งว่า

....นอกจากเธอเป็นน้องที่ข้าพเจ้ารักมากที่สุด เธอยังได้เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยราชการอย่างดีที่สุดหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ โดยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุมากกว่าเธอ ข้าพเจ้าจึงได้เคยหวังอยู่ว่าจะได้อาศัยกำลังของเธอต่อไปจนตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ฉะนั้นเมื่อเธอได้มาสิ้นชีวิตลงโดยด่วนในเมื่อมีอายุยังน้อย ข้าพเจ้าจะมีความเศร้าโศกอาลัยปานใด ขอท่านผู้ที่ได้เคยเสียพี่น้องและศุภมิตรผู้สนิทชิดใจจงตรองเองเถิด ข้าพเจ้ากล่าวโดยย่อ ๆ แต่เพียงว่าข้าพเจ้ารู้สึกตรงกับความที่สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงไว้ใน เตลงพ่ายว่า “ถนัดดั่งพาหาเหี้ยน หั่นให้ไกลองค์” [11]

เมื่อจอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคต สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา 3 เดือน 10 วัน พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช พระราชทานเศวตฉัตร 5 ชั้น ประดับเหนือพระโกศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2463 พระอังคารของพระองค์ได้บรรจุไว้ที่อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐานสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามตราบเท่าทุกวันนี้[11]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระเชษฐาธิราช_เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ http://203.155.220.217/pathumwan/wellpathum/chulau... http://203.155.220.230/passbkk/passbkk.htm http://www.13june-cpc.com/wizContent.asp?wizConID=... http://www.13june-cpc.com/wizContent.asp?wizConID=... http://thaiairways21.blogspot.com/2017/02/blog-pos... http://www.eduzones.com/knowledge-2-2-33095.html http://www.eduzones.com/knowledge-2-2-33490.html http://www.maneebooks.com/German_capt/germ_04.html http://www.maneebooks.com/German_capt/germ_11.html http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/20...