ผลของสิทธิเก็บกิน ของ สิทธิเก็บกิน

การสลายลงของทรัพย์สินอันอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกิน

"ถ้าทรัพย์สินสลายไปโดยไม่ได้ค่าทดแทนไซร้ ท่านว่าเจ้าของไม่จำต้องทำให้คืนดี แต่ถ้าเจ้าของทำให้ทรัพย์สินคืนดีขึ้นเพียงใด ท่านว่าสิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเพียงนั้น

ถ้าได้ค่าทดแทนไซร้ ท่านว่าเจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ต้องทำให้ทรัพย์สินคืนดีเพียงที่สามารถทำได้ตามจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้รับ และสิทธิเก็บกินกลับมีขึ้นเพียงที่ทรัพย์สินกลับคืนดี แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะทำให้กลับคืนดีได้ สิทธิเก็บกินก็เป็นอันสิ้นไป และค่าทดแทนนั้นต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สินและผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามส่วนแห่งความเสียหายของตน

วิธีนี้ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมถึงกรณีซึ่งทรัพย์สินถูกบังคับซื้อ และกรณีซึ่งทรัพย์สินสลายไปแต่บางส่วน หรือการทำให้คืนดีนั้นพ้นวิสัยในบางส่วน"
ป.พ.พ. ม.1419

ตามกฎหมายไทยแล้ว หากอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินสลายไป โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นไม่ได้รับค่าทดแทน เจ้าของจะได้ทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาดังเดิมก็ได้ แต่ถ้าทำให้กลับมาเพียงใด สิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเพียงนั้น (ป.พ.พ. ม.1419 ว.1) เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านสองหลัง ต่อมาถูกไฟไหม้ป่นปี้ไปทั้งสองหลัง เจ้าของบ้านสร้างใหม่ขึ้นเพียงหลังเดียว สิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเหนือบ้านที่สร้างขึ้นใหม่หลังเดียวนั้น[7]

ในกรณที่ทรัพย์สินดังกล่าวเสื่อมสลายไป และเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินเหนือทรัพย์สินนั้นได้รับค่าทดแทนมาด้วยแล้ว เขาคนใดคนหนึ่งมีหน้าที่ต้องทำให้ทรัพย์สินกลับคืนมาเท่าที่ค่าทดแทนดังกล่าวจะอำนวย และสิทธิเก็บกินก็จะกลับคืนมาเพียงที่ทรัพย์สินนั้นกลับคืนดี แต่ถ้าไม่สามารถจะทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับมาเหมือนเดิมอีก สิทธิเก็บกินเหนือทรัพย์สินนั้นก็จะสิ้นสุดลง และค่าทดแทนที่ได้มานั้นต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สินและผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามส่วนแห่งความเสียหายของแต่ละคน (ป.พ.พ. ม.1419 ว.2)

เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านมูลค่าหนึ่งล้านบาท ผู้ทรงสิทธินำบ้านออกให้เช่าราคาเดือนละหนึ่งหมื่นบาท สิทธิเก็บกินเหลืออีกสิบเดือนก็จะสิ้นสุดลง เผอิญบ้านถูกไฟไหม้ป่นปี้ลงเสียก่อน เจ้าของบ้านได้ค่าทดแทนมาหนึ่งแสนบ้านซึ่งย่อมไม่พอที่จะสร้างบ้านเช่นนั้นขึ้นใหม่ได้อีก สิทธิเก็บกินจึงสิ้นสุดลง ส่วนเงินหนึ่งแสนบาทนั้น โดยที่เจ้าของบ้านเสียบ้านไปเป็นมูลค่าหนึ่งล้านบาท ส่วนผู้ทรงสิทธิเสียประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าไปสิบเดือน เดือนละหนึ่งหมื่นบ้าน เป็นทั้งหมดหนึ่งแสนบาท จึงแบ่งกันโดยเจ้าของบ้านได้ร้อยละ 90.91 คือ เก้าหมื่นเก้าร้อยสิบบาท และผู้ทรงสิทธิได้ร้อยละ 6.09 คือ เก้าพันเก้าสิบบาท[8]

การส่งทรัพย์สินคืนเมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นสุดลง

"เมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นลง ผู้ทรงสิทธิต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ

ถ้าทรัพย์สินสลายไปหรือเสื่อมราคาลง ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินใช้ทรัพย์สินสิ้นเปลืองไปโดยมิชอบ ท่านว่าต้องทำให้มีมาแทน

ถ้าทรัพย์สินเสื่อมราคาเพราะการใช้ตามควรไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่จำเป็นต้องให้ค่าทดแทน"
ป.พ.พ. ม.1420

ตามกฎหมายไทยแล้ว เมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นลง ผู้ทรงสิทธิต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ และต้องรับผิดในกรณีที่เขาเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมสลายหรือเสื่อมราคาลง ตลอดจนต้องหาทรัพย์สินใหม่มาทดแทนให้เจ้าของในกรณีที่เขาใช้ทรัพย์สินนั้นสิ้นเปลืองไปโดยมิชอบ (ป.พ.พ. ม.1420 ว.1-3)

ทว่า ถ้าทรัพย์สินเสื่อมราคาลงการใช้ตามสมควรแล้ว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ไม่ต้องรับผิด (ป.พ.พ. ม.1420 ว.4)

การรักษาทรัพย์สินอย่างวิญญูชน

ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนั้นมิใช่ว่ามีสิทธิใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วจะใช้อย่างไรก็ได้ตามใจ ทว่า ต้องปฏิบัติต่อทรัพย์สินนั้นเช่นเดียวกับที่วิญญูชน (อังกฤษ: reasonable person) พึงทำกับทรัพย์สินของตนเอง ดังที่ ป.พ.พ. ม.1421 ว่า "ในการใช้สิทธิเก็บกินนั้น ผู้ทรงสิทธิต้องรักษาทรัพย์สินเสมอกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง" เช่น เดิมผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีบ้านเป็นของตนเอง เวลาสูบบุหรี่ก็มักทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นบ้านตนเอง ครั้นมีสิทธิเก็บกินเหนือบ้านของบุคคลอื่น จะทิ้งก้นบุหรี่เหมือนกับที่เคยทำต่อบ้านของตนเองหาได้ไม่ เพราะวิญญูชนที่ไหนจะทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นบ้านตนเอง[9]

การโอนการใช้สิทธิเก็บกิน

"ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธินั้นจะโอนการใช้สิทธิของตนให้บุคคลภายนอกก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรง"
ป.พ.พ. ม.1422

สิทธิเก็บกินนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิ เมื่อผู้ทรงสิทธิตายสิทธินั้นก็สิ้นสุดลง จะโอนให้แก่หาได้ไม่แม้โดยทางมรดกก็ตาม (ดู การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน) ทว่า ในระหว่างที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินยังมีสิทธิอยู่ เขาอาจให้บุคคลอื่นใช้สิทธิเก็บกินแทนเขาก็ได้ กรณีฉะนี้เรียก "การโอนการใช้สิทธิ" มิใช่การโอนสิทธิ และบุคคลผู้รับโอนการใช้สิทธิเก็บกินอาจถูกเจ้าของทรัพย์สินที่ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินฟ้องร้องได้โดยตรงในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างระหว่างกัน (ป.พ.พ. ม.1422) ซึ่ง มานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า[9]

ตัวบทมาตรา 1422...ไม่ได้ให้โอนสิทธิเก็บกิน...ตัวสิทธิเก็บกินนั้นจะยังคงอยู่กับตัวผู้ทรงสิทธิเก็บกิน อันเป็นผลทำให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์สินต่อไปตามเดิม และเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกินตาย สิทธิเก็บกินตาย สิทธิเก็บกินรวมทั้งการใช้สิทธิที่โอนไปนั้นก็ย่อมระงับตามไปด้วย

อนึ่ง การที่มีการโอนการใช้สิทธิเก็บกินไผให้ผู้รับโอนนั้น ทำให้เจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรงได้ เช่น ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิเก็บกินในบ้านเป็นระยะเวลายี่สิบปี ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนำบ้านออกให้เช่า ซึ่งถือว่าเป็นการโอนการใช้สิทธิอย่างหนึ่ง หากผู้เช่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านที่เช่า ผู้เป็นเจ้าของ [บ้าน] อาจฟ้องให้ผู้เช่ารับผิดโดยตรงได้

การคัดค้านการใช้ทรัพย์สินในทางมิชอบ

"เจ้าของทรัพย์สินจะคัดค้านมิให้ใช้ทรัพย์สินในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควรก็ได้

ถ้าเจ้าของพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของตนตกอยู่ในภยันตราย ท่านว่าจะเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินหาประกันให้ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีซึ่งผู้ให้ทรัพย์สินสงวนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง

ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินละเลยไม่หาประกันมาให้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้เพื่อการนั้น หรือถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินมินำพาต่อคำคัดค้านแห่งเจ้าของยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควรไซร้ ท่านว่าศาลจะตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินแทนผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ได้ แต่เมื่อหาประกันมาให้แล้ว ศาลจะถอนผู้รักษาทรัพย์ที่ตั้งขึ้นไว้นั้นก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1423

เจ้าของทรัพย์สินที่อยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินนั้นสามารถคัดค้านมิให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินใช้ทรัพย์สินนั้นไปในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควร (ป.พ.พ. ม.1423 ว.1) เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านพักตากอากาศหลังหนึ่ง ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเอาไปทำเป็นโรงแรมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านย่อมคัดค้านมิให้ทำเช่นนั้นได้ [10]

อนึ่ง ถ้าเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าสิทธิในทรัพย์สินของตนกำลัตกอยู่ในภยันตรายโดยเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน เขาจะร้องขอต่อศาลเพื่อเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจัดหาประกันมาให้ว่าจะไม่เกิดภยันตรายฉะนั้น เว้นแต่ในกรณีซึ่งผู้ให้ทรัพย์สินสงวนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง (ป.พ.พ. ม.1423 ว.2) เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านหลังหนึ่ง ครั้นใกล้กำหนดที่สิทธินั้นจะสิ้นสุดลง ผู้ทรงสิทธิเตรียมรื้อถอนขุดบ้านออกขาย เจ้าของบ้านย่อมฟ้องศาลบังคับให้ผู้ทรงสิทธิจัดหาประกันความเสียหายที่จะเกิดได้[10]

ในการนี้ ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินละเลยไม่จัดหาประกันภายในเวลาตามที่กำหนดให้โดยสมควร หรือวางเฉยต่อคำคัดค้านแห่งเจ้าของทรัพย์สินโดยยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นต่อไปในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควร เจ้าของทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อเข้ามาจัดการทรัพย์สินดังกล่าวแทนผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ได้ จนกว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะจัดหาประกันมาให้ (ป.พ.พ. ม.1423 ว.3)

การสงวนภาวะแห่งทรัพย์สิน

"ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องสงวนภาวะแห่งทรัพย์สินมิให้เปลี่ยนไปในสาระสำคัญ กับต้องบำรุงรักษาปกติและซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

ถ้าจำเป็นต้องซ่อมแซมใหญ่ หรือมีการสำคัญอันต้องทำเพื่อรักษาทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องแจ้งแก่เจ้าของทรัพย์สินโดยพลันและต้องยอมให้จัดทำการนั้น ๆ ไปถ้าเจ้าของทรัพย์สินละเลยเสีย ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะจัดทำการนั้นไปโดยให้เจ้าของทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1424
"ค่าใช้จ่ายอันเป็นการจรนั้น ท่านว่าเจ้าของต้องเป็นผู้ออก แต่เพื่อจะออกค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้หรือค่าใช้จ่ายตามความในมาตราก่อน เจ้าของจะจำหน่ายทรัพย์สินบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะเต็มใจทดรองเงินตามที่จำเป็นโดยไม่คิดดอกเบี้ย"
ป.พ.พ. ม.1425

กฎหมายไทยให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเหนือทรัพย์สินใดมีหน้าที่ต้องสงวนสาระสำคัญของทรัพย์สินนั้นมิให้เปลี่ยนแปลงไป และต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินตามสมควร ในกรณีนี้ หากจำต้องจัดการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นขนานใหญ่หรือต้องทำการสำคัญอันใดเพื่อรักษาทรัพย์สิน เขาต้องแจ้งต่อเจ้าของทรัพย์สินโดยไม่ชักช้า และเจ้าของทรัพย์สินต้องอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย ถ้าเจ้าของทรัพย์สินไม่เอาใจใส่เสีย เขาจะจัดการไปลำพังแล้วให้เจ้าของทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายก็ได้ (ป.พ.พ. ม.1424)

อนึ่ง เพื่อจะหาเงินมาใช้จ่ายในกรณีข้างต้น เจ้าของทรัพย์สินอาจจำหน่ายทรัพย์สินนั้นบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะยินดีสนับสนุนเงินให้ไปก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ป.พ.พ. ม.1425)

ค่าใช้จ่ายจร

"ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังมีอยู่ ผู้ทรงสิทธิต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สิน ตลอดจนเสียภาษีอากร กับทั้งต้องใช้ดอกเบี้ยหนี้สินซึ่งติดพันทรัพย์สินนั้น"
ป.พ.พ. ม.1426

ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายจร (อังกฤษ: extraordinary expense) เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตกอยู่ในบังคับของสิทธิเก็บกิน ซึ่งหมายถึง ค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่มิได้มีมาโดยปรกติซึ่งจำเป็นต้องจ่ายเพื่อทรัพย์สินนั้น เช่น ค่าซ่อมหลังคาบ้านเพราะต้องอสนีบาต เป็นหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์สินที่จะออกค่าใช้จ่ายเช่นนั้น และเพื่อหาเงินมาจ่าย เจ้าของทรัพย์สินจะจำหน่ายทรัพย์สินเสียบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินยินดีสนับสนุนเงินให้ไปก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ป.พ.พ. ม.1425)[11]

ส่วนกรณีค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าบริหารจัดการทรัพย์สิน ค่าภาษีอากร หรือดอกเบี้ยที่ติดพันทรัพย์สินนั้น เป็นต้น บรรดาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิเก็บกินอยู่ ตกเป็นหน้าที่ของเขาที่จะออกค่าใช้จ่ายเช่นนี้ (ป.พ.พ. ม.1426)

การประกันวินาศภัย

ตามกฎหมายไทยแล้ว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินยังมีหน้าที่จัดหาและต่อประกันวินาศภัยเพื่อทรัพย์สินที่อยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินของตนด้วย ดังที่ ป.พ.พ. ม.1427 ว่า

ถ้าเจ้าของทรัพย์สินต้องการ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องเอาทรัพย์สินประกันวินาศภัยเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์สิน และถ้าทรัพย์สินนั้นได้เอาประกันภัยไว้แล้วผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องต่อสัญญาประกันนั้นเมื่อถึงคราวต่อ

ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องเสียเบี้ยประกันระหว่างที่สิทธิของตนยังมีอยู่

ใกล้เคียง

สิทธิ สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเรียงตามประเทศหรือดินแดน สิทธิ เศวตศิลา สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สิทธิเก็บกิน สิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย สิทธิชัย ผาบชมภู สิทธิพร นิยม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สิทธิเก็บกิน http://www2.publicationsduquebec.gouv.qc.ca/dynami... http://www.isaanlawyers.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%... http://dictionary.reference.com/browse/Usufruct http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.thailawonline.com/th/property/usufruct-... http://www.thecorpusjuris.com/laws/statutes/republ... http://bundesrecht.juris.de/englisch_bgb/index.htm... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.wordplanet.org/ti/03/1.htm http://www.wordplanet.org/ti/03/19.htm