จุดเริ่มต้น ของ อาการกลัวเลขสิบเจ็ด

มีเรื่องปรัมปราเรื่องหนึ่งว่า การอ้างถึงแรกสุดที่บอกว่าเลขสิบสามเป็นเลขแห่งความโชคร้ายหรือความชั่วร้าย มาจากประมวลกฎหมายฮัมมูราบีของชาวบาบิโลน (ประมาณ 1780 ปีก่อน ค.ศ.) โดยกฎหมายบทที่ 13 หายไป แต่ในข้อเท็จจริง ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีมิได้มีการนับเลข การแปลของ แอล.ดับเบิลยู. คิง (ค.ศ. 1910) ที่ปรับปรุงโดยริชาร์ด ฮุกเกอร์ ได้ตกหล่นไปหนึ่งบท ดังนี้

ถ้าผู้ขายเป็นไปตามชะตากรรม[เสียชีวิต] ผู้ซื้อจะได้ชดเชยความเสียหายในกรณีดังกล่าวห้าเท่าจากมรดกของผู้ขาย

การแปลประมวลกฎหมายโดยบุคคลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่นโรเบิร์ต ฟรานซิส ฮาร์เปอร์ มีบทที่ 13 รวมอยู่ [2]

ประเพณีของชาวคริสต์บางกลุ่มมีความเชื่อเรื่องความโชคร้ายจากอาหารค่ำมื้อสุดท้าย นักบุญยูดาส อิสคาริโอท ผู้ซึ่งทรยศต่อพระเยซูนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ 13 ของโต๊ะ [3] อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลเองก็มิได้บอกลำดับที่นั่งของเหล่าอัครทูตแต่อย่างใด นอกจากนี้เลขสิบสามก็มิได้เลวร้ายไปทั้งหมดในประเพณีจูเดโอ-คริสเตียน ตัวอย่างเช่น คุณลักษณะของพระเป็นเจ้า (Thirteen Attributes of Mercy) ได้แจกแจงไว้ในโทราห์ (อพยพ 34:6–7) โบสถ์คริสต์สมัยใหม่บางแห่งก็ใช้คุณลักษณะของพระเป็นเจ้าทั้งสิบสามข้อในบทเทศน์

อาการกลัวเลขสิบสามก็มีผลกระทบต่อชาวไวกิง คือเชื่อว่าโลกิจากเทพปกรณัมนอร์สเป็นเทพองค์ที่ 13 กล่าวโดยละเอียดก็คือ โลกิถูกเชื่อว่าเป็นผู้วางแผนสังหารบัลเดอร์ และเป็นแขกคนที่ 13 ที่มาร่วมงานศพ [4] อาจเป็นได้ว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดความเชื่องมงายที่ว่า ถ้ามีคน 13 คนอยู่รวมกัน หนึ่งคนในกลุ่มนั้นจะเสียชีวิตในปีหน้า ประเพณีนอร์สอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องปรัมปราของนอร์นา-เกสต์ (Norna-Gests þáttr) คือเมื่อนอร์น (norn) สามตนปรากฏขึ้นในงานฉลองวันเกิดของนอร์นา-เกสต์โดยไม่ได้รับเชิญ ทำให้จำนวนแขกเพิ่มขึ้นจาก 10 คนเป็น 13 คน นอร์นเหล่านั้นได้สาปให้ทารกมีอายุขัยผูกกับเทียนไขเวทย์ที่พวกนางมอบให้เป็นของขวัญ

ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อว่ากลุ่มดาวสิบสองราศีเป็นผู้ควบคุมเดือนต่าง ๆ ของปี และแต่ละราศีก็มีอิทธิพลต่อโลกเป็นเวลาหนึ่งพันปีหลังจากสิ้นสุดหายนะที่ฟ้าดินถล่มทลาย ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้เลข 13 ถูกบ่งบอกว่าเป็นหายนะ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวเปอร์เซียต้องออกจากบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงความโชคร้ายในวันที่ 13 ของปฏิทินเปอร์เซีย ซึ่งตามประเพณีเรียกว่า ซิซดาฮ์เบดัร (เปอร์เซีย: سیزده‌به‌در‎)