ประวัติศาสตร์ ของ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย

ภูมิหลัง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเซาท์คอเคซัสถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิรัสเซียในช่วงครึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19[8] ได้มีการจัดตั้งเขตอุปราชคอเคเซียขึ้นใน ค.ศ. 1801 เพื่อกระจายอำนาจการปกครองจากรัสเซียสู่ภูมิภาคได้โดยตรง และในช่วงหลายทศวรรษถัดมา อำนาจในการปกครองตนเองของเขตอุปราชลดลง และอำนาจก็ถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลางรัสเซียมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม เขตอุปราชได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นใน ค.ศ. 1845[9] โดยเมืองติฟลิส (ปัจจุบันคือ ทบิลีซี) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรคาร์ทลี–กาเฆที ได้กลายเป็นศูนย์กลางของเขตอุปราชและเมืองหลวงโดยพฤตินัยของภูมิภาคนี้[10] ภูมิภาคเซาท์คอเคซัสส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชนบทอย่างท่วมท้น ยกเว้นเมืองสำคัญอย่างติฟลิสและบากู[lower-alpha 4][11] ซึ่งเติบโตขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อภูมิภาคเริ่มส่งออกน้ำมันและกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ[12] ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก โดยมีสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน และชาวจอร์เจีย ส่วนชาวรัสเซียนั้นเริ่มมีจำนวนมากขึ้นภายหลังจากที่จักรวรรดิรัสเซียได้ผนวกภูมิภาคนี้[13]

จากการประทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914 ภูมิภาคคอเคซัสได้กลายเป็นสมรภูมิหลักของการต่อสู้ระหว่างรัสเซียและจักรวรรดิออตโตมัน[14] กองทัพรัสเซียได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องและเริ่มรุกรานดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างไรก็ตาม ทางการรัสเซียกังวลว่าประชากรท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากเป็นชาวมุสลิม จะให้การสนับสนุนสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 5 และหันมาต่อต้านกองทัพรัสเซีย เนื่องจากสุลต่านทรงเป็นกาหลิบ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลาม[15] ทั้งสองฝ่ายพยายามปลุกปั่นชาวอาร์มีเนียที่อยู่บริเวณชายแดนเพื่อให้เกิดการลุกฮือขึ้น[16] อย่างไรก็ตาม หลังความพ่ายแพ้ทางทหารของจักรวรรดิออตโตมัน รัฐบาลออตโตมันได้หันมาต่อต้านชาวอาร์มีเนียเสียเอง และกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน ค.ศ. 1915 ซึ่งมีชาวอาร์มีเนียประมาณ 1 ล้านคนที่ถูกสังหาร[17][18]

หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงและได้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในรัสเซีย ในช่วงแรก เจ้าอุปราชแห่งคอเคซัส แกรนด์ดยุกนีโคไล ได้แสดงความสนับสนุนรัฐบาลใหม่อย่างเปิดเผย แต่ต่อมาพระองค์ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่ออำนาจของจักรพรรดิถูกล้มล้าง[19] ทางรัฐบาลชั่วคราวได้จัดตั้งคณะปกครองชั่วคราวขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย" (ชื่อย่อในภาษารัสเซียคือ "โอซาคอม"[lower-alpha 5]) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 9 มีนาคม] ซึ่งภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนแห่งคอเคเซียจากสภาดูมา (สภานิติบัญญัติรัสเซีย) และผู้นำท้องถิ่นอื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็น "คณะอุปราช" และเหล่าผู้แทนของคณะต่างก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักของภูมิภาคนี้ทั้งสิ้น[21][22] เช่นเดียวกับในเปโตรกราด[lower-alpha 6] ที่ระบบอำนาจควบคู่ได้ก่อตัวขึ้น เนื่องจากความพยายามชิงดีชิงเด่นกันระหว่างโอซาคอมและสภาโซเวียต[lower-alpha 7][24] แต่ด้วยการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลในเปโตรกราด จึงเป็นเรื่องยากที่โอซาคอมจะมีอำนาจเหนือสภาโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาโซเวียตติฟลิส[25]

คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย

เมื่อข่าวการปฏิวัติเดือนตุลาคม ซึ่งนำไปสู่การเถลิงอำนาจของบอลเชวิคในเปโตรกราดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 25 ตุลาคม] ได้แพร่กระจายไปยังคอเคซัสในวันต่อมา สภาโซเวียตติฟลิสจึงจัดประชุมและประกาศต่อต้านบอลเชวิคโดยทันที สามวันต่อมา นอย จอร์ดาเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย ได้เสนอแนวคิดการปกครองตนเองของรัฐบาลท้องถิ่น โดยอ้างว่าการยึดอำนาจของบอลเชวิคกระทำอย่างผิดกฎหมาย และทางคอเคซัสไม่ควรปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขาและควรรอจนกว่าจะมีการกลับคืนระเบียบ[26] จากการประชุมเพิ่มเติมของเหล่าผู้แทนจากสภาโซเวียตติฟลิส โอซาคอม และคณะอื่น ๆ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 15 พฤศจิกายน] ได้มีการตัดสินใจยุติบทบาทของโอซาคอม และแทนที่ด้วยคณะปกครองใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมนอบน้อมต่อบอลเชวิค ภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนจากสี่กลุ่มชาติพันธุ์หลักในภูมิภาค (ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย) โดยคณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียได้เข้ามาแทนที่โอซาคอมในฐานะรัฐบาลแห่งเซาท์คอเคซัส และถูกกำหนดให้ทำหน้าที่นั้นจนกระทั่งการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 อิฟเกนี เกเกชโครี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานและกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ[27] ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ของคณะกรรมาธิการได้ถูกแบ่งสรรกันระหว่างชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย[28] คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะคณะไม่สามารถปกครองได้อย่างมั่นคง กล่าวคือ การตัดสินใจภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงขึ้นอยู่กับสภาแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและมีบรรทัดฐานตามกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมาธิการจึงขาดการสนับสนุนทางทหารและไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ[29]

กองทัพรัสเซียและออตโตมันยังคงต่อสู้กันต่อไปในภูมิภาคนี้ กระทั่งมีการลงนามในการสงบศึกชั่วคราวแอร์ซินจัน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 5 ธันวาคม][30] เมื่อการสู้รบได้ยุติลง ในวันที่ 16 มกราคม 1918 [ตามปฎิทินเก่า: 3 มกราคม] นักการทูตออตโตมันได้เชิญชวนให้คณะกรรมาธิการเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่บอลเชวิคได้ทำการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการไม่ต้องการดำเนินการสิ่งใดโดยอิสระจากรัสเซีย จึงไม่ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลออตโตมันและไม่ได้มีส่วนร่วมกับการเจรจาสันติภาพนี้[31] สองวันต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 5 มกราคม] สภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียได้จัดการประชุมเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ก่อนที่บอลเชวิคจะยุบสภา เพื่อรักษาเสถียรภาพการปกครองเหนือรัสเซีย[32] ถือเป็นการยืนยันว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถร่วมมือกับบอลเชวิคในกิจการที่เกินความสามารถได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงเริ่มก่อตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการมากขึ้น[33] การสงบศึกระหว่างจัรรรดิออตโตมันและคณะกรรมาธิการยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 17 มกราคม] เมื่อกองทัพออตโตมันได้เข้ารุกรานคอเคซัสอีกครั้ง โดยอ้างว่าการรุกรานครั้งนี้เป็นการตอบโต้การโจมตีประชากรชาวมุสลิมในดินแดนออตโตมันของกองกำลังติดอาวุธชาวอาร์มีเนีย[34] เมื่อกองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากแนวหน้าเป็นส่วนใหญ่ คณะกรรมาธิการเกรงว่าจะไม่สามารถต้านทานการรุกรานของออตโตมันครั้งนี้ได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการจึงเริ่มเจรจาสันติภาพอีกครั้ง[30]

สภาเซย์ม

นีโคไล ชเฮอิดเซ ดำรงตำแหน่งประธานสภาเซย์ม

แนวคิดการจัดตั้งสภานิติบัญญัติทรานส์คอเคเซียได้มีการหารือกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการดำเนินการในเวลานั้นก็ตาม[35] เมื่อมีการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนมกราคม บรรดาผู้นำของคณะกรรมาธิการจึงเล็งเห็นว่าความสัมพันธ์กับรัสเซียต้องถูกตัดขาดออกไปทั้งหมดอย่างแน่นอน เมื่อไม่มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติตามผู้นำบอลเชวิค คณะกรรมาธิการจึงตกลงที่จะจัดตั้งสภานิติบัญญัติของตนเอง เพื่อให้ภูมิภาคทรานส์คอเคซัสมีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จึงมีการประกาศจัดตั้ง "สภาเซย์ม" ('สภานิติบัญญัติ') ขึ้นในเมืองติฟลิส[36]

ไม่มีการเลือกตั้งอื่นใดสำหรับสมาชิกสภาผู้แทน โดยผู้แทนในแต่ละคนได้รับคัดเลือกจากผลการเลือกตั้งของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง และเกณฑ์การเลือกตั้งถูกลดลงเหลือหนึ่งในสามของผู้แทนในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้พรรคเล็กได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นอีกด้วย[lower-alpha 8][37] สมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย นีโคไล ชเฮอิดเซ ได้รับตำแหน่งเป็นประธานสภา[38] ในท้ายที่สุด โครงสร้างของสภาเซย์มจึงประกอบไปด้วยสิบพรรค มีสามพรรคถูกครอบงำ ซึ่งแต่ละพรรคเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์หลักหนึ่งกลุ่ม พรรคเมนเชวิคจอร์เจียและพรรคมูซาวาทแห่งอาเซอร์ไบจาน แต่ละพรรคมีจำนวนสมาชิก 30 คน และสหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนีย (Dashnaktsutyun) มีจำนวนสมาชิก 27 คน[37] บอลเชวิคประกาศคว่ำบาตรสภาเซย์ม โดยอ้างว่ารัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแห่งเดียวของรัสเซีย (รวมถึงทรานส์คอเคเซีย) นั้นคือคณะกรรมการราษฎรของบอลเชวิค (หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ซอฟนาร์คอม")[lower-alpha 9][36]

ในช่วงเริ่มแรก สภาเซย์มต้องเผชิญกับความท้าทายต่ออำนาจ เนื่องด้วยผู้แทนส่วนใหญ่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย และสภาก็ไม่ได้มีสถานะของอำนาจที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในสภาเอง[39] สภาเซย์มยังคงพึ่งพาสภาแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนจากสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก และสภาเซย์มจะไม่สามารถดำเนินการสิ่งใดได้ หากปราศจากความยินยอมจากสภาแห่งชาติ[1] ทางจักรวรรดิออตโตมันได้เสนอให้มีการต่ออายุสัญญาสันติภาพและยินดีที่จะให้มีการเจรจากันในติฟลิส ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งหลักของสภาเซย์ม แต่ทางสภาเซย์มเกรงว่าอีกฝ่ายจะรู้ซึ้งถึงความอ่อนแอภายในสภา จึงมีการตกลงเลือกสถานที่เจรจา ณ เมืองทรับซอนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอานาโตเลีย[40]

การประชุมสันติภาพทรับซอน

คณะผู้แทนของสภาเซย์มมีกำหนดการเดินทางไปที่ทรับซอนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม แต่ในวันนั้นได้มีการประกาศว่าการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และรัสเซียก็ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ[41] ภายในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์กล่าวถึงข้อตกลงที่รัสเซียจะต้องยอมสละดินแดนผืนใหญ่ให้แก่จักรวรรดิออตโตมัน รวมถึงภูมิภาคทรานส์คอเคซัสด้วย ทั้งดินแดนอาร์ดาฮัน แคว้นบาทูม และแคว้นคาร์ส ซึ่งทั้งหมดเคยถูกผนวกโดยรัสเซียหลังสงครามรัสเซีย-ตุรกี ค.ศ. 1877–1878[42] ด้วยเหตุการณ์กระทันหันเช่นนี้ คณะผู้แทนจึงเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไป เนื่องด้วยสภาเซย์มต้องพิจารณาจุดยืนของตนใหม่[43] การที่ทรานส์คอเคซัสไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ทำให้ทางสภาจำเป็นต้องส่งสารไปยังรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก โดยระบุว่าสภาเซย์มไม่ใช่คณะในการเจรจาสันติภาพ ทางสภาจะไม่เคารพสนธิสัญญาและจะไม่พลัดถิ่นออกจากจากดินแดน[44] ที่สุดแล้วคณะผู้แทนจึงออกเดินทางเมื่อวันที่ 7 มีนาคม และมาถึงทรับซอนในวันถัดมา[45] เมื่อมาถึงยังทรับซอน คณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจำนวนสิบคนและทหารอารักขาอีกห้าสิบคนถูกเชิญให้ปลดอาวุธ คณะผู้แทนที่มีขนาดใหญ่ผิดปกตินี้ประกอบไปด้วยบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและกลุ่มการเมืองที่ประกอบเป็นสภาเซย์ม[46] เมื่อคณะผู้แทนเดินทางมาถึงที่เจรจา เจ้าหน้าที่ชาวออตโตมันคนหนึ่งได้กล่าวเหน็บแนมว่า "ถ้านี่คือประชากรทั้งหมดของทรานส์คอเคเซีย มันถือว่ามีขนาดเล็กมากจริง ๆ แต่ถ้านี่คือคณะผู้แทน มันคงมีขนาดใหญ่เกินไป"[44]

ขณะที่คณะผู้แทนรอเริ่มการประชุมสันติภาพในทรับซอน ทางผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันภาคที่ 3 เวฮิป พาชา ได้ส่งคำร้องถึงเอฟเกนี เลเบดินสกี [ru] อดีตนายพลรัสเซียที่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยบอกให้คณะกรรมาธิการถอนอำนาจออกจากพื้นที่อาร์ดาฮัน บาตูม และคาร์ส ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ นอกจากนี้เวฮิปยังได้แจ้งกับอีลียา โอดีเชลิดเซ ผู้ซึ่งรับใช้คณะกรรมาธิการอีกว่า เนื่องจากการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธอาร์มีเนียต่อประชากรที่อยู่ใกล้เคียงกับแอร์ซูรุม ทางกองทัพออตโตมันจึงจำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลเพื่อรักษาสันติภาพ พร้อมแจ้งเตือนถึงการใช้กำลังในการตอบโต้ศัตรู คำร้องเหล่านี้ได้รับการตอบกลับโดยตรงจากนีโคไล ชเฮอิดเซ ประธานสภาเซย์ม ซึ่งในบันทึกตอบกลับนั้นมีใจความว่า ทรานส์คอเคซัสได้ส่งคณะผู้แทนไปยังทรับซอนเพื่อเจรจาสันติภาพ และสภาเซย์มก็ไม่ได้ยอมรับอำนาจของรัสเซีย ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะยอมรับการลงนามในเบรสท์-ลีตอฟสก์[47][48] เมื่อวันที่ 11 มีนาคม กองทัพออตโตมันเริ่มการโจมตีแอร์ซูรุมโดยไม่มีความหวังที่จะประสบผลสำเร็จ ชาวอาร์มีเนียส่วนใหญ่จึงเริ่มอพยพออกจากแอร์ซูรุมภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา[49]

การประชุมสันติภาพทรับซอนมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม สำหรับการประชุมในชุดแรก หัวหน้าคณะผู้แทนของออตโตมัน Rauf Bey ได้ตั้งคำถามแก่คณะผู้แทนทรานส์คอเคเซียว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของใคร ทางอะคากี ชเฮนเคลี หัวหน้าคณะผู้แทนทรานส์คอเคเซีย ไม่สามารถให้ตำตอบที่เหมาะสมได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของตัวเขาและผู้แทนคนอื่นว่าเป็นตัวแทนของใคร เมื่อคำถามเดิมได้ถูกถามในอีกสองวันต่อมานั้น Rauf ยังขอให้ชเฮนเคลีชี้แจงถึงองค์ประกอบของรัฐตน เพื่อพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเป็นรัฐหนึ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ชเฮนเคลีชี้แจงว่าตั้งแต่การปฏิวัติเดือนตุลาคม อำนาจส่วนกลางได้ถูกระงับลงในทรานส์คอเคเซีย มีการจัดตั้งรัฐบาลอิสระและปฏิบัติหน้าที่เหมือนดังรัฐหนึ่ง และเมื่อรัฐบาลได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ จึงถือว่าทรานส์คอเคเซียมีคุณสมบัติเป็นรัฐอธิปไตย แม้ว่าจะไม่มีการประกาศเอกราชอย่างชัดเจนก็ตาม[50] Rauf หักล้างข้อโต้แย้งดังกล่าว โดยอ้างว่าซอฟนาร์คอมมีอำนาจเหนือรัสเซียทั้งหมด และแม้ว่าผู้แทนของออตโตมันจะส่งข้อความไปยังคณะกรรมาธิการ เพื่อให้เข้าร่วมการเจรจาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทรานส์คอเคเซียได้รับการยอมรับ ในท้ายที่สุด Rauf ระบุว่าคณะผู้แทนของออตโตมันอยู่ที่ทรับซอนเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการค้าบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการตัดสินที่เบรสท์-ลีตอฟสก์เท่านั้น ชเฮนเคลีและเหล่าผู้แทนจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากขอเวลาพักในช่วงสั้น ๆ เพื่อส่งข้อความถึงสภาเซย์มว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป[51]

ใกล้เคียง

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ สหพันธรัฐ สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ สหพันธ์เอเชียนเกมส์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย http://doi.org/10.1080%2F23761199.2020.1714877 http://doi.org/10.1080%2F23761199.2020.1714877 https://api.semanticscholar.org/CorpusID:213498833 http://doi.org/10.1080%2F23761199.2020.1712902 http://doi.org/10.1080%2F23761199.2020.1712902 https://api.semanticscholar.org/CorpusID:213610541 http://doi.org/10.1080%2F23761199.2020.1712897 http://doi.org/10.1080%2F23761199.2020.1712897 https://halshs.archives-ouvertes.fr/halshs-0178340... http://doi.org/10.1080%2F23761199.2016.1173369