ที่มา ของ สันนิบาตชาติ

การ์ดที่ระลึกในโอกาสก่อตั้งสันนิบาต คนในรูปคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ผู้เสนอให้ก่อตั้งองค์การนี้ขึ้น

แนวความคิดของประชาคมนานาชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติมีมานานแล้ว ในปี ค.ศ. 1795 อิมมานูเอล คานต์ เสนอให้มีการก่อตั้งองค์การที่จะไกล่เกลี่ยของพิพาทและรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในงานเขียนของเขา Perpetual Peace: A Philosophical Sketch[1] โดยเขาย้ำว่าแนวทางนี้ไม่ใช่การให้มีรัฐบาลปกครองโลก แต่ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเคารพพลเมืองของตน และต้อนรับชาวต่างประเทศในลักษณะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน สันติภาพระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น[2]

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามนโปเลียนในศตวรรษที่ 19 ก็มีความพยายามร่วมมือกันเพื่อให้ยุโรปมีความมั่นคงยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เกิดอนุสัญญาเจนีวาขึ้นเพื่อมนุษยธรรมระหว่างสงคราม และอนุสัญญาเฮกซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ของสงครามและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ และในปี ค.ศ. 1889 นักรณรงค์สันติภาพได้ก่อตั้งสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการเจรจาและการทูตในการแก้ไขข้อพิพาท[3]

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีกลุ่มอำนาจใหญ่สองกลุ่มในยุโรปที่ขัดแย้งกัน และเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีทหารเสียชีวิต 8.5 ล้านนาย ผู้บาดเจ็บ 21 ล้านคน และพลเรือนเสียชีวิต 10 ล้านคน สงครามนี้ได้ส่งผลกระทบในทุกด้านของชีวิต และทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามทั่วโลก จนเกิดวลีเรียกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า "สงครามเพื่อที่จะหยุดสงครามทั้งหมด" และมีการสืบสวนถึงสาเหตุอย่างถี่ถ้วน ซึ่งพบว่าเกิดจาก การแข่งขันทางอาวุธ พันธมิตร การทูตลับ และเสรีภาพในการเข้าร่วมสงครามของรัฐต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงมีการเสนอให้มีองค์การระหว่างประเทศที่จะทำหน้าที่หยุดสงครามในอนาคตด้วยการลดอาวุธ การทูตอย่างเปิดเผย การตัดสินข้อพิพาท ความร่วมมือระหว่างชาติ การควบคุมสิทธิในการเข้าร่วมสงคราม และการลงโทษประเทศที่ทำผิดกฎ

บุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้สันนิบาตชาติเป็นความจริงขึ้นมาคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา การตั้งสันนิบาตชาติเป็นหนึ่งในหลักการสิบสี่ข้อของวิลสัน ซึ่งข้อ 14 ระบุว่า การรวมตัวกันของประชาชาติควรจะถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้พันธะที่แน่นอนเพื่อจุดประสงค์ที่สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้กับทุกฝ่าย และให้การรับรองแก่รัฐที่มีขนาดเล็กกว่าเทียบเท่ากับตนเอง โดยการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นมา[4] โดยในระหว่างการประชุมสันติภาพที่ปารีส ซึ่งมีสามประเทศใหญ่ผู้ชนะสงครามเข้าร่วมคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แนวความคิดการก่อตั้งสันนิบาตชาติของวิลสันได้รับการยอมรับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายส์

กติกาสันนิบาตชาติถูกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการพิเศษ โดยมี 44 ประเทศที่เซ็นยอมรับกติกานี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดีแม้วิลสันจะประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้สันนิบาตชาติเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีเดียวกัน แต่รัฐสภาอเมริกากลับมีมติไม่ยอมให้ประเทศอเมริกาเข้าร่วมสันนิบาต เนื่องจากเกรงว่าจะมีข้อผูกมัดตามมา ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สันนิบาตล่มในเวลาต่อมา

สันนิบาตชาติเปิดประชุมคณะมนตรีหกวันหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์มีผลบังคับใช้ ต่อมาสำนักงานใหญ่ถูกย้ายไปกรุงเจนีวา และมีการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920

ใกล้เคียง

สันนิบาตชาติ สันนิบาตอาหรับ สันนิบาตดีเลียน สันนิบาตฮันเซอ สันนิบาตบอลข่าน สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ สันนิบาตสามจักรพรรดิ สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย สันนิบาตผมแดง สันนิบาตอวามี