ลักษณะของวัฒนธรรม ของ อาณาจักรฟูนาน

ลักษณะของวัฒนธรรมที่เมืองออกแก้ว เป็นแบบผสมกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ประเพณีการบูชาภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าหญิงธิดาพญานาคของชาวฟูนัน ได้สืบทอดต่อมาเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์กัมพูชาทรงปฏิบัติ ส่วนลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นแบบวัฒนธรรมอินเดีย ได้แก่ โบราณสถานของกัมพูชาสมัยก่อนนครวัด นอกจากนั้น มีพระพุทธรูปแบบคุปตะ ภาพปั้นพระวิษณุสวมมาลาทรงกระบอก และภาพปั้นพระหริหระ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ประติมากรชาวฟูนันได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากอินเดียสมัยราชวงศ์ปาลวะ และราชวงศ์คุปตะ ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู มีภาษาสันสกฤต ซึ่งเห็นได้จากบันทึกของชาวฟูนันที่บันทึกไว้คราวมีงานเฉลิมฉลองรัชกาลพระเจ้าโกณธิญญะที่ 2 (สวรรคต ค.ศ. 434) และรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 478 – 514) ที่มีประเพณีการจัดงานต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ยังปรากฏคำลงท้ายพระนามกษัตริย์ฟูนันว่า “วรมัน” ภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์” ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ของอินเดียนิยมใช้กัน สิ่งเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่มีต่อรัฐฟูนัน

ฟูนันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ดังนั้นเรื่องราวของฟูนันจึงปรากฏในบันทึกของจีนที่กล่าวไว้ว่า เมืองต่าง ๆ ในฟูนันมีกำแพงล้อมรอบ มีปราสาทราชวังและบ้านเรือน ราษฎรชาวฟูนันมีผิวดำ ผมหยิก เดินเท้าเปล่า ทำการเพาะปลูก ชอบการแกะสลักเครื่องประดับ การสลักหิน มีตัวอักษรใช้ลักษณะคล้ายกับอักษรของพวก “ฮู้” (อยู่ในเอเชียตอนกลาง ใช้อักษรแบบอินเดีย) มีทาสเชลยศึก มีการค้าทองคำ ค้าเงิน ค้าไหม ทำแหวน สร้อยมือทองคำ ถ้วยชามเงิน การพิจารณาคดีความใช้แบบจารีตนครบาล เช่น ล้วงหยิบแหวนทองเหลืองหรือไข่ในน้ำเดือด ใช้โซ่ร้อนจัดคล้องมือ แล้วเดินไป 7 ก้าว หรือดำน้ำพิสูจน์ เป็นต้น มีแหล่งน้ำใช้ร่วมกัน มีการทดน้ำเพื่อการเพาะปลูก สถาปัตยกรรมเป็นแบบหลังคาเป็นชั้นเล็กๆจำนวนมาก ตกแต่งด้วยช่องเล็กช่องน้อยครอบอยู่

ใกล้เคียง

อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรธนบุรี อาณาจักรโคตรบูร อาณาจักรพระนคร อาณาจักรปตานี อาณาจักรแห่งกาลเวลา