การทำงานเป็นผู้วางรากฐานวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ของ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ_ดิศกุล

เดิมศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวางอนาคตไปทางสายอาชีพครู จึงทรงศึกษาวิชาครูไว้ก่อนเข้ารับราชการ แต่เมื่อทรงรับราชการในกองโบราณคดี กรมศิลปากร ก็ทรงมีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่โปรดปราน ทั้งยั้งมีโอกาสได้ทรงศึกษาวิชาเฉพาะทางคือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และโบราณคดีในภาษาต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อรวมความรู้จากการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และการที่ทรงค้นคว้าเพิ่มเติมส่วนพระองค์ตลอดเวลา จึงทำให้เป็นเลิศในวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ นับว่าเป็นนักปราชญ์พระองค์หนึ่ง ได้ทรงนำความรู้ทั้งหมดมาสร้างประโยชน์แก่วงการศึกษาไทย ดังนี้

พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ก่อตั้งการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เป็นครั้งแรกในโรงเรียนศิลปศึกษาของกรมศิลปากร ทรงวางหลักสูตรการเรียนวิชานี้เช่นเดียวกับโรงเรียนลูฟร์ นักศึกษาต้องเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไปของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย กัมพูชา จีน และญี่ปุ่น ในการนี้ต้องทรงจัดทำตำราเรียนให้ด้วย เพราะยังไม่มีตำราภาษาไทยด้านนี้โดยตรง ทรงอุตสาหะแปลตำราจากภาษาต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส ทั้งยังทรงรับเป็นผู้สอนนักศึกษาด้วย

พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงย้ายจากกรมศิลปากรไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2519-2524 และดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2525-2529 หลังจากทรงเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ตั้ง พ.ศ. 2530-2535 เมื่อพ้นจากตำแหน่งนี้แล้วทรงได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานของกรมศิลปากร และยังทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษแก่สถาบันต่าง ๆ ทรงยุติงานค้นคว้าและงานสอนที่ทรงรักทั้งหมดลงใน พ.ศ. 2540 เนื่องจากทรงประสบอุบัติเหตุทำให้ประชวรหนัก

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลทรงได้รับการขนานพระนามจากบรรดาสานุศิษย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า ท่านอาจารย์ เป็นพระนามที่แสดงถึงความเคารพยกย่องและสนิทสนมรักใคร่ เพราะทรงเมตตาศิษย์อย่างเสมอภาคและวางพระองค์เรียบง่ายไม่ถือยศศักดิ์ สามารถเข้ากับบุคคลทั่วไปได้ทุกระดับชั้น ทรงเต็มพระทัยที่จะถ่ายทอดความรู้และเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ทั้งยังประทานคำแนะนำและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งมาจากการที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทรงนิพนธ์ตำราและบทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีเป็นจำนวนมาก เช่น ศิลปะอินเดีย ศิลปะชวา ศิลปะขอม ศิลปะในประเทศไทย เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง Art in Thailand, A Brief History และ Thailand ในชุด Archeaological Mundi ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน เป็นต้น นอกจากทรงนิพนธ์ตำราความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังทรงจัดหาหนังสือทางวิชาการต่าง ๆ มาประทานแก่ห้องสมุดของคณะโบราณคดีตลอดจนห้องสมุดขององค์การสปาฟา (SPAFA) เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดียิ่งขึ้นด้วย

การศึกษาที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวางรากฐานไว้ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น กล่าวกันว่าเป็นการศึกษาแบบบูรณาการ นักศึกษาจะได้เรียนวิชาหลักและวิชาที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปเพื่อเป็นพื้นฐานแก่การศึกษาขั้นลึกซึ้งต่อไป ทรงเลือกสรรเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชามาเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่นักศึกษา เพื่อให้ได้รับความรู้ที่ลึกซึ้งและถูกต้อง ในส่วนพระองค์เองนั้นทรงเป็นครูที่ตรงต่อเวลา ถ่ายทอดวิชาโดยไม่ปิดบังและมีเกร็ดความรู้ต่างๆ เพิ่มให้ด้วย ทรงพยายามที่จะให้นักศึกษาได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง หากต้องขาดสอนวิชาใด จะทรงสอนชดเชยให้ในวันหยุด ในการฝึกภาคปฏิบัติ อันได้แก่การขุดค้นทางโบราณคดี หรือการเดินทางไปศึกษาโบราณสถานและศิลปะ ณ สถานที่จริงในจังหวัดต่าง ๆ จะทรงเป็นผู้นำและผู้บรรยายให้ความรู้ทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังทรงเอื้ออาทรแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนโดยทรงจัดหาทุนการศึกษาให้จนสำเร็จการศึกษา ด้วยการจัดทัศนศึกษาหรืออื่น ๆ ส่นผู้ที่มีการเรียนดีเด่นด้านใดด้านหนึ่ง หากทรงเห็นว่าจะสามารถเป็นกำลังของชาติในการพัฒนางานด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ก็จะทรงจัดหาทุนให้ไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศต่อไป

พระเกียรติคุณของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เป็นที่ยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทรงได้รับเชิญไปร่วมการประชุม และบรรยายในประเทศต่าง ๆ หลายครั้ง ทรงได้รับเชิญไปสอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ทรงได้รับรางวัลในฐานะบุคคลสำคัญระหว่างชาติที่ได้ผลิตผลงานด้านวัฒนธรรมและความรู้เกี่ยวกับทวีปเอเชีย จากเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงได้รับเชิญให้ร่วมงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ เช่น เป็นประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เป็นอุปนายกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานมูลนิธิเจมส์ เอส. ดับเบิลยู ทอมป์สัน และนายกสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงมีความสามารถพิเศษในการอธิบายถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจง่าย ดังนั้น จึงมักจะทรงได้รับการทูลขอให้เป็นวิทยากรอบรมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่เสมอ ที่สำคัญคือได้ถวายคำบรรยายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จทอดพระเนตรโบราณวัตถุและโบราณสถานของชาติ และเมื่อมีประมุขของต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะหรือแขกของรัฐบาล จะทรงได้รับมอบให้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์นำชุมโบราณวัตถุและโบราณสถาน ทุกครั้งจะทรงปฏิบัติภารกิจเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม เป็นที่ชื่นชมของผู้ที่มาเยือนอย่างยิ่งด้วยพระเกียรติคุณจึงทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของไทย และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะยังมีผลงานด้านอื่นอันสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติอีก แต่ได้ทรงกล่าวไว้ในบทนิพนธ์พระประวัติของพระองค์เองว่า ผลงานหนึ่งที่ทรงภูมิใจที่สุดคือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะเป็นพระองค์แรกที่เปิดสอนวิชานี้ในประเทศไทย ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าหลักสูตรของพระองค์ได้สร้างบุคลากรคุณภาพที่มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสมดังที่ทรงมุ่งหมาย[3]

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์