ประวัติ ของ สำเนียงตากใบ

มาร์วิน บราวน์ (Marvin Brown) ศึกษาภาษาถิ่นของไทยและให้ความเห็นว่าภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบมีวิวัฒนาการมาจากภาษาสุโขทัยโดยตรง ในตากใบเองก็มีตำนานที่เกี่ยวข้องกับเมืองเหนือ เช่น กรุงสุโขทัย จนทำให้ภาษามีเอกลักษณ์เฉพาะ ตำนานแรกเล่าว่าตากใบเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัย จึงมีขุนนางสุโขทัยเดินทางมาปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ จึงสันนิษฐานว่ามีกำแพง และวัง หรือวัดปรักหักพังที่บ้านโคกอิฐ และเมื่อขุนนางสุโขทัยเดินทางมาที่ตากใบแล้วย่อมมีบริวารตามมาหลายคน ด้วยเหตุนี้เอง วัฒนธรรมภาษาพูดเมืองเหนือจึงผสมผสานกับภาษาชาวตากใบ และวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมในวัด ไม่ว่าจะเป็นวิหาร ศาลาการเปรียญ มีรูปแบบและศิลปะค่อนไปทางเหนือ ส่วนตำนานที่สองกล่าวถึงชาวสุโขทัยติดตามช้างเชือกสำคัญมาทางเมืองใต้ ในที่สุดมาตั้งหลักแหล่งที่ตากใบ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีชื่อหมู่บ้าน และตำบลเกี่ยวข้องกับช้าง เช่น บ้านไพรวัลย์ มาจากคำว่า บ้านพลายวัลย์ (ปัจจุบันเป็นตำบลไพรวัน) สถานที่ช้างลงอาบน้ำ เดิมเรียก บ้านปรักช้าง ต่อมาเปลี่ยนเป็น ฉัททันต์สนาน ซึ่งเป็นชื่อวัดในหมู่บ้านนี้ เล่ากันว่ามีช้างสำคัญมาล้มที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกว่า บ้านช้างตาย ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันเรียกเป็นภาษามลายูว่า บ้านกาเยาะมาตี อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า เมื่อครั้งทัพไทยสมัยโบราณยกไปตีหัวเมืองมลายู มีคนไทยลงมาตั้งหมู่บ้านคอยต้อนรับกันเป็นทอดๆ จะเห็นว่าปัจจุบันมีบางหมู่บ้านที่มีชาวบ้านพูดจาคล้ายๆเสียงของชาวตากใบ เช่นที่อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี ในจังหวัดปัตตานี และชาวบ้านในอำเภอสุไหงปาดี และอำเภอแว้ง ในจังหวัดนราธิวาส