อายุความ ของ สิทธิเก็บกิน

กฎหมายไทยนั้นกำหนดอายุความ (อังกฤษ: prescription) การใช้สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินไว้ใน ป.พ.พ. ดังนี้

"ม.1428 คดีอันเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกินหรือผู้รับโอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกินปีหนึ่งนับแต่วันสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง แต่ในคดีที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นโจทก์นั้น ถ้าเจ้าของไม่อาจรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลงเมื่อใด ท่านให้นับอายุความปีหนึ่งนั้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินได้รู้หรือควรรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง"

ฎ.1548/2503 ว่า ตามฟ้อง คำให้การที่คู่ความแถลงรับกันได้ความว่า จำเลยได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินสวนพิพาทให้โจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 และโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองและไม่เคยใช้สิทธิเก็บกินในที่สวนแปลงพิพาทเลย นับแต่วันจดทะเบียนจนทุกวันนี้ 7-8 ปีแล้ว โดยฝ่ายจำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองและเก็บกินอยู่ตลอดมา, บัดนี้ โจทก์ต้องการจะเข้าใช้สิทธิเก็บกินบ้าง จำเลยไม่ยอม, โจทก์จึงฟ้อง. จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองและเก็บกินมาเกิน 1 ปีแล้ว คดีขาดอายุความ. โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน ต่างขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์ เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย, โจทก์ไม่จัดการกับจำเลยจนเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. ม.1374-1375, พิพากษายกฟ้อง.

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จะนำ ป.พ.พ. ม.1374 มาใช้บังคับไม่ได้, เพราะไม่ใช่โจทก์ถูกจำเลยแย่งสิทธิการครอบครองที่พิพาท, แต่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิทธิเก็บกินซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย แม้ไม่มีกฎหมายระบุไว้โดยตรงเกี่ยวกับอายุความเรียกร้องบังคับตามสิทธิเก็บกิน ก็ชอบที่จะนำหลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. ม.164 (ป.พ.พ. ม.193/30 ปัจจุบัน) มาใช้ คือ ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถืออายุความ 10 ปี, คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ, เห็นควรพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี.

โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ. ศาลอุทธรณ์มีข้อวินิจฉัยทำนองเดียวกับความเห็นแย้งของศาลชั้นต้น, สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ, พิพากษากลับให้จำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 6010 ตามฟ้องไปจนตลอดชีวิตของโจทก์, ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องขัดขวางในการที่โจทก์จะใช้สิทธิเก็บกิน. จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. ม.1374-1375 และ 1428.

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ถูกรบกวนหรือถูกแย่งการครอบครอง เพราะโจทก์ยังไม่เคยได้เข้าไปครอบครองและใช้สิทธิเก็บกินในที่สวนพิพาทตามที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้ จึงยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. 1347 และ 1375 มาใช้บังคับไม่ได้, และกรณีก็ไม่เข้า ป.พ.พ. ม.1428ดังที่จำเลยเถียงในฎีกา เพราะสิทธิเก็บกินตามที่จดทะเบียนไว้นั้นโจทก์ยังไม่ได้เริ่มต้นเข้าไปครอบครองและใช้สิทธิเก็บกินในที่พิพาทเลย. ส่วนการที่โจทก์เพิกเฉยถึง 7-8 ปี แล้วมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้มอบการครอบครองให้โจทก์ เพื่อใช้สิทธิเก็บกินตามที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้นั้น จะขาดอายุความหรือไม่, ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรงว่า สิทธิเรียกร้องขอให้บังคับตามสิทธิเก็บกินนี้มีอายุความฟ้องร้องเท่าใด, จึงต้องใช้หลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. ม.164 คือ 10 ปี, คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ. ศาลฎีกาพิพากษายืน.

ใกล้เคียง

สิทธิ สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเรียงตามประเทศหรือดินแดน สิทธิ เศวตศิลา สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สิทธิเก็บกิน สิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย สิทธิชัย ผาบชมภู สิทธิพร นิยม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สิทธิเก็บกิน http://www2.publicationsduquebec.gouv.qc.ca/dynami... http://www.isaanlawyers.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%... http://dictionary.reference.com/browse/Usufruct http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.thailawonline.com/th/property/usufruct-... http://www.thecorpusjuris.com/laws/statutes/republ... http://bundesrecht.juris.de/englisch_bgb/index.htm... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.wordplanet.org/ti/03/1.htm http://www.wordplanet.org/ti/03/19.htm