ประวัติ ของ อินเบก

อินเบกเป็นชาวอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน) เมืองจื่อถง (梓潼郡 จื่อถงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เวลานั้นผู้คนจำนวนมากในมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ชื่นชอบงานเขียนร่วมสมัยมากกว่าบทกวีโบราณซึ่งไม่คุ้นเคย อินเบกเดินทางไปตะวันออกไปยังมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ร่วมกับหลี่ เหริน (李仁) ซึ่งมาจากบ้านเกิดเดียวกันกับอินเบก[3] เพื่อไปเรียนบทกวีโบราณจากสุมาเต๊กโชและซงต๋ง (宋忠 ซ่ง จง; รู้จักในอีกชื่อว่า ซ่ง จ้งจื่อ 宋仲子) อินเบกกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ของลัทธิขงจื๊อ และเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในคัมภีร์จั่วจฺว้าน (左傳) อินเบกเจริญรอยตามบัณฑิตรุ่นก่อนอย่างหลิว ซิน (劉歆) ผู้ใช้จั่วจฺว้าน ในการอธิบายขยายขวามคัมภีร์ชุนชิว และเจิ้ง จ้ง (鄭眾) กับเจี่ย ขุย (賈逵) ผู้เขียนอรรถาธิบายของจั่วจฺว้าน ผลงานของอินเบกได้รับความนิยมอย่างมากจนผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ้างไปถึงต้นฉบับหลังจากได้อ่านผลงานอรรถาธิบายของอินเบกแล้ว[4]

ในปี ค.ศ. 214 หลังขุนศึกเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงผู้เป็นเจ้ามณฑล เล่าปี่ตั้งให้อินเบกเป็นขุนนางผู้ช่วยด้านการศึกษา (勸學從事 เชฺวี่ยนเสฺวฉงชื่อ) ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก หลังจากเล่าปี่ตั้งให้เล่าเสี้ยนพระโอรสเป็นรัชทายาท อินเบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสารถีประจำองค์รัชทายาท (太子僕 ไท่จื่อผู) เป็นผู้สอนคัมภีร์จั่วจฺว้านและคัมภีร์ลัทธิขงจื๊อแก่เล่าเสี้ยน เล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 และเล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ เล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้อินเบกเป็นขุนนางผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) ในราชสำนักจ๊กก๊ก ราวปี ค.ศ. 227 เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กตั้งกองทัพรักษากาณ์อยู่ที่เมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมสำหรับการทัพหลายครั้งต่อวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก อินเบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางผู้ประกอบพิธีบวงสรวงประจำกองทัพ (軍祭酒 จฺวินจี้จิ่ว) ภายใต้จูกัดเหลียง ในปี ค.ศ. 234 หลังจูกัดเหลียงเสียชีวิต อินเบกกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กและได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู) ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าอินเบกเสียชีวิตในปีใดวันใด หลังอินเบกเสียชีวิต อิ่น จง (尹宗) ขึ้นสืบทอดตำแหน่งและขึ้นเป็นบัณฑิต (博士 ปั๋วชื่อ) ประจำราชสำนักจ๊กก๊ก[5]