พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ของ หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้เป็นท้องพระโรง มีลักษณะเป็นพระที่นั่งยอดปราสาท 3 องค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสันตลอดทั้งแนว เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ในรูปแบบตะวันตก แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลขอให้สร้างเป็นยอดปราสาท ดังนั้น รูปแบบพระที่นั่งองค์นี้จึงมีสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก

พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์

พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพและเป็นที่ประทับเดิมของพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นบริเวณนี้ 2 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติและพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ โดยพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์เป็นห้องโต๊ะใช้จัดเลี้ยง[2]

ปัจจุบัน พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์องค์เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทนบนพื้นที่เดิมของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เพื่อใช้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง[3][1]

พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ

พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เป็นพระที่นั่ง 1 ใน 2 องค์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งพระองค์เสด็จพระราชสมภพและเป็นที่ประทับเดิมของพระองค์ โดยนามของพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติมีความหมายว่า เป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชสมภพ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศจะให้มีการเลิกทาสท่ามกลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417[4]

พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติองค์เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทนบนพื้นที่เดิมของพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติและพระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เพื่อใช้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง[1]

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา มีมุขหน้าต่อกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ[5]

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารองค์เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทน เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชทานเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง[6]

พระที่นั่งเทวารัณยสถาน

พระที่นั่งเทวารัณยสถาน เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทมีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท สร้างขึ้นบนพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ตั้งอยู่ติดต่อกับท้องพระโรงใหญ่อันเป็นที่จัดเลี้ยง นามพระที่นั่ง "เทวารัณยสถาน" หมายถึง สถานอันเป็นสวนป่าของเทวดา เป็นนามอนุสรณ์ถึง "สวนสวรรค์" ซึ่งเป็นสวนยกพื้นในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งสวนดังกล่าวทรุดโทรมและถูกรื้อลงตั้งแต่แรกรื้อพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารองค์เดิม[2]

เหตุผลที่ทำให้มีการรื้อพระที่นั่งลง

พระที่นั่งเหล่านี้ได้ถูกรื้อลงแล้วเนื่องจากมีความชำรุดความทรุดโทรม พบว่าเสาของพระที่นั่งแตกและโป่งออกทางด้านข้าง ปูนก่ออิฐหมดความแข็งแรงเพราะว่าน้ำหนักขององค์พระที่นั่งมีมาก เสาแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักส่วนบนได้ และพื้นชั้นบนทรุด ผนังแตกร้าว และอาจจะพังลงมาได้โดยง่าย อนึ่งเมื่อสมัยอดีตบรรดาพระที่นั่งและตำหนักต่าง ๆ ในเขตพระราชฐานชั้นใน สร้างขึ้นอย่างแออัดเพื่อให้เพียงพอกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาในองค์สมเด็จมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในสมัยก่อนซึ่งมีอยู่มาก แต่เมื่อมาถึงในปัจจุบันหมดความจำเป็นที่จะต้องมีที่ประทับสำหรับฝ่ายในมาก เช่นในสมัยก่อนแล้ว ประกอบกับทั้ง พระที่นั่งหรือตำหนัก และอาคาร ต่าง ๆ ในเขตพระราชฐานชั้นในก็ชำรุดทรุดโทรมลงมาก บางอาคารก็ใกล้จะพังลงมา ถ้าจะซ่อมให้คงดีตามสภาพเดิมก็ย่อมเป็นการสิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์อัน ใด สำนักพระราชวังจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รื้อ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงดำเนินการรื้อลงในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2501

ใกล้เคียง

หมู่พระวิมาน (พระราชวังบวรสถานมงคล) หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หมู่พระมหาปราสาท หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมู่พีนิคโตเจน หมู่พรอสธีติก หมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่เกาะเติกส์และเคคอส หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะมาลูกู