ประวัติ ของ สิงคโปร์แอร์ไลน์

จุดเริ่มต้น

เครื่องบิน Airspeed Consul (VR-SCD) ซึ่งเป็นอากาศยานประเภทแรกที่สายการบินมลายาแอร์ไลน์ใช้บิน สายการบินดังกล่าวเป็นบริษัทผู้บุกเบิกของสิงคโปร์แอร์ไลน์

สิงคโปร์แอร์ไลน์เริ่มต้นด้วยการก่อตั้งสายการบินมลายาแอร์เวย์ (MAL) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2480 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวระหว่าง Ocean Steamship Company of Liverpool, the Straits Steamship Company of Singapore และอิมพีเรียลแอร์เวย์ เที่ยวบินแรกของสายการบินเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากนิคมช่องแคบในสิงคโปร์ไปยังกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2490 ด้วยเครื่องบิน Airspeed Consul สองเครื่องยนต์[17] ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ได้เริ่มให้บริการเที่ยวบินปกติตามตารางเวลาจากสิงคโปร์ไปกัวลาลัมเปอร์ อิโปห์ และปีนัง สัปดาห์ละครั้ง ด้วยเครื่องบินแบบเดียวกับเที่ยวบินแรก[18] ต่อมาใน พ.ศ. 2498 มลายาแอร์เวย์ได้เริ่มนำเครื่องบิน ดักลาส ดีซี 3 หลายลำเข้ามาเพิ่มในฝูงบิน และนำมาให้บริการใน พ.ศ. 2500 อากาศยานอื่นๆ ที่ใช้งานในช่วงสองทศวรรษแรกได้แก่ ดักลาส ดีซี 4 สกายมาสเตอร์, Vickers Viscount, Lockheed L-1049 Super Constellation, Bristol Britannia, de Havilland Comet 4 และ Fokker F27

เมื่อ พ.ศ. 2506 มลายา สิงคโปร์ ซาบะฮ์ และซาราวัก ได้รวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย ทำให้ชื่อของสายการบินถูกเปลี่ยนจาก "มลายาแอร์เวย์" เป็น "มาเลเซียแอร์เวย์" แล้วได้ควบกิจการของสายการบินบอร์เนียวแอร์เวย์เข้ามา ต่อมาใน พ.ศ. 2509 สิงคโปร์ได้แยกตัวออกจากสหพันธรัฐ ชื่อของสายการบินจึงถูกเปลี่ยนอีกครั้งเป็นมาเลเซีย-สิงคโปร์แอร์ไลน์ (MSA) ปีต่อมาสายการบินได้ขยายตัวมากขึ้นทั้งในด้านฝูงบินและเส้นทางบิน รวมถึงการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 707 ซึ่งเป็นอากาศยานของโบอิงลำแรกของสายการบิน และการเปิดสำนักงานแห่งใหม่ในสิงคโปร์ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 737 เข้ามาเพิ่มในฝูงบินอีก

การก่อตั้งบริษัทและการเติบโต

เครื่องบินโบอิง 747-400 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ชื่อเครื่องว่า Megatop ที่ท่าอากาศยานโอกแลนด์ นิวซีแลนด์ เครื่องบินลำนี้จัดเป็นเรือธงของสายการบินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จนกระทั่งเริ่มใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550

ใน พ.ศ. 2515 สายการบินมาเลเซีย-สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้ยกเลิกการบินเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่งผลให้สายการบินแยกออกเป็นสองบริษัท คือ สิงคโปร์แอร์ไลน์ และมาเลเซียแอร์ไลน์[19][20][21] ซึ่งสิงคโปร์แอร์ไลน์ยังคงใช้และให้บริการสิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นของมาเลเซีย-สิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้แก่ เครื่องบินโบอิง 707 และ 737 รวม 10 ลำ เส้นทางระหว่างประเทศที่ออกจากสิงคโปร์ รวมถึงสำนักงานในสิงคโปร์ ซึ่งมี เจ. วาย. ปิลไล อดีตผู้บริหารร่วมของมาเลเซีย-สิงคโปร์แอร์ไลน์ เป็นประธานคนแรกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ พนักงานต้อนรับหญิงยังคงสวมเครื่องแบบ โสร่ง เกอบายา ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2511

ในช่วงทศวรรษที่ 1970s สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการเพิ่มเส้นทางบินไปยังเมืองในอนุทวีปอินเดียและเอเชีย และการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 747 เพิ่มเข้ามาในฝูงบิน Mr Yong Nyuk Lin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารในขณะนั้น ได้กล่าวในพิธีต้อนรับเครื่องบินโบอิง 747 สองลำแรกของสายการบิน ที่ท่าอากาศยานปายาเลบาร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2516 เวลา 16.00 น. ไว้ว่า

May I emphasise that SIA as an organisation will continue to succeed only so long as the men and women behind it will not relax but continue to work diligently, plan boldly, and strive for excellence in performance.[22]

ในช่วงทศวรรษที่ 1980s สิงคโปร์แอร์ไลน์เริ่มเปิดเส้นทางบินไปยังเมืองในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป โดยมีมาดริดเป็นเมืองแรกในลาตินอเมริกา-สเปนที่สายการบินเปิดเส้นทางบิน ต่อมาใน พ.ศ. 2532 สายการบินได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 747-400 เพิ่มเติม และตั้งชื่อว่า Megatops ตามมาด้วยเครื่องบินโบอิง 777 แอร์บัส เอ 310 และแอร์บัส เอ 340 และในทศวรรษที่ 1990s ได้เปิดเส้นทางบินไปยังแอฟริกาตอนใต้ โดยมีโยฮันเนสเบิร์กในแอฟริกาใต้เป็นเมืองแรก ตามมาด้วยเคปทาวน์และเดอร์บัน

Modern History

เมื่อ พ.ศ. 2547 สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้เปิดเส้นทางบินตรงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากสิงคโปร์ไปยังลอสแอนเจลิสและนูอาร์ก โดยใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 ซึ่งเป็นการบินตรงระหว่างสิงคโปร์กับสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และเส้นทางระหว่างสิงคโปร์กับนูอาร์กยังได้รับการบันทึกไว้ว่าใช้เวลาบินมากที่สุดในบรรดาเส้นทางบินเชิงพาณิชย์ทั่วโลก โดยใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมง นอกจากนี้สายการบินยังได้ปรับเปลี่ยนผังที่นั่งบนเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 จำนวนห้าลำที่ใช้บินไปยังลอสแอนเจลิสและนูอาร์ก จากเดิมที่เป็นชั้นธุรกิจ 64 ที่นั่งและชั้นประหยัดพิเศษ 117 ที่นั่ง ให้เป็นชั้นธุรกิจทั้งสิ้น 100 ที่นั่ง[23]

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 รัฐบาลออสเตรเลียได้ตัดสินใจไม่อนุญาตให้สิงคโปร์แอร์ไลน์ทำการบินระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาก่อนบินกลับหรือหลังบินออกจากสิงคโปร์[24] ซึ่งทางสายการบินได้โต้กลับว่าการตัดสินใจครั้งนี้สืบเนื่องจากเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากออสเตรเลียประสบปัญหาผู้โดยสารน้อย ทำให้รัฐบาลพยายามจำกัดการแข่งขันและตั้งค่าโดยสารไว้ค่อนข้างสูง[24] โดยอ้างว่าเป็นมาตรการคุ้มครองสายการบินแคนตัสจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น[25] ทั้งนี้สิงคโปร์แอร์ไลน์เคยเผชิญกับมาตรการคุ้มครองลักษณะนี้มาก่อนเมื่อครั้งมีการร้องทุกข์จากสายการบินแอร์แคนาดา จนทำให้สิงคโปร์แอร์ไลน์ถูกระงับเส้นทางบินไปยังโตรอนโต และเคยถูกเพิกถอนสิทธิการใช้เครื่องบินโบอิง 747-400 บินไปยังจาการ์ตาอันเนื่องมาจากการประท้วงของสายการบินการูดาอินโดนีเซียที่ไม่สามารถแข่งขันด้วยเครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ได้[26]

แอร์บัส เอ 380

เครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์

เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 3XX (ชื่อเรียกของ เอ 380 ในขณะนั้น) จำนวน 25 ลำ มูลค่ารวม 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยเครื่องบินที่สั่งซื้อขาด 10 ลำ และสั่งจองล่วงหน้า 15 ลำ[27] สายการบินได้ยืนยันคำสั่งซื้อในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 สายการบินได้เปิดตัวคำขวัญ "First to Fly the A380 - Experience the Difference in 2006" เพื่อประชาสัมพันธ์ในการเป็นสายการบินแรกที่สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบเครื่องบินภายในไตรมาสที่สองใน พ.ศ. 2549[28] แต่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 แอร์บัสได้ประกาศว่าเกิดปัญหาทางเทคนิคโดยไม่คาดคิด ทำให้การส่งมอบเบื้องต้นต้องถูกเลื่อนออกไปอีกหกเดือน[29]เป็นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ทำให้ Chew Choon Seng ประธานบริหารของสิงคโปร์แอร์ไลน์แถลงว่าอาจฟ้องร้องแอร์บัส โดยกล่าวว่า

Airbus took some time to acknowledge the delay in the timetable for the A380's entry into service...I would have expected more sincerity.[30]

Chew Choon Seng ยังได้กล่าวอีกว่า สิงคโปร์แอร์ไลน์จะหันไปให้ความสำคัญต่อโบอิงแทน เนื่องจากได้รับส่งมอบเครื่องบินโบอิง 777-300ER ก่อนเอ 380 แต่อย่างไรก็ตาม สายการบินได้ส่งสัญญาณว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลต่อนโยบายส่งเสริมการตลาด

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เครื่องบินแอร์บัสเอ 380 ลำแรกที่ลงลวดลายของสิงคโปร์แอร์ไลน์เรียบร้อยแล้วได้มาถึงสิงคโปร์ แล้วถูกนำไปแสดงในงาน Asian Aerospace 2006 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ในปีเดียวกัน สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 787 เพื่อการขยายตัวของฝูงบินในอนาคต คำสั่งซื้อประกอบด้วยโบอิง 787-9 จำนวน 20 ลำ และสั่งจองอีก 20 ลำ คำสั่งซื้อนี้ออกหนึ่งวันหลังจากแอร์บัสประกาศเลื่อนการส่งมอบเอ 380 ออกไปอีก 6 เดือน

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แอร์บัสประกาศเลื่อนการส่งมอบเป็นครั้งที่สาม ทำให้กำหนดส่งมอบเอ 380 ลำแรกเลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคมในปีถัดไป[31]

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เที่ยวบินพาณิชย์เที่ยวแรกที่ใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 380 เที่ยวบิน SQ 380[32] พาผู้โดยสาร 455 คนออกจากสิงคโปร์ไปยังซิดนีย์ ถึงท่าอากาศยานซิดนีย์เวลา 15:24 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีสื่อมากมายไปทำข่าวเกี่ยวกับเที่ยวบินแรกนี้[33] วันต่อมาสายการบินมอบรายได้ทั้งหมดจากเที่ยวบินนี้ให้แก่องค์กรการกุศลสามแห่ง สิงคโปร์แอร์ไลน์เริ่มใช้งานเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ตามตารางเที่ยวบินจริงในวันที่ 28 ตุลาคม ปีเดียวกัน

ปัจจุบันเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ใช้ในเส้นทางบินไปยังซิดนีย์ โตเกียว ปารีส ฮ่องกง เมลเบิร์น และซูริก วันละหนึ่งเที่ยวบิน และไปลอนดอนวันละสองเที่ยวบิน

สิงคโปร์แอร์ไลน์เปิดเที่ยวบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 วันละสามเที่ยวบินเป็นการชั่วคราวระหว่างสิงคโปร์และลอนดอน ตั้งแต่วันที่ 23-28 เมษายน พ.ศ. 2553 เพื่อระบายผู้โดยสารที่ตกค้างก่อนหน้าไม่กี่วันเนื่องจากเหตุภูเขาไฟ Eyjafjallajökull ปะทุ

การลดขนาดฝูงบิน

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 สายการบินได้ประกาศระงับการใช้งานอากาศยาน 17 ลำในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อลดค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับปัญหาจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าลดลง โดยแรกเริ่มนั้นได้วางแผนว่าจะระงับการใช้งานเพียงสี่ลำ และสายการบินได้แถลงว่าจำเป็นต้องเลื่อนการส่งมอบอากาศยานที่จัดซื้อแล้วออกไปก่อน[34][35]

ใกล้เคียง

สิงคโปร์แอร์ไลน์ สิงคโปร์พรีเมียร์ลีก สิงคโปร์แอร์ไลน์คาร์โก สิงคโปร์สลิง สิงคโปร์ สิงคโปร์คัพ สิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 006 สิงคโปร์ฟลายเออร์ สิงคโปร์ในเอเชียนเกมส์ 1951 สิงคโปร์ (เมืองหลวง)

แหล่งที่มา

WikiPedia: สิงคโปร์แอร์ไลน์ http://news.ninemsn.com.au/article.aspx?id=290092 http://www.popsci.com.au/military-aviation-amp-spa... http://www.smh.com.au/news/Business/Air-Asia-chief... http://www.theage.com.au/articles/2003/07/31/10594... http://www.bitre.gov.au/publications/11/Files/0308... http://www.china.org.cn/english/travel/241889.htm http://www.airbus.com/en/presscentre/pressreleases... http://www.airdisaster.com/photos/9v-smt/photo.sht... http://travel.asiaone.com/Travel/News/Story/A1Stor... http://travel.asiaone.com/Travel/News/Story/A1Stor...