ประวัติศาสตร์ ของ อำเภอธาตุพนม

อำเภอธาตุพนมเดิมมีฐานะเป็นเมืองขนาดใหญ่ชื่อว่า เมืองพนม หรือ เมืองธาตุพนม[1] (ภาษาอังกฤษ : M. Penom,[2] Muong Peunom,[3] Moeuong Dhatou Penom[4]) ในพื้นอุรังคธาตุหลายฉบับ รวมถึงพงศาวดารย่อและแผนเมืองเวียงจันทน์ พงศาวดารเมืองมุกดาหาร พื้นธาตุพระนม พื้นธาตุหัวอก มหาสังกาสธาตุพนมโคดมเจ้า และพงศาวดารล้านช้างออกนามเมืองว่า พระนม (พนม)[5] จารึกฐาปนาอูบสำริดเมืองจันทะปุระของพ่อออกขนานโคษออกนามว่า ธาตุประนม[6] และจารึกศิลาเลกบูรณะพระธาตุพนม พ.ศ. ๒๔๔๔ ออกนามว่า ภนม ส่วนอุรังคธาตุฉบับวัดอับเปวันนัง บ้านบกท่ง เมืองจำพอน แขวงสุวรรณเขต แสดงฐานะของธาตุพนมว่าเป็นนครใหญ่แห่งหนึ่งโดยออกนามว่า นครต่อนดินพระมหาธาตุเจ้า[7] หรือ น้ำท่อนต่อนดินพระมหาธาตุเจ้า หลักฐานบางแห่งออกนามธาตุพนมเป็นสร้อยต่อท้ายนามเมืองมรุกขนครว่า มรุกขนคร บวรพนม ประถมเจดีย์ (มะรุกขะนะคอน บํวอนพะนม ปะถมมะเจดี)[8] ธาตุพนมเป็นเมืองโบราณบริเวณลุ่มน้ำโขง มีอาณาเขตไปถึงปากเซบั้งไฟและสายภูซ้างแฮ่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ตาลเจ็ดยอดในตัวเมืองมุกดาหาร มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมกับเมืองศรีโคตรบูรและเมืองมรุกขนคร ก่อตั้งก่อนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชแห่งล้านช้าง (ก่อน พ.ศ. ๑๘๙๖ หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙) ก่อตั้งก่อนเมืองนครพนมและเมืองมุกดาหาร นับเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในบรรดาหัวเมืองลาวแถบจังหวัดนครพนม มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณตำบลกุดฉิม พบโบราณวัตถุในอารยธรรมหินตั้ง ตลอดจนพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยศรีโคตรบูร (ก่อนทวารวดีอีสาน) จามปา ขอม และล้านช้าง ทั้งในตัวเมืองและปริมณฑลกระจายหลายแห่ง เฉพาะหลักฐานสมัยศรีโคตรบูรค้นพบมากกว่า ๑๐ แห่ง ทั้งในตัวเมือง รอบตัวเมือง และตำบลใกล้เคียง นักโบราณคดีและนักการพระพุทธศาสนาเชื่อว่าธาตุพนมเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทที่สำคัญแห่งหนึ่งของสุวรรณภูมิและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เนื่องจากมีการค้นพบจารึกใบเสมายุคศรีโคตรบูรที่วัดศิลามงคล ตำบลพระกลางทุ่ง ปรากฏคาถา เย ธมฺมา เช่นเดียวกับที่ปรากฏในนครปฐม อู่ทอง และซับจำปา[9] คัมภีร์อุรังคธาตุนิทานกล่าวว่าธาตุพนมถูกก่อตั้งขึ้นโดยพระยา ๕ นคร บางฉบับกล่าวว่า ๖ นคร หลังการสร้างอูบมุงภูกำพร้าสำเร็จ พระยาทั้ง ๕ ให้คนนำหลักหิน หินรูปอัสสมุขี หินรูปม้าวลาหก และหินรูปม้าอาซาไนมาปักไว้ตามทิศต่าง ๆ ขององค์ธาตุ เพื่อเป็นหลักเขตหมายเมืองมงคลในชมพูทวีป[10] เมืองธาตุพนมประกอบด้วยหมู่บ้านข้าโอกาสจำนวนมาก ในสมัยศรีโคตรบูรมีทั้งหมด ๗ หมู่บ้าน มีประชากรไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน การสร้างเมืองธาตุพนมเริ่มชัดเชนขึ้นในสมัยพระยาสุมิตตธัมมวงศา จากนั้นจึงเพิ่มจำนวนหมู่บ้านขึ้นในสมัยล้านช้างมากกว่า ๓๐ หมู่บ้าน หลายแห่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แต่มีศูนย์กลางปกครองที่บ้านธาตุพนมฝั่งขวาน้ำโขง ภายในตัวเมืองมีกำแพง ๓ ชั้นล้อมรอบเวียงพระธาตุ โดยมีวัดหัวเวียงรังษีตั้งอยู่ทิศหัวเมือง สันนิษฐานว่าเดิมชื่อวัดสวนสวัร (วัดสวรสั่งหรือวัดสมสนุก) ตามคัมภีร์อุรังคธาตุ

คำว่า พนม ตรงกับภาษาเขมร แปลว่า ภูเขา[11] แต่อุรังคธาตุหลายฉบับเขียนว่า พระนม (พฺรนม) ซึ่งมาจากภาษาเขมร (พระ) และภาษาลาว (นม) หมายถึงหน้าอกของพระพุทธเจ้า ชาวลาวออกสำเนียงว่า ปะนม (ประนม) คำนี้ปราฏในหนังสือพงศาวดารของแขวงสุวรรณเขตด้วย คนท้องถิ่นนิยมเรียกนามเมืองว่า เมืองปะนม คู่กับ เมืองละคร (เมืองนครพนม) และเรียกชาวธาตุพนมว่า ไทพนม หรือ ไทปะนม สมัยโบราณเรียกที่ตั้งศูนย์กลางเมืองนี้ว่า กปณคีรี (ภูเพียงกำพร้าเข็ญใจ) บางแห่งเขียนเป็น ภูกามพ้า หรือ ภูก่ำฟ้า คนทั่วไปออกนามว่า ภูกำพร้า เป็นที่ตั้งพระมหาธาตุโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่า พระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมมะเตชะเจดีย์ หรือ พระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมมสถาน หรือ พระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมมหัวอกพระพุทธเจ้า หลักฐานบางแห่งเรียกว่า ธาตุภูกำพร้า หรือ อูบมุงภูกำพร้า[12] คนทั่วไปออกนามว่า ธาตุปะนม หรือ ธาตุหัวอก ปัจจุบันคือพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งเดิมเรียกวัดพนม (วัดธาตุหรือวัดพระธาตุ) นับถือแต่โบราณว่าพระมหาธาตุนี้เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (อรกธาตุหรือธาตุหัวอกของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์) ชาติพันธุ์สองฝั่งโขงนับถือว่าเป็นพระปฐมเจดีย์แห่งแรกของลาว เอกสารพื้นเวียงจันทน์ยกย่องว่าธาตุพนมคือหลักโลกของชาวลาว[13] ส่วนเอกสารประวัติบ้านชะโนดยกย่องว่าธาตุพนมคือเสใหญ่ (หลักเมือง) ของลาว[14] เอกสารพงศาวดารเมืองพระนมชี้ให้เห็นว่าก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนาธรรมยุติกนิกายจากสยาม ท้องถิ่นนี้เชื่อว่าธาตุพนมคือสถานที่ประสูติและบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระยานกคุ่มไฟ ทำให้ธาตุพนมมีอีกนามหนึ่งว่า ธาตุนกคุ่ม (พระวฏฺฏกธาตุนกคุ่ม) หรือฮังนกคุ่ม[15] ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารพื้นเมืองจันทะบูลีว่า ก่อนสร้างพระธาตุพนมได้ปรากฏเฮือนหิน (ปราสาท) บนภูกำพร้าก่อนแล้ว ส่วนเอกสารตำนานขุนบูลมกล่าวว่าธาตุพนมเป็นเมืองสำคัญ ๑ ใน ๗ หัวเมืองทางศาสนายุคแรกของสุวรรณภูมิประเทศ ที่ได้รับการประดิษฐานพระบรมธาตุก่อนหัวเมืองทั้งหลาย แม้แต่อาณาจักรล้านนาก็ยอมรับให้เป็นพระบรมธาตุสำคัญประจำปีสันหรือนักษัตรวอกตามคติชุธาตุด้วย[16]

คัมภีร์อุรังคธาตุกล่าวถึงสถานะของธาตุพนมว่าเป็น พุทธศาสนานคร หรือ ศาสนานคร เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองจึงถูกเรียกว่า ศาสนานครนิทาน จารึกเจ้าพระยาหลวงนครพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรหลวงจึงออกนามเมืองว่า สาสสนาพระนม เมืองพุทธศาสนานคร[17] นั้นหมายถึง เมืองศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา จิตวิญญาณ ศรัทธาและความเชื่อของชาวลาวและชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านช้าง ถึงขนาดชาวต่างชาติขนานนามเมืองว่า เมืองเมกกะของลาว เนื่องจากเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูรและพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างถวายเขตแดนเป็นกัลปนาแด่พระธาตุพนม นัยหนึ่งเรียกว่าเมืองข้าโอกาสหยาดทานหรือเมืองข้อยโอกาส เจ้าผู้ปกครองเมืองธาตุพนมมีสถานะพิเศษต่างจากเจ้าเมืองทั่วไป จารึกผูกพัทธสีมาวัดธาตุพนมของเจ้าเมืองมุกดาหารออกนามเจ้าผู้ปกครองธาตุพนมว่า ขุนโอกาส (ขุนเอากฺลาษฺ)[18] ส่วนอุรังคธาตุฉบับบ้านเชียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี ๒ ฉบับออกนามว่า เจ้าโอกาส (เจ้าโอกาด)[19] [20] หมายถึงเจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งข้าโอกาสพระธาตุพนมคล้ายกับสถานะขุนสัจจพันธคีรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสี นพคูหาพนมโขลน[21] ผู้ดำรงตำแห่ง ขุนโขลน เจ้าเมืองพระพุทธบาท (เมืองสุนาปรันตประเทศ) หัวเมืองกัลปนาชั้นจัตวาของสยาม[22] คล้ายกับการปกครองเมืองจำปาอันเป็นส่วนแห่งพรหมไทย (พรหฺมเทยฺย) ซึ่งกษัตริย์ถวายแก่พราหมณ์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และคล้ายกับบรรดาศักดิ์ โขลญพล (โขฺลญฺ วล กํมฺรเตงฺ อญฺ) เจ้าเมืองกัลปนาของเขมรโบราณ เช่น เมืองลวปุระ (ลพบุรี) ในสมัยขอมเรืองอำนาจ[23] สถานะผู้ปกครองเช่นนี้ยังปรากฏในอาณาจักรล้านช้างหลายแห่ง เช่น กวานนาเรือเมืองนาขาม เมืองหินซน และเมืองซนู แถบถ้ำสุวรรณคูหาในหนองบัวลำภู ช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นต้น [24] เอกสารบันทึกการเดินทางในลาวของเอเจียน เอมอนิเย กล่าวว่าผู้ปกครองธาตุพนมเป็นญาติกับเจ้าเมืองมุกดาหารและเจ้าพระยาหลวงเมืองแสน อำนาจของขุนโอกาสในสมัยล้านช้างมีมากกว่าเจ้าเมืองแถบลุ่มน้ำโขงหลายเมือง ส่วนใบลานพื้นเมืองเวียงจันทน์อย่างน้อย ๓ ฉบับกล่าวว่า ผู้ถูกสถาปนาให้รักษาธาตุพนมทรงเป็นกุมารเชื้อสายเดียวกันกับพระเจ้าพ่ออีหลิบ (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) พระเจ้านันทเสน และพระเจ้าอินทวงศ์ กษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์ทั้ง ๓ พระองค์

สมัยโบราณเวียงพระธาตุของธาตุพนมถูกรายล้อมด้วยเวียงข้าพระธาตุ ๔ แห่ง คือ เวียงปากเซหรือเมืองกะบอง (ปัจจุบันคือเมืองเซบั้งไฟ ลาว) เวียงปากก่ำกรรมเวรหรือเมืองปากก่ำ (ปัจจุบันคือตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม) เวียงขอมกระบินหรือเมืองกบิล (ปัจจุบันคืออำเภอนาแก)[25] เวียงหล่มหนองหรือเมืองมรุกขนคร (ปัจจุบันคือตำบลพระกลางทุ่ง นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าคือบ้านดอนนางหงส์ท่า) ธาตุพนมมีภูมิศาสตร์การวางผังเมืองขนานกับแม่น้ำโขงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วางผังเมืองตามคติจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบ ๓ ชั้น แบ่งพื้นที่สำคัญเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกคือหัวเมืองทางทิศเหนือเป็นที่ตั้ง วัดหัวเวียง (วัดหัวเวียงรังษี) และชุมชนข้าโอกาสเดิมคือ บ้านหัวบึง บ้านหนองหอย เป็นต้น ต่อมาคือตัวเมืองเป็นที่ตั้งองค์พระธาตุพนมซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจพุทธจักร จารึกวัดพระธาตุพนมแสดงให้เห็นว่าวัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชและพระชั้นปกครองเรียกว่า เจ้าด้าน จำนวน ๔ รูป นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งหอเจ้าเฮือน ๓ พระองค์ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจผีบรรพบุรุษ เป็นที่ตั้งบึงธาตุซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองโบราณทิศตะวันออกริมฝั่งโขงซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจการปกครองของเจ้านาย ส่วนทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของชุมชนข้าโอกาสเดิมคือบ้านดอนกลางหรือบ้านดอนจัน ส่วนสุดท้ายคือท้ายเมืองทางทิศใต้เป็นที่ตั้งแม่น้ำก่ำ อุรังคธาตุนิทานกล่าวว่าตอนใต้แม่น้ำนี้เคยเป็นราชสำนักกษัตริย์ที่มาร่วมสร้างพระธาตุพนม และเป็นที่ตั้งของชุมชนข้าโอกาสเดิมคือบ้านน้ำก่ำยาวไปถึงตาลเจ็ดยอดในเขตตัวเมืองมุกดาหารด้วย

อุรังคธาตุและพื้นธาตุพนมกล่าวว่าสมัยพระยานันทเสนกษัตริย์เมืองศรีโคตรบูร (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๓) พระองค์ทรงเป็นเค้าอุปถากพระธาตุพนม จากนั้นทรงแต่งตั้งเจ้า ๓ พี่น้องซึ่งเป็นพระราชนัดดาให้ปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนมโดยแบ่งออกเป็น ๓ กอง ได้แก่ พระยาสหัสสรัฏฐา (เจ้าแสนเมือง) ปกครองนอกกำแพงพระมหาธาตุ พระยาทักขิณรัฏฐาˈ (เจ้าเมืองขวา) ปกครองในกำแพงพระมหาธาตุ และพระยานาคกุฏฐวิตถาร (เจ้าโต่งกว้าง) ปกครองฝั่งซ้ายน้ำโขงตั้งแต่ปากน้ำเซไหลตกปากน้ำก่ำ เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์ได้รับยกย่องให้เป็นมเหสักหลักเมืองธาตุพนมสืบมาถึงปัจจุบัน นับถือกันกว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษรุ่นแรกของข้าโอกาสพระธาตุพนม เรียกว่า เจ้าเฮือนทั้ง ๓ หรือ เจ้าเฮือน ๓ พระองค์ สมัยต่อมาในอุรังคธาตุผูกเดียวกล่าวว่าพระธาตุพนมถูกอุปถากโดย พระยาปะเสน ต่อมาสมัยพระยาสุมิตธรรมวงศาเจ้าเมืองมรุกขนครได้แต่งตั้งให้หมื่นลามหลวง (หมื่นหลวง) เป็นเค้าอุปถากโดยมีนายด่านนายกองช่วยปกครองธาตุพนม พระองค์พระราชทานเงินทองทรัพย์สินจำนวนมากเป็นเครื่องตอบแทน ต่อมาสมัยพระยาสุบินราชพระองค์โปรดฯ ให้ หมื่นมาหารามหลวง และ พวกเฮือนหิน เป็นเค้าอุปถากธาตุพนม เมื่ออาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลงในสมัยล้านช้างตอนต้นคือรัชกาลของพระเจ้าโพธิสาลราช (พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๐) เมืองพนมถูกปกครองโดยขุนนางข้าหัตบาสใกล้ชิดของพระเจ้าโพธิสาลราชจากราชสำนักเมืองหลวงพระบางนามว่า พันเฮือนหิน (พันเฮือหีน) พร้อมได้รับพระราชทานบริวารติดตามให้อีก ๓๐ นาย เรียกว่า กะซารึม ๓๐ ด้ามขวาน ส่วนขุนกินเมืองทั้งหลายได้ส่งคนมาให้อีก ๓๐๐ นาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองธาตพนมสมัยนั้นมีอำนาจมาก นอกจากนี้ยังแต่งตั้ง พันซะเอ็ง (ข้าชะเอ็ง) พี่ชายของพันเฮือนหินให้เป็นผู้ปกครองธาตุพนมร่วมกันด้วย [26] อย่างไรก็ตามพันเฮือนหินได้กลับคืนไปอยู่หลวงพระบางแล้วทำหน้าที่อัญเชิญเครื่องสักการะบูชาของพระองค์ลงมานมัสการพระธาตุพนมในวันสังขานปีใหม่แทน ต่อมาสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๔) พระองค์เสด็จมาบูรณะพระธาตุพนมและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระยาธาตุพระนม หรือ พระยาพระมหาธาตุเจ้า[27] ขึ้นเป็นเจ้าโอกาสรักษานครพระมหาธาตุพนม โดยมี พระยาทั้ง ๔ เป็นผู้ช่วย[28] ถัดนั้นรัชกาลพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. ๒๑๔๐-๒๐๖๕) เจ้าพระยานครหลวงพิชิตราชธานีสีโคดตะบูรหลวงได้เสด็จมาพระราชทานโอวาทแก่พระยาทาด (พระยาธาด) พร้อมแต่งตั้งพระยาทั้ง ๒ คือ พระยาทด และ พระยาสีวิไซ ให้ช่วยปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนม จากนั้นในรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘) ในพื้นธาตุพระนมฉบับวัดใหม่สุวันนะพูมารามเมืองหลวงพระบางกล่าวว่า พระองค์โปรดฯ พระราชทานเขตดินชั้นนอกให้พระธาตุพนมพร้อมแต่งตั้งให้ พระเจ้าเฮือนทั้ง ๓ หรือ พระยาเจ้าทั้ง ๓ ปกครองธาตุพนม ได้แก่ เจ้าตนปู่เลี้ยง เป็นใหญ่ในข้าโอกาสภายในพระมหาธาตุ ส่วนทิศใต้และทิศเหนือนั้นให้ พระยาเคาะยดทะราดธาดพระนม (หมื่นเคาะ) และ พระยาเคายดทะราดธาดพระนม (หมื่นเคา) ปกครอง [29] หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กสังฆราชแห่งเวียงจันทน์ได้อพยพผู้คนจากนครเวียงจันทน์บางส่วนมาถวายไว้เป็นข้าพระธาตุพนมจำนวนมาก พร้อมทั้งต่อเติมเสริมยอดพระธาตุพนมให้สูงขึ้น ในตำนานบ้านดงนาคำซึ่งเป็นหมู่บ้านข้าโอกาสพระธาตุพนมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกล่าวว่า เจ้าราชครูหลวงได้ตั้งให้พระสงฆ์ฝ่ายปกครอง ๔ รูปปกครองวัดวาอารามทั้ง ๔ ทิศในเขตเมืองพนม เรียกว่า เจ้าด้านทั้ง ๔ จากนั้นทรงขออนุญาตเจ้านายผู้ปกครองกองข้าโอกาสพระธาตุพนมซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ กอง ให้เป็นผู้นำพาประชาชนจากเวียงจันทน์ออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่เพื่อให้ข้าโอกาสพระธาตุพนมมีจำนวนเพิ่มขึ้น คือ แสนกลางน้อยศรีมุงคุล หัวหน้าข้าโอกาสให้นำพาผู้คนไปตั้งบ้านหมากนาว[30] แสนพนม ให้นำพาผู้คนไปตั้งบ้านดงใน แสนนามฮาช (แสนนาม) ให้นำพาผู้คนไปตั้งบ้านดงนอก ทั้งสามท่านยังเป็นต้นตระกูลข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งสองฝั่งโขงสืบมาจนปัจจุบัน[31]

ภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์แล้ว (พ.ศ. ๒๒๕๖) เมืองธาตุพนมกลายเป็นหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตหรือเมืองขอบด่าน ต่อแดนระหว่างราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ โดยมีเมืองละคร (นครพนม) ซึ่งขึ้นกับนครเวียงจันทน์ และเมืองบังมุก (มุกดาหาร) ซึ่งขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ ทั้งสองเมืองเป็นผู้ร่วมกันรักษาดูแล โดยแบ่งเขตแดนเมืองกันที่หน้าลานพระมหาธาตุพนม ทำนองเดียวกันกับพระธาตุศรีสองรักเมืองด่านซ้ายซึ่งเป็นเมืองขอบด่านต่อแดนระหว่างราชอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตและราชอาณาจักรศรีอยุธยา[32] ดังนั้นเมืองธาตุพนมจึงมีสถานะพิเศษแตกต่างจากหัวเมืองหลายเมืองในลาวและอีสาน[33] อย่างไรก็ตาม โดยราชธรรมเนียมแล้วเจ้าเมืองนครพนมมักมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้านายชั้นสูงมาปกครองเมืองพนม อันเนื่องมาจากเมืองมุกดาหารเป็นหัวเมืองที่มีอำนาจน้อยกว่า ในจารึกลานเงินพระธาตุพนมสมัยปลายรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชหรือสมัยพระยาจันทสีหราช (พระยาเมืองแสน) กล่าวว่าเจ้านครวรกษัตริย์ขัติยราชวงศา (พ.ศ. ๒๒๓๘) ได้สิทธิพระพรนามกรถึง แสนจันทรานิทธสิทธิมงคลสุนทรอมร สันนิษฐานว่าแสนจันทรานิทธผู้นี้คือผู้ปกครองเมืองธาตุพนมในสมัยนั้น ต่อมาในสมัยปลายอยุธยา เมืองธาตุพนมถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งโดยกลุ่มตระกูลเจ้านายจากราชวงศ์เวียงจันทน์พระนามว่า เจ้าพระยาหลวงบุตรโคตรวงศากวานเวียงพระนม โอรสของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารแห่งนครเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) จากนั้นจึงสถาปนาให้บุตรของตนปกครอง คือ เจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส (ราม รามางกูร) ซึ่งในพื้นประวัติวงศ์เจ้าเมืองพนมออกพระนามเต็มว่า พระอาจชญาหลวงเจ้าพระรามราชปราณีสีสุธมฺมราชา สหสฺสาคามเสลามหาพุทฺธปริษทฺทะบัวระบัติ โพธิสตฺวขัตฺติยวรราชวงศา พระหน่อรามาพุทธังกูร เจ้าเอากาสศาสนานครพฺระมหาธาตุเจ้าพฺระนม พิทักษ์บุรมมหาเจติย วิสุทฺธิรตฺตนสถาน คนทั่วไปออกนามว่า เจ้าพ่อขุนราม หรือ เจ้าพ่อขุนโอกาส (พ.ศ. ๒๒๙๑-๒๓๗๑) จากนั้นในสมัยเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑) ทรงเสด็จมาแต่งตั้งพระโอรสของเจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส (ราม รามางกูร) คือ เจ้าพระรามราชปราณีศรีมหาพุทธปริษัท (ศรี รามางกูร) หรืออาชญาหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล ขึ้นปกครองธาตุพนมต่อจากพระบิดา ซึ่งในอุรังคธาตุออกนามว่า แสนกางน้อยศรีมุงคุรร์[34] เอกสารบางแห่งกล่าวว่าทรงถูกแต่งตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าอุปราชนองแห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๒๗๓-๒๓๒๒)[35] เจ้านายทั้ง ๓ องค์เป็นต้นตระกูล รามางกูร แห่งอำเภอธาตุพนมและเป็นญาติใกล้ชิดกับเจ้าอนุวงศ์ ตระกูลนี้มีอำนาจบทบาทสืบมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลและถือเป็นต้นตระกูลเก่าแก่หลายตระกูลของอำเภอธาตุพนมในปัจจุบัน เช่น บุคคละ ประคำมินทร์ จันทศ มันตะ สารสิทธิ์ ลือชา ทามนตรี ทศศะ พุทธศิริ รัตโนธร ครธน สุมนารถ มนารถ อุทา สายบุญ เป็นต้น กลุ่มตระกูลเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเครือข่ายที่มีบทบาททำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในเมืองธาตุพนมและวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เจ้านายและนายกองตลอดจนกรมการเมืองที่ปกครองธาตุพนมในยุคต่อมา มักมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองทางเครือญาติด้วยกัน [36] อย่างไรก็ตาม ในพื้นประวัติวงศ์เจ้าเมืองพนมกล่าวถึงจำนวนผู้ปกครองเมืองพนมโดยพิศดารก่อนการเข้ามาปกครองโดยราชวงศ์เวียงจันทน์ว่า มีเจ้าโอกาส (บ้างออกนามว่าขุนพนม เจ้าพระนม เพียพระนม กวานพนม) ปกครองเมืองธาตุพนมมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔๐ องค์จากราชวงศ์ศรีโคตรบูรซึ่งสืบเชื้อสายผ่านทางเจ้าเฮือนทั้ง ๓ พระองค์

ในรัชกาลเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑) เมืองธาตุพนมเกิดปัญหาการถูกรุกรานและการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนม อันเนื่องมาจากสยามได้ให้อำนาจเจ้าเมืองนครราชสีมาและเจ้าเมืองกาฬสินธุ์มาสักเลกข้าจนได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย และกลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสงครามเจ้าอนุวงศ์ด้วย[37] ปัญหาการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมยืดเยื้อจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเจ้าเมืองทั้ง ๓ คือ นครพนม มุกดาหาร และสกลนครแย่งชิงข้าเลขพระธาตุพนมไปเป็นข้าเลขเมืองของตน (พ.ศ. ๒๔๓๒)[38] เอกสารต่างชาติเรื่องบันทึกการเดินทางในลาว ตรงกับสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสของหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายกล่าวถึงสาเหตุการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมว่า เดิมเมืองธาตุพนมเป็นเมืองอิสระจากอำนาจรัฐ (ก่อน พ.ศ. ๒๔๒๔) หลังการวิวาทของเจ้านายท้องถิ่นทางธาตุพนมได้การขอความคุ้มครองจากเมืองนครพนมและเมืองมุกดาหาร เป็นเหตุให้ข้าพระธาตุพนมจำนวนมากถูกแย่งชิงไปขึ้นกับเมืองนครพนมและเมืองมุกดาหารจนไม่เป็นที่พอใจแก่ประชาชนชาวธาตุพนม และเป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองธาตุพนมไม่สามารถตั้งเจ้าเมืองได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง พร้อมทั้งไม่สามารถตั้งธาตุพนมให้เป็นเมืองในขอบขัณฑเสมาสยามได้ ต่อมาเจ้านายท้องถิ่นได้พยายามขอความคุ้มครองจากสยามแทน ในพื้นประวัติวงศ์เจ้าเมืองพนมกล่าวว่า ชนวนวิวาทครั้งนี้เกิดจากการแย่งชิงกันขึ้นปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนมของพระอัคร์บุตร (บุญมี บุคคละ) พระอุปฮาต (เฮือง รามางกูร) และพระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆ รามางกูร) ทั้ง ๓ เป็นทายาทใกล้ชิดของเจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส [39]อย่างไรก็ตาม ในอุรังคธาตุฉบับม้วนอานิสงส์ และพื้นธาตุหัวอกได้กล่าวถึงปัญหาการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมว่ามีมานานตั้งแต่สมัยก่อนเมืองมรุกขนครจะล่มสลาย สมัยนั้นตรงกับรัชกาลของพระยานิรุฏฐราช เอกสารนี้แสดงให้เห็นว่าการที่เมืองมรุกขนครล่มสลายลงก็เนื่องมาจาก พระยานิรุฏราชเจ้าเมืองมรุกขนครให้คนมาแย่งชิงข้าพระธาตุพนมไปใช้สอยในราชการ[40]

หลังสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เมืองพนมมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างเบาบางเนื่องจากปัญหาการเมืองการสงคราม และมีฐานะเสมอหนึ่งหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีหมู่บ้านขนาดเล็กรายรอบ ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่บ้านธาตุพนมเช่นเดิม หลังช่วงเวลานี้ไม่นาน ในทัศนะของคนท้องถิ่นเห็นว่าธาตุพนมยังคงเป็นเมืองอยู่ รวมถึงในเอกสารแผนที่ของฝรั่งเศสมากกว่า ๓ ฉบับยังคงออกนามว่า เมืองพนมหรือเมืองธาตุพนมอยู่ จากนั้นไม่นาน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สยามถือว่าธาตุพนมตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของสยาม แต่หลังจากกรณี ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ทำให้สยามไม่สามารถสร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารในเขต ๒๕ กิโลเมตรจากน้ำโขงทางฝั่งขวา และยังไม่ได้เข้ามาจัดการการปกครองอย่างเต็มรูปแบบ โดยปล่อยให้เจ้านายท้องถิ่นปกครองกันเองตามธรรมเนียมเดิม เป็นเหตุให้เจ้านายธาตุพนมบางส่วนไปฝักใฝ่กับอำนาจฝรั่งเศสเช่นเดียวกับเจ้านายเมืองนครพนม เจ้านายเมืองพาลุกากรภูมิ และเจ้านายเมืองเรณูนคร เจ้าเมืองธาตุพนมถูกกล่าวถึงครั้งสุดท้ายในบันทึก ดร. เปแนซ์ หมอชาวฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๔๒๕) นอกจากนี้ ในจารึกการบูรณะพระธาตุพนมได้กล่าวถึงผู้ปกครองเมืองธาตุพนมคนสุดท้ายก่อนถูกยุบลงเป็นกองบ้านธาตุพนม นัยว่าได้ถูกลดอำนาจมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์และมีอายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๕ คือ พระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆ รามางกูร) หรืออาชญาหลวงปาฑี (ก่อน พ.ศ. ๒๔๔๔)

หลังจากยุคนี้แล้วในตำนานบ้านชะโนดและบ้านสะโน ซึ่งเป็นหมู่บ้านข้าโอกาสพระธาตุพนมมาแต่เดิมกล่าวว่า ธาตุพนมได้ถูกปกครองจากนายกอง ๓ ท่าน ซึ่งมีเชื้อสายเป็นเจ้านายท้องถิ่นและเกี่ยวดองทางเครือญาติกับขุนโอกาสเมืองธาตุพนมเดิมคือ กวานหลวงอามาตย์ (อำนาจ) ท้าวสุริยะ (อ้วน) และ ท้าวราชวัตริ์ (คูณ) [41] หลังจากนั้นข้าพระธาตุพนมถูกปกครองโดยขุนนางท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวดองทางเครือญาติกับตระกูลขุนโอกาสเดิมอีกสายหนึ่งนามว่า ท้าวอุปละ (มุง) (พ.ศ. ๒๔๑๗) ในช่วงนี้ปัญหาการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมยังคงดำเนินมา จนถึงสมัยสุดท้ายก่อนปฏิรูปการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๔๔) ทางสยามได้เข้ามาจัดการกับหัวเมืองลาวและหัวเมืองอีสานท้องถิ่น [42] เอกสารของทางสยามออกนามเมืองพนมว่า บ้านทาษพนม หมายถึงหมู่บ้านแห่งข้าทาสขององค์พระธาตุพนม จากนั้นเมืองพนมได้รับการยกฐานะเป็นกอง เรียกว่า กองข้าพระธาตุพนม หรือ กองบ้านทาษพนม (พ.ศ. ๒๔๒๒) โดยสยามได้จัดการแต่งตั้งให้มีนายกองเชื้อสายข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมจากสองเมืองคือเมืองนครพนมและเมืองมุกดาหารเป็นผู้ดูแลข้าโอกาสพระธาตุพนม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี ว่าราชการหัวเมืองลาว ซึ่งมีเชื้อสายจากกษัตริย์เวียงจันทน์ทางฝ่ายพระราชมารดา ให้มีอำนาจเป็นผู้แต่งตั้งเจ้านายธาตุพนมขึ้นปกครองกองข้าโอกาสพระธาตุพนม พร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้านายธาตุพนมว่า พระพิทักษ์เจดีย์ (นายกอง) และ หลวงโพธิ์สาราช (ปลัดกอง) [43] ตำแหน่งพระพิทักษ์เจดีย์พระธาตุพนมแห่งเมืองนครพนมนี้ถูกแต่งตั้งคู่กันกับพระพิทักษ์เจดีย์พระธาตุเชิงชุมแห่งเมืองสกลนคร จากนั้นไม่นานเจ้านายท้องถิ่นได้มีความพยายามยกกองบ้านธาตุพนมให้มีฐานะเป็นเมืองอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า เมืองทาษพนม โดยขอเสียส่วยขึ้นแก่กรุงเทพมหานครโดยตรงแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นปัญหาภายในของเจ้านายท้องถิ่น อันเกิดจากการขัดแย้งผลประโยชน์กันเอง[44] นายกองบ้านธาตุพนมได้ดำรงตำแหน่งสืบทอดมาได้รวม ๓ ท่าน (พ.ศ. ๒๔๒๒) ทางสยามได้พระราชทานตราประจำตำแหน่งเป็นรูปเทวดานั่งแท่นหัตถ์ทรงพระขรรค์และพวงมาลัยให้เสมอตราประทับเจ้าเมือง ทั้งหมดต่างมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับขุนโอกาสเมืองธาตุพนมเดิมทั้งสิ้น คือ พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) บรรดาศักดิ์เดิมที่ท้าวอุปละ พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น) บรรดาศักดิ์เดิมที่ท้าวพระละคร และ พระพิทักษ์เจดีย์ (ศรี) บรรดาศักดิ์เดิมที่พระศรีชองฟ้า ทั้งหมดต่างถึงแก่กรรมที่กรุงเทพพระมหานคร ด้วยสาเหตุต้องเดินทางไปฟ้องร้องเจ้าเมืองรายรอบที่เข้ามาแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมจนเบาบางลง ส่วนปลัดกองคนสุดท้ายของธาตุพนมนั้นปรากฏนามว่า อาชญาโพธิสาร (พ.ศ. ๒๔๓๙) จากนั้นไม่นาน ประชาชนท้องถิ่นได้พยายามตั้งเมืองธาตุพนมให้เป็นศูนย์กลางการปกครองอีกครั้ง โดยแผนการของกลุ่มท้าวผู้มีบุญองค์พระบาทและองค์ครุธราช โดยมีกลุ่มองค์มั่นเป็นหัวหน้า แผนการครั้งนี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นที่ธาตุพนมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่นครเวียงจันทน์ นครจำปาศักดิ์ อัตตะปือ อุบลราชธานี ขุขันธ์ และเขมราษฎร์ธานีด้วย อย่างไรก็ตาม สยามได้ปราบปรามกองกำลังเหล่านี้ด้วยอาวุธอย่างรุนแรงจึงถือว่าแผนการครั้งนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเอกสารพื้นตำนานครุธราชและพื้นตำนานพระบาทใช้ชาติ[45]กล่าวว่า ความวุ่นวายครั้งนี้เกิดขึ้นจากพระอัครบุตร์ (บุญมี) ไม่พอใจสยามที่ตั้งพระพิทักษ์เจดีย์เป็นนายกองจึงได้ขอความช่วยเหลือจากผีบุญองค์ครุธเข้ามายึดธาตุพนมเพื่อให้ตนได้ขึ้นปกครองธาตุพนมในฐานะเจ้าเมืองต่อจากบิดาของตน[46] เมื่อไม่สำเร็จพระอัครบุตร์ (บุญมี) จึงข้ามไปอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสแล้วถูกแต่งตั้งเป็น พระมหาสมเด็จราชาธาตุพระนมบุรมราชาเจดีย์มหาคุณ ขึ้นปกครองกองข้าโอกสพระธาตุพนมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแทน ทำให้กองข้าโอกาสพระธาตุพนมถูกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ต่อมาได้สละตำแหน่งให้หลวงโพธิ์สาราชบุตรชายของตนปกครอง ฝรั่งเศสจึงตั้งกองข้าโอกาสพระธาตุพนมฝั่งซ้ายเป็นเมืองปากเซบั้งไฟ และตั้งหลวงโพธิ์สาราชเป็นพระยาโพธิ์สาราชเจ้าเมืองปากเซบั้งไฟ ตั้งท้าวกัตติยะหลานพระอัครบุตร์ (บุญมี) เป็นอุปฮาด ซึ่งตรงกับช่วงที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) เดินทางจากอุบลราชธานีมาบูรณะพระธาตุพนมครั้งใหญ่ตามคำเชิญของพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) และพระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)

หลังปฏิรูปการเมืองการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลโดยยกเลิกระบบอาญาสี่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมการปกครองของหัวเมืองลาวโบราณแล้ว กองบ้านธาตุพนมได้ถูกจัดตั้งเป็นบริเวณ เรียกว่า บริเวณธาตุพนม (พ.ศ. ๒๔๔๓) มีศูนย์กลางราชการที่เมืองนครพนม โดยมีพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) เป็นข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนม จากนั้นได้ถูกลดสถานะเป็นตำบลธาตุพนม โดยมีพระบำรุงพนมเจดีย์ (เทพจิตต์ บุคคละ) บุตร์ชายคนโตของพระอัครบุตร์ (บุญมี) เป็นผู้รักษาราชการคนสุดท้าย (พ.ศ. ๒๔๔๖) [47] และมีหมื่นศีลาสมาทานวัตร (ศีลา บุคคละ) น้องชายของพระบำรุงพนมเจดีย์ (เทพจิตต์) เป็นกำนันตำบลธาตุพนมคนแรก (พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๔๕๗) กำนันในยุคต่อมาต่างมีบรรดาศักดิ์ด้วยกันทั้งสิ้น ได้แก่ พระอนุรักษ์เจดีย์ (สา บุปผาชาติ) ขุนเปรมปูชนีย์ (บุญ สุภารัตน์) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๘ เมื่อมีการประกาศยกเลิกระบบบรรดาศักดิ์ขุนนางแล้วจึงถือว่าพระรักษ์ (พัน พรหมอารักษ์) บุตร์ชายหมื่นพรหมอารักษ์ (ทอก) อดีตกรมการบ้านหนองหอย เป็นกำนันบรรดาศักดิ์คนสุดท้ายของตำบล (พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๘) และได้มีการเลือกให้นายสุนีย์ รามางกูร บุตร์ชายพระอัครบุตร์ (บุญมี) เป็นกำนันตำบลธาตุพนมคนต่อมา (พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๐๕) ขณะเดียวกันนั้น เมื่อธาตุพนมได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอธาตุพนมมาจนถึงปัจจุบัน ทางราชการได้แต่งตั้งให้รองอำมาตย์เอกหลวงพิทักษ์พนมเขต (ศรีกระทุม จันทรสาขา)[48] บุตร์ชายของพระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) อดีตเจ้าเมืองมุกดาหาร[49] มาเป็นนายอำเภอธาตุพนมคนแรก (พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๘๑) [50] และได้รับพระราชทานนามสกุลจากราชทินนามเดิมว่า พิทักษ์พนม (พ.ศ. ๒๔๘๕) [51]

  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลพระกลางทุ่ง แยกออกจากตำบลธาตุพนม ตั้งตำบลแสนพัน แยกออกจากตำบลดอนนางหงส์[52]
  • วันที่ 18 กรกฎาคม 2493 ตั้งตำบลท่าลาด แยกออกจากตำบลเรณู[53]
  • วันที่ 30 พฤษภาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลธาตุพนม ในท้องที่บางส่วนของตำบลธาตุพนม[54]
  • วันที่ 21 เมษายน 2507 จัดตั้งสุขาภิบาลเรณูนคร ในท้องที่บางส่วนของตำบลเรณู และตำบลโพนทอง[55]
  • วันที่ 5 พฤษภาคม 2513 แยกพื้นที่ตำบลเรณู ตำบลโพนทอง และตำบลท่าลาด อำเภอธาตุพนม มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเรณูนคร ขึ้นกับอำเภอธาตุพนม[56]
  • วันที่ 29 กันยายน 2513 ตั้งตำบลโพนแพง แยกออกจากตำบลนาถ่อน ตั้งตำบลนางาม แยกออกจากตำบลโพนทอง และตั้งตำบลโคกหินแฮ่ แยกออกจากตำบลเรณู[57]
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2518 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเรณูนคร อำเภอธาตุพนม เป็น อำเภอเรณูนคร[58]
  • วันที่ 31 ตุลาคม 2521 ตั้งตำบลอุ่มเหม้า แยกออกจากตำบลน้ำก่ำ[59]
  • วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลนาหนาด แยกออกจากตำบลฝั่งแดง[60]
  • วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 ตั้งตำบลกุดฉิม แยกออกจากตำบลแสนพัน[61]
  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 ตั้งตำบลธาตุพนมเหนือ แยกออกจากตำบลธาตุพนม[62]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลธาตุพนม เป็นเทศบาลตำบลธาตุพนม