ปฏิกิริยา ของ อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554

ภายในประเทศ

การประกาศภาวะฉุกเฉินและภาวะภัยพิบัติ

มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ดังนี้ จังหวัดนครสวรรค์ทั้งจังหวัด, จังหวัดปทุมธานี 2 อำเภอ, จังหวัดตาก จังหวัดลำปาง และจังหวัดลพบุรีทั้งจังหวัด วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ในเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร [240] นับเป็นการยกระดับประกาศภายหลังที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินไว้เรียบร้อยแล้ว ตลอดจนมีการประกาศภาวะภัยพิบัติในกรุงเทพมหานคร 17 เขต ประกาศวันที่ 12 ตุลาคม 2554, จังหวัดชลบุรี 10 อำเภอ ประกาศ 30 กันยายน 2554, จังหวัดบุรีรัมย์ 6 อำเภอ ประกาศ 2 ตุลาคม 2554, จังหวัดสมุทรสาคร 3 อำเภอ ประกาศ 7 ตุลาคม 2554[241], จังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอ และจังหวัดภูเก็ตประกาศภัยพิบัติจากดินถล่มทั้งจังหวัด ประกาศเมื่อ 5 ตุลาคม 2554, จังหวัดน่าน ประกาศ 10 อำเภอ และจังหวัดจันทบุรี 8 อำเภอ[242]

จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังในกรุงเทพมหานครรวม 32 เขต[243] ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน จังหวัดนราธิวาส[244] ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติทั้งจังหวัด วันที่ 27 พฤศจิกายน จังหวัดปัตตานี ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ทั้งจังหวัด[245]

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเมื่อ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ว่าไม่มีจังหวัดไหนเลยที่ไม่ประกาศภาวะภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยจังหวัดที่ประกาศน้อยที่สุดได้แก่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติถูกมองว่าเพื่อให้ได้เงินเข้าจังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติและมีการทุจริต

ความขัดแย้งเรื่องการกั้นน้ำ

การใช้พนังกั้นน้ำท่วมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งหลายครั้งระหว่างประชาชนทั้งสองด้าน ฝั่งที่ถูกน้ำท่วมรู้สึกโกรธที่พวกตนได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรม และมักพยายามทำลายพนังกั้นน้ำเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธ ชาวนาในจังหวัดพิจิตร และอื่น ๆ ต่อสู้เพื่อรักษาพนังกระสอบทรายและบานระบายน้ำ[246][247] ราษฎรในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครยังรู้สึกไม่พอใจที่บ้านของตนถูกน้ำท่วม แต่กรุงเทพมหานครได้รับการป้องกัน[248] การโต้เถียงกันว่าการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น ก็มีขึ้นด้วยเช่นกัน

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านตำบลหน้าโคก อมฤตและ ตำบลนาคู ลำตะเคียน ลาดชิด ลาดชะโด ได้ปะทะกันเนื่องจากชาวบ้านตำบลหน้าโคก อมฤตต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อขาวบ้านในตำบลอื่น ๆ และได้ประท้วงปิดถนนผักไห่ แยกจักราช [249]

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านประมาณ 500 คนทำลายแนวกระสอบทรายในจังหวัดชัยนาท[250]

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยากว่า 200 คนบุกจะไปพังประตูน้ำบางกุ้ง ที่ตั้งอยู่ หมู่ 9 ตำบลบ้านกุ่ม ซึ่งกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยากับทุ่งนาฝั่งตะวันออกจำนวน 50,000 กว่าไร่ เขตติดต่อของทุ่งอำเภอบางบาล, อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอป่าโมง จังหวัดอ่างทอง หลังจากหมดความอดทนกับสภาพน้ำท่วมสูงในชุมชนติดแม่น้ำเกือบ 3 เมตรจนไม่มีที่อยู่อาศัย[251]

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่บริเวณถนนสายปทุมธานี-สามโคก เกิดคันกั้นน้ำแตกหลายจุด ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมบ้านชุมชนกฤษณา 2 ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 3,000 คน โดยชาวบ้านบางส่วนได้รวมตัวกันออกมาปิดถนนประท้วงทั้งขาเข้าและขาออก ถนนสายปทุมธานี-สามโคก ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต[252] กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงว่า พวกตนไม่พอใจเมื่อทราบข่าวว่าทางจังหวัดสั่งให้ทหารนำกระสอบทรายมากั้นบริเวณเส้นทางถนนปทุมธานี-สามโคก (สี่แยกสันติสุข) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากตำบลกระแชงไหลผ่านมาเข้าในเขตอำเภอเมืองและลาดหลุมแก้ว และจะปิดถนนจนกว่าจะได้รับคำตอบที่พอใจ

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านกว่า 200 คน ได้รวมตัวชุมนุมปิดถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้าบริเวณหน้าการไฟฟ้าบางขุนเทียน เนื่องจากตกลงกันไม่ได้เรื่องการปิดกั้นน้ำในพื้นที่ โดยทางเคหะชุมชนธนบุรี 1 ได้นำกระสอบทรายมาปิดกั้นคลองระบายน้ำ ทำให้น้ำเอ่อล้นไปทางเคหะชุมชนธนบุรี 2 จนชาวบ้านไม่พอใจอยากให้เจ้าหน้าที่รื้อกระสอบทรายออก[253] วันเดียวกัน ชาวบ้านชุมชนหมู่บ้านธนินทร 1 ได้ทำลายคันกั้นน้ำในพื้นที่เขตดอนเมืองบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาออกโดยมีการอ้างว่า การุณ โหสกุล ได้ติดต่อและได้รับอนุญาตจาก ศปภ. แล้ว[254] และชาวบ้านร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร ประมาณ 300-400 คน รวมตัวประท้วงปิดถนนร่มเกล้าบนสะพานจากมีนบุรีไปสุวรรณภูมิ มากกว่า 2 ชั่วโมง เรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำบึงขวางอีก 1 เมตร จากเดิมที่เปิดอยู่แล้ว 1 เมตร เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังกรมชลประทาน กล่าวว่าได้ โอนอำนาจไปให้สำนักระบายน้ำของกรุงเทพมหานครแล้ว[255]

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านหมู่บ้านการ์เด้นโฮม ซอยพหลโยธิน 60 อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้รื้อคันกั้นน้ำออกทั้งหมด รวมระยะทาง 16 เมตร บริเวณถนนจันทรุเบกษาแยกกรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ[256] ขณะที่จุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า พื้นที่เขตสายไหมตอนใต้อาจได้รับผลกระทบจากน้ำ เวลา 13.00 น. ชาวบ้านจากชุมชน ริเวอร์ ปาร์ค วัดประยูร เซียร์รังสิต ชุมชนริมคลองคูคต-ลำลูกกา คลอง 1 ชุมชนปิดถนนทางด่วนโทลล์เวย์ ขาเข้าบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปะทะกับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง โดยมีรถยนต์คันหนึ่งได้เคลื่อนรถขับไล่ดันชาวบ้านให้ออกจากถนน จนทำให้ชาวบ้านระงับอารมณ์ไม่อยู่ กระโดดขึ้นไปบนหลังคารถ พร้อมทั้งทุบกระจกรถคันดังกล่าว[257]

วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านที่บริเวณริมถนนรังสิต-นครนายก ช่วงหน้าหมู่บ้านฟ้าลากูน ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ได้มีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่าง ๆ จำนวน 13 ชุมชน ที่อยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยชาวบ้านเรีบกร้องให้รัฐบาลรื้อคันกั้นน้ำออกทั้งหมดและชาวบ้านบางส่วนได้ทำลายคันกั้นน้ำ[258]

ขณะที่กลุ่มชาวบ้านกว่า 100 คน ที่พักอาศัยอยู่ในซอยสนามกีฬาจังหวัดปทุมธานี รื้อแนวกระสอบทรายยักษ์ ที่บริเวณเกาะกลางและบริเวณริมถนนติวานนท์ ชาวบ้านได้ใช้มีดกรีดตัดกระสอบทรายบิ๊กแบ็กจนขาดเป็นแนวยาวประมาณ 10 เมตร และชาวบ้านในซอยโรงเรียนจารุศร ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ประมาณ 100 คน ได้ชุมนุมบริเวณด้านข้างสถาบันเอไอที เพื่อมาเจรจากับทางสถาบันเอไอที โดยยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1. ขอให้สถาบันเอไอที ลดจำนวนการสูบน้ำจาก 12 เครื่อง ให้เหลือ 6 เครื่อง เพื่อลดผลกระทบจากน้ำที่ถูกสูบออกมายังพื้นที่ชุมชน และ 2. ขอให้ลอกคลอง และผักตบชวาที่ขวางทางน้ำ ตั้งแต่บริเวณต้นคลองจนถึงบริเวณท้ายคลองริมทางรถไฟ[259]

การประท้วงปิดถนน

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ชาวบ้านในตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีกว่า 100 คน รวมตัวกันปิดถนนบริเวณสะพานสายไหมหทัยราษฎร์ แขวงและเขตสายไหม เพื่อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครเปิดประตูระบายน้ำขึ้นอีก 20 เซนติเมตร หลังชาวบ้านในพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังมานานกว่า 2 เดือนแล้ว[260]

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อยและอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กว่า 200 คน ได้รวมตัวประท้วงปิดถนนหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี เรียกร้องต้องการพบวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการเปิดประตูน้ำตามคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ หลังเคยมีการเจรจาตกลงกันว่าชาวบ้านจะสามารถกลับเข้าบ้านพักในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยต้องมารักษาความสงบ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมกีดขวางเส้นทางการจราจร[261]

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านซอยรามอินทรา เลขคี่ ซอย 1 - 39 เดินรวมตัวเข้าปิดถนนรามอินทราซอย 5 หลังจากส่งตัวแทนเข้าหารือกับผู้อำนวยการเขตบางเขน และผู้อำนวยการกองพัฒนาการระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องวิธีการระบายน้ำ[262]

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ปากซอยพหลโยธิน 48 มีชาวบ้านจากชุมชนพหลโยธิน 48 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน จำนวนกว่า 200 คน ชุมนุมประท้วงหลังถูกน้ำท่วมขังภายในซอยสูงกว่า 1 เมตร นานกว่า 1 เดือน ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณชุมชน เพื่อเร่งระบายน้ำลงคลองสอง และให้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว เพื่อระบายน้ำที่ท่วมชุมชนโดยเร็ว พร้อมกับขอพบตัวแทนจาก ศปภ. หรือกรุงเทพมหานคร[263] ต่อมาทางกลุ่มผู้ประท้วงได้ปิดถนนพหลโยธินขาเข้า หลังจากไม่มีตัวแทนมาเจรจา จนกระทั่ง ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นตัวแทนจาก ศปภ. เดินทางมาพบกลุ่มผู้ประท้วงและเจรจา กระทั่งผู้ประท้วงพอใจและสลายตัว

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ชาวบ้านตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รวมตัวปิดถนนพุทธมณฑล สาย 4 เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากในพื้นที่ ต.กระทุ่มล้ม มีน้ำท่วมขังนานกว่า 1 เดือน และกำหนดระยะเวลาแก้ไขปัญหาภายใน 3 วัน โดยนายกเทศมนตรีเมืองกระทุ่มล้มเข้าเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน เบื้องต้นชาวบ้านเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ด้านนายกเทศมนตรี กล่าวว่า จะพยายามทำตามข้อเรียกร้อง โดยชาวบ้านบางส่วนต้องการให้ตอบสนองข้อเรียกร้องทันที[264]

การเมือง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยขัดแย้งกันเองถึงขั้นต้องให้หัวหน้าพรรคช่วยเจรจาและเป็นสักขีพยาน และมีการตำหนิการทำงานของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และจิรายุ ห่วงทรัพย์[265] ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี[266]

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวตัดพ้อว่า รัฐบาลไม่ค่อยให้การช่วยเหลือ เช่น มอบกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำล่าช้า[267] ต่อมา ปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์ thaiflood ได้ประกาศลาออกจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพราะไม่พอใจที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกและไม่ให้ร่วมเข้าประชุม[268]

พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ถูกย้ายให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการโดยระบุในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 522/2554 [269] ด้วยเหตุผลว่า จำเป็นและเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในการประสานราชการระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2554

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ายโฆษกกรุงเทพมหานคร และอดีตโฆษกไปปฏิบัติตำแหน่งหน้าที่ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554เจริญรัตน์ ชุติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในคำสั่งย้ายวัชราภรณ์ กวยะปาณิก ผู้อำนวยการเขตบางเขน ไปช่วยราชการที่สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการแจ้งเท็จเกี่ยวกับการกำจัดขยะในพื้นที่เขตบางเขนแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[270]

การให้ความช่วยเหลือ

ภาครัฐ
มีการจัดที่พักชั่วคราวที่สนามกีฬา มหาวิทยาลัย โรงเรียน และอาคารรัฐบาลต่าง ๆ

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้างอันเนื่องจากเหตุอุทกภัย[271]

ปฏิบัติการเฝ้าตรวจและบรรเทาสาธารณภัยอุทกภัยแบบรวมศูนย์เริ่มขึ้นในกลางเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งดำรงตำแหน่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยี่ยมจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม และมอบหมายให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเยี่ยมราษฎรที่ได้รับผลกระทบ โดยสัญญาจะสนับสนุนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น[272] ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ภายใต้กำกับของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานงานความพยายามเตือนภัยและบรรเทาภัยพิบัติ[273] รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณบรรเทาอุทกภัยเพิ่มเติมให้แก่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ[274]นายกรัฐมนตรียังให้คำมั่นว่าจะลงทุนในโครงการป้องกันระยะยาว รวมทั้งการก่อสร้างคลองระบายน้ำ

กองทัพได้ระดมกำลังพลเพื่อกระจายความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มและองค์การพลเรือนก็ได้มีส่วนเช่นกัน โดยอาสาสมัครช่วยกันจัดถุงยังชีพและส่งความช่วยเหลือไปยังบางพื้นที่ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อประสานงานการส่งความช่วยเหลือ สนามกีฬาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตใช้เป็นที่พักพิงแก่ผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ดี หลายคนในพื้นที่ประสบภัยไม่ยอมละทิ้งบ้านเรือนของตนด้วยกลัวว่าจะถูกปล้น ด้านตำรวจได้ตอบสนองประชาชนโดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษในการป้องกันอาชญากรรมในช่วงมีเหตุการณ์อุทกภัย[275] ขณะที่หน่วยงานของรัฐได้จัดองค์กรพิเศษเช่น กรมประมงจัดหน่วยพิเศษเพื่อจับจระเข้ในนาม หน่วยปฏิบัติเฉพาะกิจผู้ประสบเหตุจระเข้หลุดรอดจากอุทกภัย และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย[276]ตำรวจตระเวณชายแดนตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้จัดเรือหลายร้อยลำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขับดันน้ำด้วยใบจักรเพื่อเพิ่มการไหลน้ำลงสู่ทะเล อันเป็นเทคนิคซึ่งทรงเสนอโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อช่วยเร่งการไหลของน้ำผ่านคลองลาดพร้าวที่แคบกว่ามาก[277] ยิ่งลักษณ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้โดยโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ผู้เรียกปฏิบัติการนี้ว่าเป็นการ "เสียเวลา" เพราะทะเลมีคลื่นสูงในขณะนั้น[278] ด้านดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการดังกล่าวเช่นกัน โดยอ้างว่า "การเร่งเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาอันกว้างใหญ่นั้นเสียเปล่า เพราะมันจะขับดันเฉพาะน้ำบนพื้นผิวเท่านั้น"[279]

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดหน่วยปฏิบัติเฉพาะกิจศูนย์รักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และการจราจร กับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทั้งสองแห่งรวมทั้งจัดอบรมการขับเรือแก่ข้าราชตำรวจเพื่อจับโจรผู้ร้ายในสถานการณ์ปัจจุบัน[280]และให้บริการจับสัตว์ดุร้ายรวมถึงการอพยพคนการแจกสิ่งของต่าง ๆ ในพื้นที่ ๆ ประสบปัญหาอุทกภัย

การประปานครหลวงได้ดำเนินการผ่อนผันการชำระค่าประปาในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2554 โดยให้ชำระอย่างช้าภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 มิฉะนั้นจะดำเนินการตัดน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ดำเนินการผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้าเช่นเดียวกัน[281]

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้การเบิกจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อครอบครัว โดยมี 62 จังหวัดเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา[282]

ภาคเอกชน

อุทกภัยในครั้งนี้มีหน่วยงานของเอกชนอาทิ ปูนซิเมนต์ไทยได้จัดรถเพื่อรับส่งประชาชนที่ประสบอุทกภัย[283] เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้จัดถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน[284] ขณะที่เซเว่น อีเลฟเว่นจัดอาหารเพื่อบริการประชาชนเช่นเดียวกัน[285]

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 บริษัท สิงห์ชัย อุตสาหกรรม จำกัด และเจ้าหน้าที่เทศบาลจังหวัดสมุทรสาครได้ร่วมมือกันเพื่อจัดทำโครงการคลองประดิษฐ์ขึ้น ใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านบาท[286]

ต่างประเทศ

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ฮิลลารี คลินตันได้แถลงผ่านทางเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แสดงความเสียใจและห่วงใยต่อเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนามของประธานาธิบดีและประชาชนชาวสหรัฐ[287]

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน (CVN-73) เช่นเดียวกับเรือแห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาอีกหลายลำถูกส่งมายังประเทศไทยเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัย แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ารัฐบาลไทยได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือไม่ จากท่าทีอันหลากหลายของรัฐบาลไทย จนถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังไม่ได้รับการร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ[288]

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 กวาน มู เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย มอบเครื่องสูบน้ำจำนวน 500 เครื่อง เรือติดรถยนต์ 685 ลำ ส่วนการสั่งซื้อเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมของรัฐบาลไทยนั้น เป็นการสั่งซื้อกับเอกชน ไม่ผ่านรัฐบาลจีน[289]

สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ สุลต่านและสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งประเทศบรูไน ทรงทราบข่าว จึงได้พระราชทานทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100000 ดอลลาร์สหรัฐ(หรือประมาณ35,654,022.51บาทไทย) โดยมี ดาโต๊ะ ดาพูกา ฮัจญี คามิส บิน ฮัจญี ทามิน เป็นตัวแทนมอบผ่านทาง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554

ใกล้เคียง

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555 อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 อุทกภัยในประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2561 อุทกภัยในประเทศปากีสถาน พ.ศ. 2553 อุทกภัยในประเทศจีน พ.ศ. 2563 อุทกภัยในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา พ.ศ. 2566 อุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์ พ.ศ. 2553-2554 อุทกภัยและโคลนถล่ม 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549

แหล่งที่มา

WikiPedia: อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554 http://119.46.91.70/attach/files/%E0%B8%A3%E0%B8%B... http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/... http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/... http://www.theage.com.au/national/thailand-floods-... http://asiancorrespondent.com/66695/bangkok-arrang... http://asiancorrespondent.com/67306/thailand-why-w... http://asiancorrespondent.com/67603/tearful-thai-p... http://asiancorrespondent.com/67621/how-much-water... http://asiancorrespondent.com/67677/is-the-thai-go... http://asiancorrespondent.com/68854/bhumipol-dam-w...