ภาคกลาง ของ อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่

กรุงเทพมหานคร

กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศสองฉบับประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 165/2554 และ ที่ 295/2554 โดยประหาศให้แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักเป็นพื้นที่ควบคุมการเดินเรือเป็นการเฉพาะคราวตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2555[33]ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 น้ำเริ่มท่วมบริเวณถนนพหลโยธินช่วงอนุสรณ์สถาน และพบเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ อีก ทั้งมีไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ การถ่ายรูปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 24 ต้องเลื่อนออกไป[34] ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นได้ไหลเข้าท่วมตลาดพระเครื่อง ย่านท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554[35]

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กรุงเทพมหานครมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้ว 73 ชุมชน 3,384 ครัวเรือน ทางกรุงเทพมหานครพยายามเร่งระบายน้ำออกทางประตูระบายน้ำ 3 แห่ง นอกจากนี้ ทางสำนักงานเขตได้เตรียมกระสอบทรายห้าแสนใบมอบให้กับประชาชนไปใช้ทำคันกันน้ำชั่วคราว[36] ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด[37]

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กรุงเทพมหานครได้จัดพิธีบวงสรวงพระแม่คงคาเพื่อขอให้น้ำลดอย่างรวดเร็ว[38] แต่ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองอย่างเห็นชอบเท่าใดนัก[39][40] ด้วยปริมาตรน้ำมากที่สุดเป็นอันดับสองที่มีแนวโน้มจะท่วมกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นปริมาณน้ำมากที่สุดนับแต่ พ.ศ. 2485[41] หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลมักมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันและชวนสับสน[42] นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกร้องให้ประชาชนในชาติสามัคคีกันเพื่อรับมือกับน้ำที่ไหลบ่ามาอย่างไม่ขาดสาย[43] อย่างไรก็ดี พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เคยแถลงยืนยันก่อนหน้านี้ว่า กรุงเทพมหานครจะไม่ประสบอุทกภัย

แม่น้ำเจ้าพระยาและสถานีสูบน้ำรอบกรุงเทพมหานครระบายน้ำอย่างน้อย 420,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อย่างไรก็ดี การปล่อยน้ำจากเขื่อนต้นน้ำกรุงเทพมหานคร ประกอบกับฝนที่ตกลงมาเพิ่มเติม ทำให้มีการประเมินว่าน้ำอุทกภัย 16,000,000,000 ลูกบาศก์เมตรจะต้องระบายออก[44] ปริมาณน้ำที่มุ่งสู่กรุงเทพมหานครมีปริมาตร 16 ลูกบาศก์กิโลเมตร กรมชลประทานพยากรณ์ว่า หากไม่มีฝนตกลงมาอีก น้ำปริมาณนี้จะลงสู่ทะเลใช้เวลา 30 ถึง 45 วัน[44]

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 น้ำได้เอ่อท่วมที่ตลาดรังสิต และบริเวณถนนพหลโยธิน ซอยพหลโยธิน 87 ซอยพหลโยธิน 85[45]

วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สินค้าหลายอย่างเริ่มขาดแคลน รถทหารวิ่งสัญจรบนถนนในกรุงเทพมหานครทั้งกลางคืนและช่วงเช้า ชายชราผู้หนึ่งประสบอุบัติเหตุบนรถทหารขณะที่รถกำลังวิ่ง[46] ประชาชนนำรถยนต์ของตนจอดบนทางด่วนแม้มีคำสั่งห้าม[47] ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางไปต่างจังหวัดหลังรัฐบาลแนะนำเช่นนั้น[48]

วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา 1 เมตร ฝ่ายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องการให้เปิดเพียง 75-80 เซนติเมตร โดยทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอ้างเหตุผลว่า เพื่อป้องกันเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ขณะที่ทางม็อบปิดถนนนิมิตใหม่เรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำ 1.5 เมตร[49]

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เกิดความขัดแย้งอย่างหนักที่คลองสามวา[50] โดยประชาชนสองกลุ่มในเขตคลองสามวาและเขตมีนบุรี[51] ไม่พอใจในเรื่องขอการระบายน้ำผ่านประตูคลองสามวา มีการบุกรุกทำลายทรัพย์สินของทางราชการ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งให้เปิดประตูขึ้น 1 เมตรแล้วก็ตาม หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเต็มความสามารถ[52] ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ไม่สามารถไว้ใจตำรวจได้อีกต่อไป เพราะเพิกเฉยและไม่ต้องการขัดแย้ง หรือกลัวถูกชาวบ้านทำร้าย จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจดังกล่าวลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง[53]

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงมวลน้ำเข้าท่วมท่าอากาศยานดอนเมืองและบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศให้เขตคลองสามวาเป็นเขตอพยพทั้งเขต ส่งผลให้มีพื้นที่อพยพเพิ่มขึ้นเป็น 12 เขต [54] วันที่ 8 พฤศจิกายน กรุงเทพมหานครได้ประกาศพื้นที่อพยพเพิ่มเติมในเขตบึงกุ่ม และยังแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 2 แขวงของเขตบึงกุ่ม[55] วันที่ 9 พฤศจิกายน มีการประกาศเขตอพยพแล้ว 13 เขต ได้แก่ เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคลองสามวา เขตบางพลัด เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตจตุจักร วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นิคมอุตสาหกรรมบางชันแจ้งเหตุฉุกเฉินระดับที่ 1 ไปยังผู้ประกอบการ 93 ราย[56]

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแจ้งพื้นที่อพยพเพิ่มเติมในเขตบางกอกน้อย เขตจอมทอง และเขตบางบอน[57] ทหารได้ออกแผนปฏิบัติการแผนมะรุมมะตุ้มเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมบางชันและถนนเสรีไทย[58]

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศอพยพในพื้นที่เขตบางขุนเทียน[59] วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ประกาศอพยพในเขตพญาไท[60] แต่ต่อมาได้มีการแจ้งยกเลิกประกาศอพยพ[61] วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศอพยพในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน บริเวณถนนบางขุนเทียน ตั้งแต่แยกพระราม 2 ถึงทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย[62] วันที่ 19 พฤศจิกายน ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สรุปรายงานสถานการณ์สาธารณภัยว่ากรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประสบภัยจำนวน 36 เขต จาก 50 เขต[63]

กำแพงเพชร

จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 11 อำเภอ 77 ตำบล 954 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 190,057 คน 67,192 ครัวเรือน บ้านถูกน้ำท่วมขังรวม 5,691 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 902,536 ไร่ ฝาย 4 แห่ง คอสะพาน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 1 แห่ง โรงเรียน 4 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย[64]

พิจิตร

ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลลงมาจนลำคลองล้นและทะลักเข้าท่วมนาข้าว 5 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลวังกรด ตำบลลำปะดา ตำบลบางไผ่ ตำบลหอไกร ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ที่ตำบลบางลาย อำเภอบึงนาราง ถูกน้ำท่วมมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ซึ่งทางจังหวัดคาดว่าน้ำจะท่วมไม่ต่ำกว่า 3 เดือน รวมไปถึงความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรมที่คาดว่าจะกลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้งต้นปีหน้า[65]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

นนทบุรี

วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สถานการณ์น้ำที่อำเภอบางใหญ่เข้าขั้น วิกฤต มีการเปิดประตูน้ำบริเวณวัดเอนกดิษฐาราม ต.บางใหญ่ อ.บางใหญ่ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่สวนผลไม้และสวนดอกไม้ อยากถ่วงที ส่งผลให้ สวนผลไม้ และสวนพุดสายพันธุ์ "เขี้ยวกระแต" หรือพุทธชาติ ของคุณหนู ที่หายากที่สุดในประเทศ ได้รับความเสียหาย 100 % และขณะเดียวกันน้ำที่เริ่มเข้าท่วมถนน ทร.9 ทันที ส่งผลให้การจราจรทางรถต้องหยุดไปโดยปริยาย วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สถานการณ์น้ำที่อำเภอบางใหญ่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ไหลแรงและเชี่ยวขึ้น ในขณะที่พื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมทั้ง 6 ตำบล 69 หมู่บ้านแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่เทศบาลตำบลบางม่วง ขณะที่การสัญจรผ่านถนนกาญจนาภิเษกติดขัดอย่างหนัก ผ่านได้เฉพาะรถใหญ่และรถโฟร์วิลล์เท่านั้น ซึ่งทางอำเภอได้ประสานรถของกองทัพบก กองทัพเรือ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครในการรับส่งชาวบ้านไป 3 จุดหลัก คือถนนบรมราชชนนี แยกบางพลู และถนนวัดลาดปลาดุก[66]

นครนายก

วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 จังหวัดนครนายก เกิดฝนตกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ที่ หมู่ 8 ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 100 หลัง

พงษ์สวัสดิ์ ธีระวัฒนกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ เปิดเผยว่า น้ำได้เอ่อท่วมบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 100 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 60 เซนติเมตร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้ประสานความช่วยเหลือจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก จัดรถแบคโฮมาขุดถนนที่ถูกน้ำท่วมตัดขาดบริเวณหมู่ทึ่ 12 โดยจะใช้เสาคอนกรีตทำสะพานชั่วคราว

สัมฤทธิ์ พิจารณา ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลเขาพระ กล่าวว่า น้ำได้สูงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1.00 น. จากนั้นน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านไม่สามารถขนย้ายสิ่งของออกมาได้ทัน[67]

พิษณุโลก

ที่อำเภอชาติตระการ[68] ถนนถูกตัดขาดหลายสาย และปริมาณน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งส่งเรือท้องแบน 3 ลำเข้าพื้นที่ เตรียมอพยพชาวบ้าน เนื่องจากถนนเส้นทางสายชาติตระการ-บ่อภาค ถูกตัดขาดหลายช่วง ชาวบ้านในหมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 10 ของตำบลบ่อภาค ประชาชนไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้

ลพบุรี

น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรในจังหวัดลพบุรี วันที่ 9 ตุลาคม

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่จังหวัดลพบุรี ภายหลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าจากภูเขาในเขตอำเภอพัฒนานิคม ไหลท่วมตำบลนิคมสร้างตนเอง ตั้งแต่เช้าวันที่ 4 กันยายน พื้นที่เกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง และน้ำป่ายังทะลักท่วมบ้านเรือนตำบลเขาสามยอด ท่าศาลา และกกโก อำเภอเมือง[69]

สมุทรสงคราม

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้เกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อชาวบ้านได้รับแจ้งให้ขนของขึ้นที่สูง เพราะเขื่อนแม่กลองปล่อยน้ำ 784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงแม่น้ำแม่กลอง[70] ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามสั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ จัดตั้งศูนย์อำนวยการรับแจ้งและให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ภายในวันเดียวกัน สถาการณ์น้ำท่วมในจังหวัดปรากฏเพียงน้ำล้นตลิ่งช่วงฤดูกาลน้ำทะเลหนุนเท่านั้น

สมุทรสาคร

น้ำได้เข้าท่วมในตลาดสดเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย และเกิดโรคระบาดมากับน้ำเน่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม จุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศพื้นที่เสี่ยงประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในบางพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ รวม 38 แห่ง[71]

วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 น้ำท่วมบริเวณสามแยกอ้อมน้อยตัดกับถนนเพชรเกษม เจ้าหน้าที่ทหารต้องนำรถยีเอ็มซีมาบริการประชาชนเข้าออกโรงพยาบาลมหาชัย 2 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน ในขณะที่โรงงานที่อยู่บนถนนเศรษฐกิจ 1 ที่อยู่ละแวกนั้น ต้องนำกระสอบบรรจุทรายมากั้นบริเวณหน้าโรงงาน[72]

สระบุรี

วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 ฝนที่ตกลงมาทั้งวันทำให้น้ำป่าไหลหลากท่วมริมถนนมิตรภาพ กิโลเมตรที่ 22-23 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย

อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมวกเหล็กช่วยกันบรรจุทรายใส่ถุงปุ๋ย นำไปวางกั้นกันน้ำป่าที่เริ่มไหลทะลักเข้ามาล้นคลองน้ำที่ไหลผ่านกลางโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลเตรียมแผนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น

ต่อมา อ่างเก็บน้ำเขารวก ขนาดบรรจุน้ำประมาณ 7,500 ลูกบาศก์ แตก ทำให้น้ำไหลทะลักลงสู่เบื้องล่าง เบื้องต้นมีบ้านถูกน้ำพัดสูญหายไป 1 หลังคาเรือน มีอีกหลังคาเรือนหนึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม กำลังตรวจสอบ ยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต[73]

สิงห์บุรี

วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554 ทวีศักดิ์ นุ่มฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานฯ ที่ประสบอุทกภัย หยุดการเรียนการสอน นอกจากนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และหอสมุดแห่งชาติอินทร์บุรี ได้รับผลกระทบเช่นกันโดยถูกน้ำเข้าท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ต้องขนย้ายวัตถุโบราณไว้บนอาคารชั้น 2 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลาและใบเสมาสมัยทวาราวดีที่ไม่สามารถขนย้ายได้ต้องปล่อยจมน้ำ และปิดให้บริการชั่วคราว[74]

สุโขทัย

วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554 น้ำท่วมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจเทศบาลเมืองสวรรคโลก ร้านค้าหลายแห่งปิดทำการ[75] ถนนสายจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลขที่ 101 ต้องปิดการสัญจรช่วงเข้าเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก เพราะมีน้ำท่วมขังสูง 50 เซนติเมตร ด้านโรงพยาบาลสวรรคโลกถูกน้ำท่วมสูงจนคนไข้ใหม่ไม่สามารถรับบริการได้ สถานที่ราชการ ที่ทำการอำเภอและโรงพักทุกจุดได้รับผลกระทบ โรงเรียนทุกโรงในพื้นที่ต้องสั่งหยุดการเรียนการสอน พื้นที่หลายหมู่บ้านของตำบลย่านยาว คลองกระจง และท่าทอง กำลังถูกแม่น้ำยมที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อย่างหนัก

สุพรรณบุรี

น้ำจากแม่น้ำท่าจีนได้เอ่อล้นแนวเขื่อนและกระสอบทรายพังทลาย น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจของตลาดเก้าห้อง 100 ปี อำเภอบางปลาม้า กว่า 300 ห้องถูกน้ำท่วม เจ้าหน้าที่เทศบาลร่วมกับกำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี กว่า 120 นาย เร่งหาทางกู้น้ำท่วม ได้ช่วยกันนำกระสอบทรายทำแนวเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อจะสูบระบายน้ำออก

ขณะที่ช่วงสายวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554 น้ำยังเอ่อล้นไหลข้ามถนนช่วงสายตลาดเก้าห้อง-ตลาดคอวัง อำเภอบางปลาม้า หลายจุด ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้างมากขึ้น ชาวบ้านหลายรายขนย้ายสิ่งของไม่ทัน ต้องใช้เรือแทนรถสัญจรไปมา ขณะที่คนป่วยก็ต้องใช้เรือเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล[76]

ปทุมธานี

ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้ประกาศภัยพิบัติ 2 อำเภอ[77] น้ำท่วมเข้าบริเวณตลาดบางเตย ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก และเข้าท่วมสถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร[78] เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554 พันตำรวจโทประเสริฐ พิมเสน สารวัตรเวรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปทุมธานี ได้รับแจ้งเหตุรถชนกันบนสะพานปทุมธานี 2 จำนวน 7 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 1 ราย โดยฝนทำให้ถนนลื่น รถชนตามกันเป็นทอด ๆ[79]วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ธีรวัฒน์ สุดสุข นายอำเภอเมืองปทุมธานี เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลว่าพื้นที่ชั้นนอกทุกทิศทางถูกมวลน้ำก้อนใหญ่ความสูงตั้งแต่ 1-2 เมตร ล้อมรอบ ขณะที่แนวป้องกันในหมู่บ้านเมืองเอกหลายจุดเกิดการรั่วซึม[80]

สวนอุตสาหกรรมนวนคร น้ำเริ่มเข้าท่วมบริเวณโรงงานเหล็กเส้นและโรงงานคูโบต้า ตั้งแต่เวลา 11.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม ต่อมาเวลา 11.40 น. คันดินกั้นน้ำบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียแตกเป็นทางยาว 5 เมตร ทำให้น้ำทะลักถึงพนังกันน้ำชั้นที่ 2 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่อพยพ ต่อมาเวลา 12.30 น. น้ำเริ่มทะลักจากแนวกระสอบทรายหน้าโรงงานคูโบต้า พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมีคำสั่งปิดเครื่องจักรทั้งหมดในนวนคร และเร่งทำพนังชั้นที่ 3 ให้สูงขึ้น มีการนำกระสอบทรายมาขวางบริเวณหน้าประตูใหญ่โรงงานคูโบต้า สุดท้ายในช่วงค่ำ คันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกของนวนครบริเวณด้านหลังวัดพืชนิมิตรพังทลายลง ทำให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนกระทั่งเข้าท่วมเต็มพื้นที่สวนอุตสาหกรรมนวนครและชุมชนโดยรอบในวันที่ 19 ตุลาคม

ทางด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งตั้งอยู่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ที่เปิดศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม[81] ได้ทำคันดินกั้นน้ำรอบบริเวณมหาวิทยาลัย คงเหลือแต่เพียงด้านที่ติดกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เท่านั้น จนเมื่อเวลาประมาณ 1.30 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม[82] หลังคันกั้นน้ำของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียพังลงส่งผลให้ทะลักเข้าท่วม สวทช. และทะลักต่อมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อย่างต่อเนื่อง จนท่วมเต็มพื้นที่ในเวลา 19.00 น.[83] ต่อมาวันที่ 23 ตุลาคม ทางมหาวิทยาลัยติดต่อไปยังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อขอรถโดยสารมาเคลื่อนย้ายผู้พักพิงจากศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยไปพักพิงที่ราชมังคลากีฬาสถานแทน[84]ในระหว่างนี้ได้เกิดศัพท์ใหม่ [85] และในวันที่ 28 ตุลาคม ทางศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ออกแถลงการณ์ปิดศูนย์พักพิงและชี้แจงแนวทางการดำเนินการกับเงินและสิ่งของที่ได้รับบริจาคมา[86]

นครปฐม

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 จังหวัดนครปฐม น้ำท่วมทั้งจังหวัด โดยใน 4 อำเภอ ได้แก่อำเภอบางเลน นครชัยศรี สามพราน พุทธมณฑล น้ำขึ้นต่อเนื่องวันละ 3-5 เซนติเมตร หลายชุมชนในตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ[87]

นครสวรรค์

น้ำท่วมนาข้าวในตำบลบางพระหลวง หมู่ 2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ น้ำในคลองบางพระหลวง คลองสาขาของแม่น้ำน่าน เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่หมู่ 2 ตำบลบางพระหลวง อำเภอเมือง[88] ที่อำเภอชุมแสง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมนับหมื่นไร่ ถนนหลายสายเริ่มขาด ประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำ และเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถูกน้ำท่วมทั้งหมด โดยเฉพาะที่ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง เกษตรกรเลี้ยงวัวเนื้อต้องต้อนวัวมาเลี้ยงข้างถนน ฝูงวัวไม่มีหญ้ากินเพราะน้ำท่วมหมด บางรายต้องต้อนฝูงวัวไปเลี้ยงยังหมู่บ้านอื่นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร

เรือท้องแบนของทหารค่ายจิระประวัติล่มที่บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นเหตุให้ทหารจมน้ำเสียชีวิตไป 1 นาย[89]

เมื่อเวลา 1.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม น้ำในแม่น้ำปิงเกิดทะลักแนวขั้นเขื่อนดิน บริเวณหมู่ 10 ตำบลวัดไทร อำเภอเมืองนครสวรรค์ ทำให้ชุมชนกว่า 60 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม ชาวบ้านต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อเก็บทรัพย์สินและหนีเอาตัวรอด นอกจากนี้ ยังขยายวงกว้างไปสมทบกับน้ำที่ทะลักเข้าท่วมก่อนหน้านี้ และไหลเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรหลายพันยูนิต จนผู้นำหมู่บ้านต้องจุดพลุแจ้งเตือนและประกาศเสียงตามสายเร่งขนย้ายทรัพย์สินจนโกลาหลทั้งคืน[90]

สมุทรปราการ

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สถานีตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ประสบภัยน้ำท่วมบนผิวจราจรแล้ว 2 อำเภอ คือ อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง บริเวณถนนอ่อนนุช-เทพราช ช่วง ก.ม.ที่ 16-17 ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร รถยนต์ไม่สามารถใช้สัญจรได้โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดเปร็งราษฎร์บำรุง และจุดสกัด สภ.เปร็ง รวมทั้งอาคารที่พักอาศัยของ สภ.บางพลีน้อย ได้รับผลกระทบแล้ว 10 ห้อง นอกจากนี้ ยังมีสถานีที่ตำรวจที่อยู่บริเวณริมคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตที่ต้องเฝ้าระวั'เป็นพิเศษ[91]วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าสมุทรปราการ เผยน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมถนนหลายสายในจังหวัด สูงกว่า 50 เซนติเมตร โดยอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง มีน้ำท่วมเป็นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้[92]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ชัยนาท

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554 เขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนของอำเภอสรรพยามีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก ชาวบ้านกว่า 50 ครัวเรือนต้องทำเพิงพักริมถนน ส่วนทหารเร่งนำเอากระสอบทรายไปกั้นเป็นแนวบริเวณคลองชลประทานบางสารวัตร เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขยายวงกว้างขึ้น[93]

เพชรบูรณ์

วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554 น้ำท่วมที่อำเภอหล่มสักส่งผลให้โรงเรียนสิรินคริสเตียนสั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด[94] ขณะที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 500 หลังคาเรือน การจราจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก น้ำท่วมสูง 60 เซนติเมตรและส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่าหนึ่งหมื่นไร่[95] วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 น้ำป่าจากเขาวังทองไหลท่วมหลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ น้ำป่าไหลท่วมหลายหมู่บ้านรอบนอกเขตอำเภอเมือง ขณะที่ถนนหลายสายมีน้ำท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร รถสัญจรผ่านไม่ได้[96] ต่อมาวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 น้ำป่าสักขยายวงกว้างในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ ระดับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ 10 ตำบล ในเขตอำเภอหนองไผ่ ได้ขยายวงกว้าง ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมเป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร[97]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

พระนครศรีอยุธยา

วัดไชยวัฒนารามขณะน้ำท่วมถึงภายในวัด

ที่อำเภอเสนา อำเภอบางบาลและอำเภอผักไห่ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ส่งผลให้พืชผลการเกษตรของชาวบ้านทั้งสองอำเภอเสียหายอย่างหนัก[98] ไม่สามารถขายหรือส่งออกได้ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นยามกลางคืน ประชาชนหวั่นเกรงปัญหาโรคระบาดในพื้นที่

วันที่ 4 ตุลาคม น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมบ้านเรือนติดกับด้านหลังวัดไชยวัฒนาราม ตำบลบ้านป้อม ระดับน้ำสูง 2 เมตร เมื่อเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน สุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถานในจังหวัด โดยจากการตรวจสอบพบว่า โบราณสถานในเขตเกาะเมืองได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมดแล้ว ด้านโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ทางกรมจะให้วิศวกร สถาปนิกและนักโบราณคดีตรวจสอบโครงสร้างโบราณสถาน คาดใช้งบประมาณการบูรณะกว่า 200 ล้านบาท[99]

มีรายงานเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัด น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 16 อำเภอ โดยบางอำเภอน้ำท่วมจนไม่สามารถสัญจรได้ ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม คันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง พังลง ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมโรงงานในนิคมกว่า 46 แห่ง ถนนโรจนะซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้า-ออกตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร น้ำยังไหลเข้าท่วมชุมชนเจ้าพ่อจุ้ย บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 1,000 หลังคาเรือน ด้านวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเมินความเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ด้านพากร วังศิราบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ความสูญเสียภาพรวมภาคอุตสาหกรรมอาจสูงถึงวันละ 1,000 ล้านบาท[100]

อ่างทอง

ที่อำเภอป่าโมก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 6 จำนวน 10 หลังคาเรือน[101] บางจุดน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งสร้างสะพานชั่วคราว เพื่อเข้าออกภายในบ้าน

อุทัยธานี

จังหวัดอุทัยธานี เกิดน้ำท่วมเป็นพื้นที่รวม 5 อำเภอ 37 ตำบล 291 หมู่บ้าน 17,156 ครัวเรือน 55,608 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 46,865 ไร่ บ่อปลา 335 บ่อ ถนนเสียหาย 217 สาย ฝาย 1 แห่ง เหมือง 8 แห่ง วัด 23 แห่ง โรงเรียน 10 แห่ง สถานที่ราชการ 30 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย [102]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ใกล้เคียง

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555 อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 อุทกภัยในประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2561 อุทกภัยในประเทศปากีสถาน พ.ศ. 2553 อุทกภัยในประเทศจีน พ.ศ. 2563 อุทกภัยในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา พ.ศ. 2566 อุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์ พ.ศ. 2553-2554 อุทกภัยและโคลนถล่ม 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549

แหล่งที่มา

WikiPedia: อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554 http://119.46.91.70/attach/files/%E0%B8%A3%E0%B8%B... http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/... http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/... http://www.theage.com.au/national/thailand-floods-... http://asiancorrespondent.com/66695/bangkok-arrang... http://asiancorrespondent.com/67306/thailand-why-w... http://asiancorrespondent.com/67603/tearful-thai-p... http://asiancorrespondent.com/67621/how-much-water... http://asiancorrespondent.com/67677/is-the-thai-go... http://asiancorrespondent.com/68854/bhumipol-dam-w...