การเลี้ยงดู ของ สาหร่ายมาริโมะ

ซึ่งการเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะนั้น แท้ที่จริงแล้วมีการเลี้ยงกันอย่างยาวนานแล้วสำหรับวงการไม้น้ำ หรือผู้ที่นิยมการเลี้ยงปลาขนาดเล็กในตู้ไม้น้ำ โดยเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น "มอสบอล" (Moss ball), "เลคบอล" (Lake ball) หรือ "คลาโดโฟราบอล" (Cladophora ball) เป็นต้น การเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะในตู้เลี้ยงปลานั้นมิได้ง่ายนัก เพราะเป็นสาหร่ายที่จะเจริญเติบโตได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ คือ ประมาณ 15-29 องศาเซลเซียส และค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH) ประมาณ 6-8.5 หากอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส จะทำให้สาหร่ายมาริโมะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองและตายได้ในที่สุด อีกทั้งยังต้องให้อาหาร ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยน้ำ สำหรับการเลี้ยงไม้น้ำทั่วไป และต้องเลี้ยงในสถานที่ที่มีแสงสว่างไม่มากนัก เพราะสาหร่ายมาริโมะในธรรมชาติอาศัยอยู่ในระดับความลึกที่แสงส่องผ่านไปไม่ถึง อีกทั้งยังต้องการคาร์บอนอีกด้วย ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถให้คาร์บอนได้ ด้วยการนำไปแช่ในน้ำเปล่าผสมโซดาในอัตราโซดา 2 ส่วนใน 3 ของภาชนะ แล้วที่เหลือใส่น้ำเปล่าลงไปผสม เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง และยังต้องทำความสะอาดสาหร่ายมาริโมะด้วยเพื่อรักษาความสะอาด อีกทั้งน้ำที่เลี้ยงควรจะผสมเกลือลงไป ในอัตราเกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 0.5 ลิตร เพื่อให้มีรสเค็ม เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สาหร่ายมาริโมะอาศัยอยู่มีแร่ธาตุอาหารมากมายจากน้ำพุร้อน จึงทำให้น้ำมีรสเค็ม สาหร่ายมาริโมะยังไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาหรือสัตว์น้ำที่ทำลายไม้น้ำ เช่น ปลาทองหรือปลาหางนกยูง เป็นต้น

ซึ่งหากเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะได้อย่างถูกต้องแล้ว สาหร่ายมาริโมะจะปล่อยฟองอากาศซึ่งเป็นออกซิเจนออกมาเกาะตามตัวหรือลอยขึ้นไปบนผิวน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการสังเคราะห์แสง และมีอายุยืนนานได้มากกว่า 100 ปี แต่สาหร่ายมาริโมะในสถานที่เลี้ยงจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการแบ่งสปอร์ เนื่องจากสภาวะอันแตกต่างจากในธรรมชาติ คงได้แต่การแตกตัวเป็นก้อนเล็ก ๆ ซึ่งผู้เลี้ยงไม่ควรดึงให้แยกตัวกันเอง เพราะเสี่ยงมากต่อการตาย[1]