ประวัติ ของ อภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า "มาร์ค" เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เขามีเชื้อสายจีนฮั่น[17][18] จากฮกเกี้ยน[19] บิดาชื่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ มารดาชื่อ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ

เมื่อยังมีอายุไม่ถึงหนึ่งปี ครอบครัวเวชชาชีวะได้เดินทางกลับประเทศไทย อภิสิทธิ์ได้เข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร ระดับประถมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นได้ย้ายกลับประเทศอังกฤษเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเอกชน ระดับเตรียมอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของลอนดอน ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (philosophy, politics and economics, PPE) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในสาขาวิชานี้ ต่อจากพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล)[20]

หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อภิสิทธิ์เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ระหว่างปี พ.ศ. 2530–2531 ได้รับการแต่งตั้งยศร้อยตรี[21]ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 ก่อนจะลาออกจากราชการกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอีกครั้ง ปริญญานิพนธ์ของอภิสิทธิ์ได้รับการยอมรับในระดับดีมาก โดยเทียบได้กับเกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[21] หลังจากนั้นยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจนสำเร็จปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกด้วย[21]ในปี พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า[22]

ต้นปี พ.ศ. 2549 อภิสิทธิ์ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง[23] จากการใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[24] และต้นปี พ.ศ. 2554 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง[25] ในปี พ.ศ. 2552 ระหว่างเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามสังหาร ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นความพยายามฆ่านายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี มีผู้ต้องหา 20 ราย[26]

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่บ้านพักอภิสิทธิ์ บ้านเลขที่ 32 ซอยสุขุมวิท 31[27]

ตระกูลเวชชาชีวะ

ตระกูล "เวชชาชีวะ" มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน โดยมีถิ่นกำเนิดมาจากฮากกา ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับชนชั้นสูงมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18[28][29] มีแซ่ในภาษาจีนว่า หยวน (จีน: 袁; พินอิน: Yuán) [30][31] ในสมัยรัชกาลที่ 6 สกุล "เวชชาชีวะ" (Vejjajiva) เป็นนามสกุลพระราชทานให้กับพระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) แพทย์ประจำจังหวัดลพบุรี กับจิ๊นแสง (บิดา) เป๋ง (ปู่) และก่อ (ปู่ทวด) เนื่องจากเป็นต้นตระกูลเป็นแพทย์จึงมีคำว่า "เวช" อยู่ในนามสกุลด้วย[32]

อภิสิทธิ์เป็นบุตรชายคนเดียว ในจำนวนบุตร 3 คน ของศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สดใส เวชชาชีวะ มีพี่สาว คือ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอลิสา วัชรสินธุ ศาสตราจารย์หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็ก และงามพรรณ เวชชาชีวะ นักประพันธ์รางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ. 2549 และผู้แปลวรรณกรรมเยาวชน

อภิสิทธิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยที่สุรนันทน์เป็นบุตรของนิสสัย เวชชาชีวะ อดีต อธิบดีกรมสารนิเทศ ซึ่งเป็นพี่ชายของบิดาอภิสิทธิ์[33]

อภิสิทธิ์เป็นหลาน รองศาสตราจารย์ ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด อดีตรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นลูกพี่ลูกน้องพงศ์เวช เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดจันทบุรีกับศุภกรณ์ เวชชาชีวะ กรรมการ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับวรกร จาติกวณิช ภริยาของกรณ์ จาติกวณิช หากนับจากญาติฝ่ายมารดา[34]

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมรสกับรองศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ (สกุลเดิม ศกุนตาภัย) อดีตทันตแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คนคือ ปราง เวชชาชีวะ และปัณณสิทธิ์ เวชชาชีวะ[35] ปัณณสิทธิ์นั้นเป็นโรคออทิซึมมาแต่กำเนิด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจึงสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความพิทักษ์ของอภิสิทธิ์ผู้เป็นบิดาตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555[36]โดยบุตรชายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียนที่ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้เข้าร่วม เป็น สมาชิก ชมรมผู้ปกครองเพื่อเด็กพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช่นเดียวกับ ทนง พิทยะ

ข้อกล่าวหาการถือสองสัญชาติ

การถือสัญชาติไทยโดยที่ไม่ได้สละสัญชาติอังกฤษ กลายเป็นประเด็นการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อต้น พ.ศ. 2554 นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เจ้าของสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม และที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่ม นปช. ได้เดินทางไปยังอังกฤษ เพื่อคัดสำเนาสูติบัตรของอภิสิทธิ์ นำมาแสดงว่าอภิสิทธิ์ยังถือสัญชาติอังกฤษ และได้เรียกร้องเพิ่มเติมว่า หากอภิสิทธิ์ยืนยันว่าสละสัญชาติอังกฤษมาถือสัญชาติไทยแล้ว ก็ต้องเอาใบสละสัญชาติมาแสดง มิฉะนั้นจะนำเรื่องไปฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ [37]

กฎหมายอังกฤษระบุว่า เด็กที่เกิดในประเทศอังกฤษก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) จะได้รับสัญชาติอังกฤษ เว้นแต่จะเกิดแต่คณะเจ้าหน้าที่และตัวแทนทางทูต ผู้ซึ่งมีความคุ้มกันทางทูต และหากเกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) โดยมีบิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดเป็นคนอังกฤษ หรือตั้งรกรากอยู่ในประเทศอังกฤษ จะได้รับสัญชาติอังกฤษ [38] ขณะที่กฎหมายไทยระบุว่า ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1))[39]

บิดาและมารดาของอภิสิทธิ์มิได้เป็นคนอังกฤษ และมิได้ตั้งรกรากในประเทศอังกฤษ (บิดาและมารดาเพียงแค่ไปศึกษาต่อเท่านั้น) อภิสิทธิ์เคยกล่าวว่า ตนใช้สัญชาติไทยมาตลอด ยังต้องใช้วีซ่าเข้าประเทศอังกฤษ [40] และยังคงต้องรับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารด้วย อย่างไรก็ตาม การถือสัญชาติไทยโดยที่ไม่ได้สละสัญชาติอังกฤษ ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อตำแหน่งทางการเมือง

ข้อกล่าวหาการหนีราชการทหาร

ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. เปิดเผยว่าอภิสิทธิ์ไม่เข้ารับการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร[41][42] พร้อมทั้งแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกให้กับพรรคประชาธิปัตย์และสื่อมวลชน[43] เรื่องดังกล่าวมีการเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 (สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 1) โดยอภิสิทธิ์ได้เคยแถลงว่า ตนเคยรับราชการทหาร เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ได้รับพระราชทานยศร้อยตรี โดยการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.)[41] คำแถลงของอภิสิทธิ์ ได้รับการยืนยันจากกองทัพในขณะนั้นว่าเป็นความจริง แต่เนื่องจากการเข้ารับราชการ ต้องแสดงเอกสารเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร[44] จึงเกิดข้อกังขาว่า หากอภิสิทธิ์ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร เหตุใดจึงสามารถสมัครเข้าเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้ ซึ่งอภิสิทธิ์เคยแถลงเพียงว่า เป็นอำนาจวินิจฉัย และความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานในขณะนั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี พ.ศ. 2542 มีความเห็นว่า ในครั้งนั้น อภิสิทธิ์สมัครเข้ารับราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมโดยขาดส่งหลักฐานทางทหาร ซึ่งมีฐานความผิดเพียงโทษปรับ แต่ยอมรับว่าอภิสิทธิ์เข้ารับราชการทหารแล้ว[45]

ช่วงเวลาเดียวกันมีความเห็นจากแหล่งข่าวในกองทัพ ว่ากองทัพบกมีเอกสารต้นขั้ว สด.๙ ที่ออกให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อบรรจุเป็นทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 จริง และมีเอกสาร สด.๑ ของสัสดีที่ยืนยันการรับ สด.๙ ด้วย อย่างไรก็ดี แม้อภิสิทธิ์ไม่มารับการตรวจเลือกและไม่ได้รับ สด.๔๓ แต่เมื่อไปรับราชการ เป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงกลาโหมในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2530 ก็ถือว่ามีฐานะเป็นทหารแล้ว เพียงแต่ไม่ไปแจ้งให้พ้นบัญชีคนขาดเท่านั้น[46]

การโจมตีเรื่องอภิสิทธิ์ไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร เกิดขึ้นอีกครั้งประมาณปลายปี พ.ศ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนถูกศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรค และอภิสิทธิ์เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประเด็นเกี่ยวกับการรับราชการทหารของอภิสิทธิ์ได้เป็นหัวข้อหนึ่งที่ฝ่ายค้านใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เมื่ออภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่ถึง 3 เดือน

ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552 อภิสิทธิ์ได้ตอบกระทู้อภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับการรับราชการทหารว่า มีความเข้าใจผิดว่าตนสมัครเข้ารับราชการทหาร หลังจากไม่เข้ารับการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร แต่ในความเป็นจริง ได้สมัครเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ก่อนถึงกำหนดเกณฑ์ทหารแล้ว การสมัครเข้ารับราชการทหารในขณะนั้นจึงไม่ต้องใช้ สด.๔๓ แต่ใช้ สด.๙ และหนังสือผ่อนผันฯ แทน ซึ่งอภิสิทธิ์ยืนยันว่าขณะที่สมัครเข้า รร.จปร. ตนมีเอกสาร สด.๙ ที่ได้รับประมาณกลางปี พ.ศ. 2529 หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและกลับมาถึงประเทศไทย และมีรายชื่อได้รับการผ่อนผันฯ เพื่อเรียนต่อปริญญาโท ช่วงปี พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2532 ตามบัญชีของ ก.พ. ที่จัดทำตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2529 การสมัครเข้า รร.จปร. ของตนจึงเป็นการสมัครโดยมีคุณสมบัติครบถ้วน หลังจากสมัครเข้า รร.จปร. ได้ผ่านการฝึกทหารคล้ายการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร จนครบตามหลักสูตรจึงได้รับพระราชทานยศร้อยตรี ในการขอติดยศร้อยตรีนั้นตนได้ทำเอกสาร สด.๙ หายจึงได้ไปขอออกใบแทน แต่ในการสมัครเข้า รร.จปร. ได้ใช้ สด.๙ ตัวจริงสมัคร แล้วเอกสารมีการสูญหายในภายหลัง ในการอภิปรายครั้งนี้อภิสิทธิ์ได้แสดง สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการยกเว้นผ่อนผันฯ และ สำเนา สด.๙ ฉบับแรกของตน ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย[47]

ต่อมา พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 เรื่องให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ซึ่งศาลฏีกาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งศาลให้ยกเลิกคำสั่งดัวกล่าว ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561[48] เท่ากับเขาได้รับยศ ร้อยตรี ตามเดิม

ใกล้เคียง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิสิทธิ์ เค.ที.ยิม อภิสิทธิ์ ไข่แก้ว อภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต อภิสิทธิ์ อภินิหารแหวนครองพิภพ อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร อภินิหารตำนานแห่งนาร์เนีย ตอน ราชสีห์ แม่มด กับตู้พิศวง อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร 2

แหล่งที่มา

WikiPedia: อภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ http://links.org.au/node/2494 http://news.sina.com.cn/w/2008-12-16/010214883826s... http://www.amazon.com/Encyclopedia-Chinese-Oversea... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/366947 http://www.bangkokpost.com/news/local/10974/witoon... http://www.bangkokpost.com/news/local/235238/level... http://www.bangkokpost.com/news/local/32460/pm-ple... http://www.bangkokpost.com/news/politics/232901/on... http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/188564/... http://news.buddyjob.com/politic/show_news-4945-3....