ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของ อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีแม่น้ำสามสายหลัก คือ แม่น้ำโขง มูล และชี ซึ่งทุกสายเกิดเหตุน้ำท่วมในปีนี้ เฉพาะในจังหวัดขอนแก่นเพียงจังหวัดเดียว น้ำท่วมพื้นที่เกือบ 350,000 ไร่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ซึ่งปกติจัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี ได้เพิ่มงบพิเศษอีก 50 ล้านบาทในปีนี้ และจนถึงขณะนี้ได้ใช้ไปแล้วกว่า 80 ล้านบาท[146]

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่

นครราชสีมา

อิทธิพลจากพายุโซนร้อนนกเตนทำให้เขตเทศบาลนครนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียงมีฝนตกลงมาอย่างหนักเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง เมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ทั่วเมือง ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30-40 เซนติเมตร เนื่องจากท่อระบายน้ำภายในเขตเทศบาลเกิดอุดดัน แต่หลังทางเทศบาลนครนครราชสีมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกทำการกำจัดเศษปฏิกูลที่อุดตันท่อน้ำแล้ว ระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น.

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านจัดสรรโครงการหมู่บ้านไฮซ์แลน 2 และโครงการหมู่บ้านจามจุรี ภายในชุมชนบ้านหนองตะลุมปุ๊ก หมู่ที่ 10 ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมืองนครราชสีมา น้ำจากอ่างกักเก็บน้ำกลางชุมชนได้เอ่อเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนนับ 10 หลังคาเรือน เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินความจุกักเก็บ ระดับน้ำเฉลี่ยประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ระดับน้ำเริ่มทรงตัวและลดลงบ้างหลังทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลานำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ[147]

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาประกาศให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุอุทกภัย 18 อำเภอในเบื้องต้น จังหวัดนครราชสีมา ได้รับรายงานว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นในพื้นที่รวม 79 ตำบล 721 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 19,000 หลังคาเรือน ใน 18 อำเภอของจังหวัด พื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมนับหมื่นไร่ ถนนมากกว่า 70 สายถูกตัดขาด[148]

มหาสารคาม

จังหวัดมหาสารคามได้รับผลกระทบน้ำท่วมใน 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองมหาสารคาม เชียงยืน กันทรวิชัย และอำเภอโกสุมพิสัย น้ำชีที่ท่วมขังไร่นา ส่งผลให้หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ขาดแคลน ทางปศุสัตว์ได้สำรองหญ้าแห้งไว้จำนวน 40 ตัน เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับเกษตรกร[149]

ยโสธร

วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปริมาณน้ำจากจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ไหลเข้าสมทบในพื้นที่จังหวัดยโสธร ทำให้น้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในตำบลเขื่องคำและขุมเงิน อำเภอเมืองยโสธร เสียหายกว่า 1 หมื่นไร่ ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะ ล่าสุดน้ำได้ไหลเข้าท่วมโรงเรียนบ้านคุยตับเต่า สูงกว่า 50 เซนติเมตร ทางโรงเรียนสั่งปิดการเรียนชั่วคราว 10 วัน[150]

ร้อยเอ็ด

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พิทยา กุดหอม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากร่องมรสุมที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกลงในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ปริมาณน้ำจากลำน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น ท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 5 อำเภอ 31 ตำบล 301 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 75,200 คน 18,246 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยจังหวัดร้อยเอ็ดได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้น สมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายให้สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ดนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนรวม 5,000 กว่าชุด และได้จัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว นอกจากนี้ได้มีการจัดหาเครื่องสูบน้ำ 30 กว่าเครื่องและเรือท้องแบน 6 ลำ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย[151]

ศรีสะเกษ

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่โรงเรียนตรางสวาย ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ น้ำท่วมขังสูง 30 เซนติเมตร เต็มบริเวณหน้าโรงเรียน สนามกีฬาใช้การไม่ได้ โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกหนัก นักเรียนหลายคนครอบครัวให้หยุดเรียนเพราะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ในส่วนเกษตรกรที่มีฝูงปศุสัตว์ น้ำท่วมที่หลายพื้นที่ทำให้ไม่มีที่เลี้ยงวัวควาย จึงได้นำมาผูกเลี้ยงไว้ริมทาง[152]

บุรีรัมย์

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ตลอดทั้งน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมาและลำน้ำสาขาต่าง ๆ ได้ไหลมาสมทบลงลำน้ำมาศ อำเภอลำปลายมาศ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วและท่วมถนนและสะพานเชื่อมบ้านผักกาดหญ้า เทศบาลตำบลลำปลายมาศกับบ้านแท่นพระ ตำบลหนองคู ยาวกว่า 300 เมตร โดยน้ำได้ไหลบ่าท่วมถนนสูงกว่า 20 เซนติเมตร ส่วนบริเวณสะพานถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านได้[153]

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ผลจากการระบายจากอ่างเก็บน้ำในจังหวัดสุรินทร์ และอ่างเก็บน้ำลำตะคองทำให้ปริมาณน้ำชีและแม่น้ำมูลหนุนสูงเข้าท่วมจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 2 ด้าน ท่วมนาข้าวกว่า 1 แสนไร่ ส่งผลให้ผลผลิตปีนี้อาจไม่ดีตามที่คาด[154]

สุรินทร์

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 ประชาชนชาวสุรินทร์ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม 15,178 ครัวเรือน อำนวย จันทรัฐ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และฝายชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 18 แห่ง มีบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนลำน้ำชีพบระดับน้ำล้นตลิ่ง การระบายน้ำทำได้รวดเร็ว เพราะฝายชลประทานไม่ได้ยกระดับเก็บกักน้ำในลำห้วย และมีน้ำท่วมขังในนาข้าวบริเวณที่ลุ่มริมลำน้ำชีน้อย ส่วนแม่น้ำมูล มีน้ำท่วมขังในนาข้าวเล็กน้อย สาเหตุเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ เกิดอุทกภัยในพื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลบะ อำเภอท่าตูม นาข้าวเสียหาย 200 ไร่ อำเภอกาบเชิง อำเภอพนมดงรัก นาข้าวและไร่มันสำปะหลัง เสียหาย 10,800 ไร่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 15,178 ครัวเรือน[155]

อำนาจเจริญ

สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ปิยะปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ แจ้งว่า สถานการณ์น้ำในลำน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญเกิดจากลำน้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำโขง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 600 ไร่ ลำน้ำเซบาย มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 27,000 ไร่ และลำน้ำเซบก มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 18,480 ไร่ สรุปพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 17,000 ไร่ และโครงการชลประทานอำนาจเจริญได้จัดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง ระบายน้ำจากพื้นที่การเกษตรบริเวณแก้มลิงหนองยาง 5 เครื่อง เพื่อสูบระบายน้ำออกจากแก้มลิงลงสู่ลำเซบาย[156]

ขอนแก่น

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอเมืองขอนแก่น น้ำจากลำน้ำพอง ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่ระบายน้ำวันละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังน้ำในอ่างเกินความจุกักเก็บ ท่วมพื้นที่ 4 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลบึงเนียม ระดับน้ำสูงกว่า 3 เมตร ทำให้ชาวบ้านกว่า 2,000 คน อพยพมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักชั่วคราวผู้ประสบภัยในโรงเรียนกีฬาขอนแก่น[157]

กาฬสินธุ์

น้ำป่าจากเทือกเขาภูพานไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายจำนวน 4 พันไร่[158] นอกจากนี้ยังทำให้คอสะพานชำรุด วันที่ 21 ตุลาคม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอกมลาไสยและฆ้องชัย ยังอยู่ในขั้นวิกฤติหนัก เพราะเขื่อนอุบลรัตน์ยังเร่งระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร จนส่งผลให้ระดับน้ำชีสูงขึ้นต่อเนื่อง และล้นพนังกั้นเป็นระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร น้ำสูงกว่าพนังกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะที่พนังกั้นบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 21-22 ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย ถูกกระแสน้ำเซาะจนพนังดินแตกรวม 6 จุด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้หมด ส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย เพิ่มอีก 10 หมู่บ้าน กว่า 1,570 หลังคาเรือน รวมถึงนาข้าวถูกน้ำชีท่วมแล้วอย่างน้อย 100,000 ไร่[159]

ชัยภูมิ

26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 สถานการณ์น้ำชีล้นตลิ่งยังหนุนสูงต่อเนื่องเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรนับหมื่นไร่ในหลายพื้นที่ ทั้งปริมาณน้ำป่าหลากบนเทือกเขาภูแลนคา ยังส่งผลให้ระดับน้ำล้นสันเขื่อนลำปะทาวไหลเข้าตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ทั้ง 25 ชุมชน และต้องสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวรวมกว่า 7 แห่งมาตั้งแต่วานนี้[160]

มุกดาหาร

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เกิดน้ำป่าไหลลงจากภูพานเอ่อเข้าท่วมชุมชนโคกสุวรรณ เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ทั้งที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน นาข้าวจ่มใต้น้ำนับหมื่นไร่ บ้านเรือนนับร้อยหลังคายังถูกน้ำท่วม และระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนเข้าท่วมบ้านเรือนในตำบลผึ่งแดด อำเภอเมือง[161] มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 40,809 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 47,562 ไร่ บ่อปลา 693 บ่อ ถนนเสียหาย 383 สาย ท่อระบายน้ำ 50 แห่ง ฝายน้ำจำนวน 10 แห่ง ส่วนตลาดอินโดจีน ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ซึ่งน้ำได้ท่วมบริเวณชั้นใต้ดิน มีพ่อค้าแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนจำนวน 400 คน[162]

นครพนม

หลายชุมชนในเขตเทศบาลเมืองนครพนมเกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 40 เซนติเมตร[163] โดยเฉพาะชุมชนหน้าโรงพยาบาลนครพนม น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนหลายสิบหลัง บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองฯ และโรงพยาบาล น้ำข่วมขังสูงประมาณ 25 ถึง 30 เซนติเมตร[164] หลังเกิดฝนตกหนักทั้งวันด้วยอิทธิพลพายุหมุนนกเตน ส่งผลเกิดน้ำป่าทะลักลงมาจากเทือกเขาภูลังกาจำนวนมากเมื่อตอนใกล้สว่างวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยกระแสน้ำไหลหลากท่วมบ้านเรือนนับ 100 หลัง ตามเส้นทางน้ำผ่าน ขณะที่นาข้าวนับพันไร่ใต้เทือกเขาภูลังกาจมอยู่ใต้น้ำ

อุบลราชธานี

น้ำจากแม่น้ำโขงได้เอ่อล้นเข้าไปตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ เข้าท่วมไร่นานับ 1 พันไร่ ทำให้ต้นข้าวนาปีที่ได้ปักดำแล้วเสร็จใหม่ ๆ จมอยู่ใต้น้ำไร่มัน พร้อมทั้งต้นปาล์ม กว่า 100 ไร่จมอยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกัน[165] ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขง ก็ได้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันละ 50 ถึง 100 เซนติเมตร

อุดรธานี

สรุปความเสียหายในจังหวัดอุดรธานี ไร่นาน้ำท่วมเสียหายกว่า 1.4 แสนไร่ ทั้งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 14 อำเภอ 102 ตำบล 1,110 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 51,327 ครัวเรือน พื้นที่นาข้าวเสียหาย 143,809 ไร่ บ่อปลา 1,257 บ่อ ถนนเสียหาย 582 สาย[166] ถนนโพศรี ถนนศรีสุข ถนนประจักษ์ศิลปาคม และถนนอุดรดุษฎีจมอยู่ในน้ำทั้งสาย และน้ำยังท่วมต่อเนื่องไปถนนนิตโย หน้าตลาดสดหนองบัว และนอกจากนี้น้ำยังท่วมเข้าไปในตลาดสดเทศบาล 1–2 ด้วย โดยเฉพาะถนนโพศรี ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี มีน้ำท่วมสูงประมาณครึ่งเมตร

หนองคาย

ผลกระทบจากพายุนกเตน ทำให้จังหวัดหนองคายน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 40 ปี ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร กินพื้นที่กว่า 50% คิดมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 10 ล้านบาท[167]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

บึงกาฬ

ระดับน้ำในแม่น้ำสงครามสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วม 3 หมู่บ้าน พื้นที่ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอพรเจริญ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 200 หลัง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมอีกกว่า 3 พันไร่[168]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

สกลนคร

พายุนกเต็นฝนถล่มจังหวัดสกลนครทั้งจังหวัด ทะเลสาบหนองหานน้ำเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์[169] จ่อเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรหลายพันไร่ เตือนแม่โขงจ่อวิกฤตพื้นที่การเกษตรจังหวัดสกลนคร ได้รับผลกระทบน้ำท่วมแล้ว 9 อำเภอ สำหรับ อำเภอโพนนาแก้ว ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักที่สุด มีพื้นที่การเกษตรจมใต้น้ำหลายหมื่นไร่[170]

เลย

ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำสะสมบนเทือกเขาในอำเภอเชียงคาน น้ำได้ไหลจากตำบลเขาแก้วและธาตุ เข้าท่วมบ้านศรีพัฒนา หมู่ 5 และบ้านจอมศรี หมู่ 8 ตำบลนาสี อำเภอเชียงคาน น้ำท่วมนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ และบ่อปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงกว่า 100 บ่อ ได้รับความเสียหาย ส่วนกระแสน้ำที่ไหลผ่านตำบลนาสีได้ไหลเข้าท่วม ตลาดสามแยกบ้านธาตุ หมู่ 2 เทศบาลตำบลธาตุ[171]

กระแสน้ำยังเอ่อล้นท่วมทางสายบ้านธาตุ-ปากชม บริเวณกิโลเมตรที่ 5 บ้านผาพอด หมู่ 13 ตำบลธาตุ เส้นทางขาด อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก ที่บ้านนาข่า ตำบลปากหมัน อำเภอด่านซ้าย แม่น้ำหมันที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้าย[172] และตำบลนาดี นาหอ ปากหมัน นาข่า ไหลบรรจบกับแม่น้ำเหือง ที่บ้านนาข่า ตำบลปากหมัน เกิดน้ำไหลหลาก เอ่อริมตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน บ้านข้าราชการครูโรงเรียนบ้านนาข่า ขยายเป็นวงกว้าง บางหลังน้ำท่วมจนเกือบมิดหลัง และพื้นที่การเกษตรข้าว ข้าวโพด ได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ไร่

หนองบัวลำภู

ตำบลวังปลาป้อม อำเภอนาวัง ซึ่งเป็นจุดแรกที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยลิ้นควาย พบว่าปริมาณน้ำได้สูงขึ้นและเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรในตำบลวังปลาป้อม ในบริเวณริมลำน้ำพะเนียง เป็นบริเวณกว้างกว่า 200 ไร่ และน้ำในลำน้ำพะเนียงได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรตลอดสองฝากของลำน้ำที่เป็นที่ลุ่ม[173]

ใกล้เคียง

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555 อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 อุทกภัยในประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2561 อุทกภัยในประเทศปากีสถาน พ.ศ. 2553 อุทกภัยในประเทศจีน พ.ศ. 2563 อุทกภัยในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา พ.ศ. 2566 อุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์ พ.ศ. 2553-2554 อุทกภัยและโคลนถล่ม 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549

แหล่งที่มา

WikiPedia: อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554 http://119.46.91.70/attach/files/%E0%B8%A3%E0%B8%B... http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/... http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/... http://www.theage.com.au/national/thailand-floods-... http://asiancorrespondent.com/66695/bangkok-arrang... http://asiancorrespondent.com/67306/thailand-why-w... http://asiancorrespondent.com/67603/tearful-thai-p... http://asiancorrespondent.com/67621/how-much-water... http://asiancorrespondent.com/67677/is-the-thai-go... http://asiancorrespondent.com/68854/bhumipol-dam-w...