สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ของ อาวุธเพลิง

ระเบิดเพลิงที่ถูกทิ้งลงที่เซาท์เอนด์ออนซี สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1916

อาวุธเพลิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งชุดแรกถูกใช้โดยเยอรมนี เรียกว่า ระเบิดเพลิง (firebomb) ทำจากเชือกชุบน้ำมันดิน พันรอบภาชนะลักษณะอย่างครีบที่บรรจุน้ำมันก๊าดและน้ำมันอยู่ภายใน ถูกบรรทุกไปด้วยเรือเหาะเซ็พเพอลีนของเยอรมนี และทิ้งลงในเมืองเล็ก ๆ ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของอังกฤษในคืนวันที่ 18–19 มกราคม ค.ศ. 1915 ชุดแรกมีจำนวนไม่มาก ต่อมาในวันที่ 8 กันยายนปีเดียวกัน เรือเหาะเซ็พเพอลีน L-13 ได้ทิ้งระเบิดชนิดเดิมอีกครั้งเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ในแง่ของความเสียหายที่เกิดขึ้นจะถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ แต่กระนั้นอาวุธชนิดนี้ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อขวัญกำลังใจของพลเมืองชาวสหราชอาณาจักร[3]

หลังการทดลองเพิ่มเติมกับถังบรรจุเบนซอล (benzole) ขนาด 5 ลิตร ในปี ค.ศ. 1918 "ระเบิดเพลิงเอเล็กโทรน" B-1E (เยอรมัน: Elektronbrandbombe) ได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่โรงงานเคมีเอเล็กโทรน-กรีสไฮม ระเบิดถูกจุดด้วยประจุเทอร์ไมต์ แต่ตัวเชื้อเพลิงหลักที่ทำให้เกิดเพลิงคือโครงหุ้มที่ทำมาจากโลหะผสมอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม ซึ่งติดไฟที่อุณหภูมิ 650 °C เผาไหม้ที่อุณหภูมิ 1,100 °C และปล่อยไอระเหยที่เผาไหม้ได้ที่อุณหภูมิ 1,800 องศาเซลเซียส ข้อดีอีกประการหนึ่งของโครงโลหะผสมคือความเบา โดยมีความหนาแน่นเพียง 1 ใน 4 ของเหล็ก ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดแต่ละลำสามารถบรรทุกอาวุธเพิ่มได้อีกมาก[4] กองบัญชาการระดับสูงของเยอรมันได้สร้างปฏิบัติการที่มีชื่อว่าว่า "แผนไฟ" (เยอรมัน: Der Feuerplan, แปลได้อีกนัยหนึ่งว่า แผนการยิง) ที่จะมีการใช้กองเรือทิ้งระเบิดหนักทั้งหมด ทำการบินเป็นระลอกเหนือกรุงลอนดอนและปารีส พร้อมทิ้งระเบิดเพลิงที่บรรทุกเต็มอัตราทั้งหมด การโจมตีครั้งนี้จะทำให้เมืองหลวงทั้งสองแห่งกลายเป็นทะเลเพลิง และอาจทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องยอมเจรจาสันติภาพ[5] มีการเตรียมสะสมระเบิดอิเล็กโทรนหลายพันลูกไว้ในฐานเครื่องบินทิ้งระเบิดแนวหน้าแล้ว และมีแผนปฏิบัติการในเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน 1918 แต่ทั้งสองครั้งกลับมีการออกคำสั่งแย้งคำสั่งในช่วงสุดท้าย เนื่องจากเป็นไปได้ว่าฝ่ายเยอรมันเกรงว่าฝ่ายพันธมิตรจะตอบโต้ด้วยวิธีการเดียวกันกับเมืองของตน[6] ในเวลานั้นกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรก็มี "ระเบิดเพลิงเบบี้" (Baby Incendiary Bomb, BIB) เป็นของตนเองแล้ว ซึ่งยังบรรจุประจุเทอร์ไมต์ด้วยเช่นกัน[7] ฝ่ายเยอรมันยังมีแผนโจมตีนิวยอร์กด้วยระเบิดเพลิงที่บรรทุกไปกับเรือเหาะพิสัยไกลรุ่นใหม่ชั้น L70 เสนอโดยผู้บังคับการกองเรือเหาะ เพเทอร์ ชตราสเซอร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 1918 แต่ถูกยับยั้งโดยพลเรือเอก ไรน์ฮาร์ท แชร์[8]