ชีวิตช่วงต้น ของ อเล็กซานเดอร์มหาราช

รูปสลักของพระเจ้าพีลิปโปสที่ 2 พระราชบิดาของอเล็กซานเดอร์

เชื้อสายและวัยเยาว์

อเล็กซานเดอร์ประสูติเมื่อวันที่ 20 (หรือ 21) กรกฎาคม ปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล,[1][2] ที่เมืองเพลลา เมืองหลวงของราชอาณาจักรมาเกโดนีอา เป็นโอรสของพระเจ้าพีลิปโปสที่ 2 มารดาเป็นภริยาคนที่ 4 ของพีลิปโปสชื่อนางโอลิมเพียสแห่งเอพิรุสเป็นธิดาของ นีโอโทเลมุสที่ 1 แห่งเอพิรุส นครรัฐกรีกทางเหนือ[3][4][5][6] แม้พีลิปโปสจะมีชายาถึง 7-8 คน แต่นางโอลิมเพียสก็ได้เป็นชายาเอกอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์อาร์กีด อเล็กซานเดอร์จึงถือว่าสืบเชื้อสายมาจากเฮราคลีสผ่านทางกษัตริย์คารานุสแห่งมาเกโดนีอา4 ส่วนทางฝั่งมารดา เขาถือว่าตนสืบเชื้อสายจากนีโอโทลีมุส บุตรของอคิลลีส5 อเล็กซานเดอร์เป็นญาติห่าง ๆ ของนายพลพีร์รุสแห่งเอพิรุส ผู้ได้รับยกย่องจากฮันนิบาลว่าเป็นแม่ทัพผู้เก่งกาจที่สุด[7] หรืออันดับที่สอง (รองจากอเล็กซานเดอร์)[8] เท่าที่โลกเคยประสบพบเจอ

ตามบันทึกของพลูตาร์ค นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ ในคืนวันก่อนวันวิวาห์ของนางโอลิมเพียสกับพีลิปโปส โอลิมเพียสฝันว่าท้องของนางถูกสายฟ้าฟาดเกิดเปลวเพลิงแผ่กระจายออกไป "ทั้งกว้างและไกล" ก่อนจะมอดดับไป หลังจากแต่งงานแล้ว พีลิปโปสเคยบอกว่า ตนฝันเห็นตัวเองกำลังปิดผนึกครรภ์ของภรรยาด้วยดวงตราที่สลักภาพของสิงโต[3] พลูตาร์คตีความความฝันเหล่านี้ออกมาหลายความหมาย เช่นโอลิมเพียสตั้งครรภ์มาก่อนแล้วก่อนแต่งงาน โดยสังเกตจากการที่ครรภ์ถูกผนึก หรือบิดาของอเล็กซานเดอร์อาจเป็นเทพซูส นักวิจารณ์ในยุคโบราณมีความคิดแตกแยกกันไปว่าโอลิมเพียสประกาศเรื่องเชื้อสายอันศักดิ์สิทธิ์ของอเล็กซานเดอร์ด้วยความทะเยอทะยาน บางคนอ้างว่านางเป็นคนบอกอเล็กซานเดอร์เอง แต่บางคนก็ว่านางไม่สนใจคำแนะนำทำนองนี้เพราะเป็นการไม่เคารพ[3]

ในวันที่อเล็กซานเดอร์เกิด พีลิปโปสกำลังเตรียมตัวเข้ายึดเมืองโพทิเดียซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งคาลกิดีกี (Chalkidiki) ในวันเดียวกันนั้น พีลิปโปสได้รับข่าวว่านายพลพาร์เมนิออนของพระองค์ได้ชัยชนะเหนือกองทัพผสมระหว่างพวกอิลลีเรียนกับพาอิเนียน และม้าของพระองค์ก็ชนะการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ยังเล่ากันด้วยว่า วันเดียวกันนั้น วิหารแห่งอาร์เทมิสที่เมืองเอเฟซัส อันเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ถูกไฟไหม้ทลายลง เฮเกเซียสแห่งแม็กนีเซียกล่าวว่า ที่วิหารล่มลงเป็นเพราะเทพีอาร์เทมิสเสด็จมาเฝ้ารอการประสูติของอเล็กซานเดอร์[1][5][9]

เมื่อยังเล็ก ผู้เลี้ยงดูอเล็กซานเดอร์คือนางอภิบาล ลาไนกี พี่สาวของเคลอิตุสซึ่งในอนาคตได้เป็นทั้งเพื่อนและแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์ ครูในวัยเยาว์ของอเล็กซานเดอร์คือลีโอไนดัสผู้เข้มงวด ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายมารดา และไลซิมาคัส[10][11]

เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 10 ปี พ่อค้าม้าคนหนึ่งจากเมืองเทสสะลีนำม้ามาถวายพีลิปโปสตัวหนึ่ง โดยเสนอขายเป็นเงิน 13 ทาเลนท์ ม้าตัวนี้ไม่มีใครขี่ได้ พีลิปโปสจึงสั่งให้เอาตัวออกไป ทว่าอเล็กซานเดอร์สังเกตได้ว่าม้านี้กลัวเงาของตัวมันเอง จึงขอโอกาสฝึกม้านี้ให้เชื่อง ซึ่งต่อมาเขาสามารถทำได้สำเร็จ ตามบันทึกของพลูตาร์ค พีลิปโปสชื่นชมยินดีมากเพราะนี่เป็นสิ่งแสดงถึงความกล้าหาญและความมักใหญ่ใฝ่สูง เขาจูบบุตรชายด้วยน้ำตา และว่า "ลูกข้า เจ้าจะต้องหาอาณาจักรที่ใหญ่พอสำหรับความทะเยอทะยานของเจ้า มาเกโดนีอาเล็กเกินไปสำหรับเจ้าแล้ว" แล้วพระองค์จึงซื้อม้าตัวนั้นให้แก่อเล็กซานเดอร์[12] อเล็กซานเดอร์ตั้งชื่อม้านั้นว่า บูซีฟาลัส หมายถึง "หัววัว" บูซีฟาลัสกลายเป็นสหายคู่หูติดตามอเล็กซานเดอร์ไปตลอดการเดินทางจนถึงอินเดีย เมื่อบูซีฟาลัสตาย (เนื่องจากแก่มาก ตามที่พลูตาร์คบันทึกไว้ มันมีอายุถึง 30 ปี) อเล็กซานเดอร์ได้ตั้งชื่อเมืองแห่งหนึ่งตามชื่อมัน คือเมืองบูซีฟาลา[13][14][15]

การศึกษา และชีวิตวัยหนุ่ม

เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 13 ปี พีลิปโปสตัดสินพระทัยว่าอเล็กซานเดอร์ควรได้รับการศึกษาขั้นสูงขึ้น จึงเริ่มเสาะหาอาจารย์ดีให้แก่บุตร เขาเปลี่ยนอาจารย์ไปหลายคน เช่น ไอโซเครตีส และ สพีอุสสิปัส ซึ่งเป็นผู้สืบทอดของเพลโตที่วิทยาลัยแห่งเอเธนส์ ซึ่งขอลาออกเองเพื่อไปรับตำแหน่ง ในที่สุดพีลิปโปสเสนองานนี้ให้แก่ อริสโตเติล พีลิปโปสยกวิหารแห่งนิมฟ์ที่มีซาให้พวกเขาใช้เป็นห้องเรียน ค่าตอบแทนในการสอนหนังสือแก่อเล็กซานเดอร์คือการสร้างเมืองเกิดของอริสโตเติล คือเมืองสตาเกราที่พีลิปโปสทำลายราบไปขึ้นใหม่ และให้ฟื้นฟูเมืองนี้โดยการซื้อตัวหรือปลดปล่อยอดีตพลเมืองของเมืองนี้ที่ถูกจับตัวไปเป็นทาส และยกโทษให้แก่พวกที่ถูกเนรเทศไปด้วย[16][17][18][19]

รูปสลักของเฮฟีสเทียน ผู้ที่อริสโตเติลเปรียบว่าเป็นเสมือนวิญญาณครึ่งหนึ่งของอเล็กซานเดอร์

มีเอซา เป็นเหมือนโรงเรียนประจำสำหรับอเล็กซานเดอร์และบรรดาบุตรขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ของมาเกโดนีอา เช่น ทอเลมี และ แคสแซนเดอร์ นักเรียนที่เรียนพร้อมกับอเล็กซานเดอร์กลายเป็นเพื่อนของเขาและต่อมาได้เป็นแม่ทัพนายทหารประจำตัว มักถูกกล่าวถึงด้วยคำว่า "สหาย" อริสโตเติลสอนอเล็กซานเดอร์กับบรรดาสหายในเรื่องการแพทย์ ปรัชญา ศีลธรรม ศาสนา ตรรกศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ด้วยการสอนของอริสโตเติลทำให้อเล็กซานเดอร์เติบโตขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจอย่างสูงในงานเขียนของโฮเมอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง อีเลียด อริสโตเติลมอบงานเขียนฉบับคัดลอกของเรื่องนี้ให้เขาชุดหนึ่ง ซึ่งอเล็กซานเดอร์เอาติดตัวไปด้วยยามที่ออกรบ[20][21][22][23]

ใกล้เคียง

อเล็กซานเดอร์มหาราช อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน อเล็กซ์ เรนเดลล์ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ อเล็กซันดรา เคาน์เตสแห่งเฟรเดอริกสบอร์ก อเล็กทีนิบ อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง

แหล่งที่มา

WikiPedia: อเล็กซานเดอร์มหาราช http://hum.ucalgary.ca/wheckel/bibl/alex-bibl.pdf http://my.dek-d.com/kotore/blog/?blog_id=208493 http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=a... http://www.managerradio.com/ http://www.sikyon.com/sparta/history_eg.html http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&a... http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&a... http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?lookup=... http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?lookup=... http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?lookup=...