การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน ของ สิทธิเก็บกิน

"ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว"
ป.พ.พ. ม.1299
"ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"
ป.พ.พ. ม.1300
"บทบัญญัติแห่งสองมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงการเปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาแห่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วยโดยอนุโลม"
ป.พ.พ. ม.1301
"สิทธิเก็บกินนั้น จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้

ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านในสันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินมีอยู่ตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิ

ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ท่านว่าสิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ"
ป.พ.พ. ม.1418
ดูเพิ่มที่ ทรัพยสิทธิ

ตามกฎหมายไทยนั้น สิทธิเก็บกินเป็นทรัพยสิทธิ (อังกฤษ: real right; ละติน: jus in rem) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีขึ้นได้ก็แต่โดยการตกลงทำนิติกรรมกันเพื่อก่อสิทธิเก็บกิน โดยนิติกรรมก่อสิทธิเก็บกิน รวมตลอดถึงนิติกรรมเปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาซึ่งสิทธิเก็บกิน อยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับทรัพยสิทธิอื่น ๆ มิฉะนั้น ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ จะเป็นแต่บุคคลสิทธิ (อังกฤษ: personal right; ละติน: jus in personam) เท่านั้น กล่าวคือ จะเป็นแต่สิทธิที่ใช้ยันกันได้เฉพาะคู่กรณีเท่านั้น ไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1299-1301[6]

อนึ่ง สิทธิเก็บกินนั้นจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้ ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากัน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดเวลานั้นคือชั่วชีวิตผู้ทรงสิทธิ และสิทธิเก็บกินย่อมระงับไปโดยมรณะของผู้ทรงสิทธิเสมอ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1418 ซึ่งแสดงว่าสิทธิเก็บกินเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ไม่ใช่สิทธิที่จะโอนให้แก่กันได้ ทว่า สิทธิเก็บกินนั้นผู้ทรงสิทธิอาจให้ผู้อื่นใช้แทนตนได้

ฎ.4470/2528 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ครั้งที่ 11/2514) ว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรโจทก์และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8704. จำเลยทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินดังกล่าวจนตลอดชีวิต. เนื่องจากสิทธิเก็บกินที่โจทก์ได้มาดังกล่าวไม่บริบูรณ์ เพราะมิได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่, โจทก์ขอร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนหลายครั้ง จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา. ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินตามฟ้อง. จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลย, สัญญาที่โจทก์อ้างนั้นเกี่ยวกับเรื่องอื่น และเกิดขึ้นโดยการบังคับขู่เข็ญของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลย, โจทก์ฟ้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว ฟ้องจึงขาดอายุความ, จำเลยให้โจทก์อยู่ในที่ดินดังกล่าวอย่างปกติสุขดีอยู่แล้ว แม้จะอยู่โดยปราศจากสิทธิ. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า โจทก์ฟ้องเมื่อเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญาคดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง.

โจทก์อุทธรณ์. ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้เข้าใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาตลอดมา, สิทธิร้องขอให้จดทะเบียนเพื่อให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้บริบูรณ์ย่อมเกิดขึ้นและมีอยู่กับโจทก์ตราบเท่าที่โจทก์ยังใช้สิทธิเก็บกินอยู่, อายุความยังไม่เริ่มนับฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ, พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ. ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตของโจทก์ในที่ดินของจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2498, การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลยเช่นนี้ เป็นการทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น, และเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งสิทธิเก็บกินอันเป็นทรัพยสิทธิก็ย่อมบริบูรณ์ตามกฎหมาย. สิทธิของโจทก์ตามนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณี ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินยังมิได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่น และจำเลยผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนให้ตามสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนได้. ซึ่งตาม ป.พ.พ. ม.168 (ป.พ.พ. ม.193/32 ปัจจุบัน) สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยประนีประนอมยอมความนั้นให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี และตาม ป.พ.พ. ม.169 (ป.พ.พ. ม.193/12 ปัจจุบัน) ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป. แม้โจทก์จะเพิ่งยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2511 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าคำให้การของจำเลยยอมรับอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้เข้าใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินโดยความยินยอมของจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดมา. ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยยอมให้โจทก์ได้เข้าใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดมานั้น เป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องได้ทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม.172 แล้ว อายุความฟ้องร้องของโจทก์จึงสะดุดหยุดลง, และตาม ป.พ.พ. ม.181 ว.2 (ป.พ.พ. ม.193/15 ปัจจบัน) ตราบใดที่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นยังไม่สุดสิ้น อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ, ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่, พิพากษายืน.

ฎ.2380/2542 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ครั้งที่ 1/2542) ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 65923 และ 65930 ตำบลสวนใหญ่ (บางตะนาวศรี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย. จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์. จำเลยอุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน. จำเลยฎีกา.

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2519 โจทก์ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 65923 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 15/22 ถึง 15/23 และที่ดินโฉนดเลขที่ 65930 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 15/48 ถึง 15/50 และ 15/25 ถึง 15/26 ให้แก่จำเลย, และจำเลยตกลงด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตลอดชีวิตของโจทก์. แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่. ข้อเท็จจริงได้ความจากนางจิราพรรณบุตรอีกคนหนึ่งของโจทก์ เบิกความว่า โจทก์ยกที่ดินแปลงอื่นและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุตรของโจทก์ทุกคน ซึ่งบุตรทุกคนยินยอมให้โจทก์เก็บค่าเช่ากินไปตลอดชีวิต, บุตรทุกคนจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่าเมื่อครบกำหนดสัญญา ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น. ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องตลอดชีวิตของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย, ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น, และเมื่อได้มีการจดทะเบียนเช่นนั้นแล้ว การได้มาโดยนิติกรรมดังกล่าวซึ่งสิทธิเก็บกินอันเป็นทรัพยสิทธิก็ย่อมบริบูรณ์ตามกฎหมายสมเจตนาของคู่กรณี. สิทธิของโจทก์ตามนิติกรรมดังกล่าวนี้เป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณี ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้. พิพากษายืน.

ใกล้เคียง

สิทธิ สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเรียงตามประเทศหรือดินแดน สิทธิ เศวตศิลา สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สิทธิเก็บกิน สิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย สิทธิชัย ผาบชมภู สิทธิพร นิยม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สิทธิเก็บกิน http://www2.publicationsduquebec.gouv.qc.ca/dynami... http://www.isaanlawyers.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%... http://dictionary.reference.com/browse/Usufruct http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.thailawonline.com/th/property/usufruct-... http://www.thecorpusjuris.com/laws/statutes/republ... http://bundesrecht.juris.de/englisch_bgb/index.htm... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.wordplanet.org/ti/03/1.htm http://www.wordplanet.org/ti/03/19.htm