ดินแดนใต้อาณัติ ของ สันนิบาตชาติ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ประเทศผู้แพ้ เช่น เยอรมนี และจักรวรรดิออตโตมันจำต้องสละอาณานิคมซึ่งเป็นบทลงโทษจากประเทศผู้ชนะสงคราม การประชุมสันติภาพที่ปารีสจึงได้ตกลงให้รัฐบาลต่าง ๆ บริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาต เรียกว่า ดินแดนใต้อาณัติ (mandate) ซึ่งอำนาจของสันนิบาตในการจัดการได้รับการรับรองจากมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติ โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติเป็นผู้ดูแล

ดินแดนใต้อาณัติถูกแบ่งออกเป็นสามประเภท A B C ตามมาตรา 22

  • A คือดินแดนที่เคยอยู่ในจักรวรรดิออตโตมันมาก่อน ที่ "ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ได้รับมอบอาณัติเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะสามารถปกครองตนเองได้"
  • B คือดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของเยอรมนีมาก่อน ที่ "ต้อง[ได้รับการเข้ามาดูแล]เพื่อรักษาเสรีภาพทางมโนธรรมและศาสนา...และเพื่อยับยั้งการค้าทาส การค้าอาวุธ"
  • C คือเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่ "สมควรที่สุดที่จะอยู่ใต้อาณัติ... เพื่อที่ชนพื้นเมืองจะได้รับการปกป้องดังที่กล่าวมาแล้ว[สำหรับ B]

ส่วนประเทศมหาอำนาจขณะนั้น 7 ประเทศได้ รับมอบอาณัติ (mandatory) คือมีอำนาจปกครองดินแดนใต้อาณัติของสันนิบาต ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหพันธ์แอฟริกาใต้, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ดินแดนใต้อาณัติทั้งหมดไม่ได้รับเอกราชจวบจนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ยกเว้นประเทศอิรักประเทศเดียวที่ได้รับเอกราชและเข้าร่วมสันนิบาตในปี ค.ศ. 1932 หลังจากสันนิบาตถูกยุบดินแดนใต้อาณัติเหล่านี้ถูกโอนไปให้สหประชาชาติดูแล เรียกว่า ดินแดนมอบหมายของสหประชาชาติ (United Nations Trust Territories) และเป็นเอกราชทั้งหมดในปี ค.ศ. 1990

นอกจากดินแดนใต้อาณัติแล้ว สันนิบาตยังปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำซาร์เป็นเวลา 15 ปี ก่อนจะจัดให้มีประชามติ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี และยังปกครองเสรีนครดันท์ซิช (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์) ตั้งแต่ค.ศ. 1920 - 1939

ใกล้เคียง

สันนิบาตชาติ สันนิบาตอาหรับ สันนิบาตดีเลียน สันนิบาตฮันเซอ สันนิบาตบอลข่าน สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ สันนิบาตสามจักรพรรดิ สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย สันนิบาตผมแดง สันนิบาตอวามี