ความเป็นมาของเกราะญี่ปุ่น ของ เกราะญี่ปุ่น

เกราะญี่ปุ่น ของเหล่า ซามูไร ถูกนำมาจาก ประเทศจีน สร้างขึ้นจากเหล็กกล้าแผ่นบางๆ นำมาประกอบเข้าด้วยกัน ร้อยด้วยไหมหรือเชือก ชิ้นส่วนต่างๆ หลายๆ ชิ้นที่สามารถสวมใส่สามารถแยกออกจากกันได้ ตัวแผ่นของชุดเกราะถูกออกแบบอย่างชาญฉลาด ให้มีความหนาของเกราะมากกว่าหนึ่งชั้น มีแผ่นเหล็กอ่อนรองบริเวณด้านหลัง เพื่อที่จะช่วยดูดซับแรงกระแทกจากการปะทะในการต่อสู้ บริเวณด้านหน้าจะเป็นแผ่นเหล็กกล้าที่มีความแข็งกว่า และท้ายที่สุดเป็นการลงน้ำมันชักเงาหลายๆ ชั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกราะเป็นสนิมเวลาถูกน้ำ

ลักษณะของชุดเกราะที่สามารถแยกเป็นชิ้นๆ ของเกราะนั้นหมายความว่า ซามูไรที่ทำหน้าที่รักษาการณ์ในคฤหาสน์ของนายเหนือภายในจวนต่างๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสวมชุดเกราะที่เต็มอัตราศึกเช่นเวลาออกศึก สงคราม อาจจะสวมแค่ส่วนแขนของชุดเกราะไว้ภายใต้ชุด กิโมโน ปกติ แขนของชุดเกราะที่มีความยืดหยุ่นได้นี้ สร้างจากแผ่นเกราะชิ้นเล็กๆ ร้อยเข้าด้วยกันด้วยเส้นไหม เชือก หรือเชือกหนังเคลือบ แล้วใช้สายรัดบริเวณช่วงไหล่เพื่อยึดไว้ ในทางเดียวกันหากคาดการณ์ว่าข้าศึกศัตรูคงยังไม่บุกเข้าจู่โจม ซามูไรอาจจะสวมเกราะไว้เพียงบางชิ้นเท่านั้น ในขณะที่จะเก็บชิ้นส่วนที่หนักๆ ไว้ก่อน รอให้มีความจำเป็นแล้วค่อยสวมเกราะที่เต็มอัตราศึก

การสวมชุดเกราะที่เต็มอัตราศึกนั้น จะประกอบด้วยพิธีกรรมชุดหนึ่งที่ให้เริ่มสวมเกราะที่ มือ ขา หรือแขนก่อน จุดสำคัญของพิธีกรรมนี้ก็คือ จะช่วยให้ ซามูไร และคนรับใช้ ไม่ลืมชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งของชุดเกราะไปในระหว่างการสวมเกราะ นอกจากนี้ยังช่วยในการจัดระเบียบของชุดเกราะเพื่อให้ชิ้นที่สวมทีหลัง เหลื่อมทับบนชิ้นที่อยู่ข้างใต้ที่สวมลงไปก่อน การปกป้องของเกราะจึงเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้สวมใส่มากยิ่งขึ้น เพราะการฟันจะถูกหันเหออกจากผู้สวมเกราะ โดยผิวหน้าที่เอียงลาดจำนวนมาก ที่อยู่บนบริเวณไหล่ของซามูไรลงไปตามบริเวณลำตัว จะมีส่วนเพียงเล็กน้อยที่จะยื่นออกมาจากเกราะที่ทำให้การฟันเกาะเกี่ยวได้ และทำให้คมดาบเหเข้ามาหาตัวซามูไรลงไปด้านล่างแทน เกราะญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นสำหรับนักรบ ซามูไร สมาชิกของชนชั้นนักรบผู้ทำหน้าที่คุ้มครองและรับใช้ ไดเมียว แม่ทัพ และ ทหาร เมื่อยามออกศึก สงคราม เกราะญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • เกราะโยโรย
  • เกราะโดะมะรุ

เกราะโยะโรย

เกราะโยะโรย สำหรับซามูไรขี่ม้า

เกราะญี่ปุ่น หรือ โยะโรย (yoroi (鎧) ) สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 5 และ 6 เพื่อใช้ในการศึกสงครามของเหล่าไดเมียว ซามูไร และกองกำลังทหาร นำวิธีการสร้างมาจาก ประเทศจีน โดยนำแผ่น เหล็ก กล้าขนาดบาง เป็นชิ้นเล็กๆ จำนวนมากกว่าร้อยชิ้น ต่อร้อยเชื่อมติดเข้าด้วยกันด้วยเส้น ไหม หรือเส้นหรือเชือกหนังให้เป็นแผ่นใหญ่ ก่อนจะเคลือบอีกชั้นด้วย แลคเกอร์ เพื่อป้องกัน น้ำ หลังจากนั้นนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นชุด โดยให้เส้นไหมที่ใช้เชื่อมยืดติดกันนั้นเกยกันระหว่างแผ่นเหล็ก ชุดเกราะไสตล์ ญี่ปุ่น โบราณมีชื่อเรียกว่า "โยะโรย" ในสมัยโบราณชุดเกราะโยะโรย ถูกออกแบบและจัดสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการขี่ม้าเวลาซามูไรออกศึกสงคราม เนื่องจากชุดเกราะโยะโรย ถูกสร้างจากแผ่นเหล็กจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำหนักค่อนข้างมากและเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหว โดยปกติแล้วน้ำหนักของชุดเกราะประมาณ 30 - 40 กิโลกรัม ซึ่งสร้างประสิทธิภาพในการต่อสู้แก่ซามูไรเป็นอย่างมาก ในการสวมใส่ชุดเกราะโยะโรย ผู้สวมจะต้องทนแบกรับน้ำหนักของชุดเกราะในบริเวณส่วนไหล่ ซึ่งเป็นข้อเสียของชุดเกราะชนิดนี้ เพราจะทำให้การเคลื่อนไหวค่อนข้างจำกัด เมื่อยามที่ต้องต่อสู้หรือกวัดแกว่งดาบ คะตะนะ เข้าใส่ศัตรู

ในระหว่างยุคสมัยสงครามโอนิน ชุดเกราะโยะโรยสำหรับนักรบซามูไรขี่ม้า เริ่มที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้น้ำหนักของชุดเกราะถ่ายเทไปยังส่วนร่างกายของผู้สวมใส่มากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยในการให้นักรบซามูไรใช้ดาบ คะตะนะ เพราะการเคลื่อนไหวในบริเวณช่วงไหล่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทนฝืนแบกรับน้ำหนักของชุดเกราะที่สวมใส่ และน้ำหนักของดาบคู่สองเล่ม คือดาบยาว คะตะนะ และ ดาบสั้น วาคิซาชิ แต่การที่ใช้เส้นไหมหรือเชือกเชื่อมร้อยชิ้นส่วนต่างๆ ของชุดเกราะชนิดนี้ยังคงอยู่ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในการผลิตและในการดูแลชุดเกราะชนิดวันต่อวัน เพื่อให้ชุดเกราะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง สำหรับประเทศญี่ปุ่นสมัยโบราณที่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยทุ่งนา การใช้ชุดเกราะโยะโรยที่ยึดด้วยเส้นไหมหรือเชือกร้อยดูจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับบุคคลทั่วไป เส้นไหมหรือเชือกที่ใช้ร้อยแผ่นเหล็กชิ้นเล็กนั้นสามารถดูดซับน้ำได้ง่าย จึงทำให้ชุดเกราะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น และในสภาวะที่มีอากาศหนาวเย็น เส้นไหมหรือเชือกที่ใช้ร้อยจะแข็งตัวได้ง่าย

อย่างไรก็ดี เส้นไหมหรือเชือกที่ใช้ร้อยแผ่นเหล็กชิ้นเล็กๆ เข้าด้วยกัน ก็จะทำให้ชุดเกราะมีความยืดหยุ่นในตัว สามารถสวมใส่ได้ง่ายและเมื่อเกราะเกิดชำรุดก็สามารถซ่อมแซมได้ง่ายด้วย การใช้สีของเส้นไหมหรือเชือกร้อยเช่นสีแดง สีดำ สีเหลือง เป็นการบ่งบอกสถานะของแม่ทัพในศึกสงคราม ทำให้สามารถระบุสถานะของกองทัพ แม่ทัพ และขุนพลทหารแต่ละคนว่า สังกัดตระกูลไหน ยามอยู่ในสนามรบ ในการต่อสู้ที่แสนสับสนวุ่นวาย การที่จะทุกคนในสนามรบจะสามารถแยกแยะว่าใครคือมิตรหรือศัตรู สามารถที่จะรู้ได้โดยสีของเส้นไหมหรือเชือกที่ใช้ร้อยชุดเกราะอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญของชุดเกราะ

และเส้นไหมหรือเชือกที่ใช้ร้อยแผ่นเหล็กจำนวนมากเข้าด้วยกันนี้เอง ทำให้เกราะโยะโรยของญี่ปุ่น สำหรับไดเมียวหรือแม่ทัพ ดูมีสีสันฉูดฉาด สะดุดตาและดึงดูดสายตาจากคนยุคใหม่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซามูไรผู้สวมเกราะโยะโรยนั้น ค่อนข้างจะพิถีพิถันและช่างเลือกเกราะของพวกเขา และไม่ได้ยอมรับชุดเกราะที่มีสีสันสดใสแต่เพียงเพราะมันแลดูงดงามเสมอไป ที่สำคัญที่สุดก็คือ สีย้อมเส้นไหมหรือเชือกบางสี จะทำให้เส้นไหมมีความเปราะมากขึ้น และอาจทำให้เชือกร้อยยุ่ยหลุดหลุ่ยออกจากกัน ซึ่งจะทำให้มันไม่สามารถเชื่อมยึดแผ่นเกราะเข้าด้วยกันได้ และเป็นอุปสรรคสำคัญในระหว่างการทำศึกสงคราม

อย่างไรก็ดี ในภายหลัง แฟชั่น ก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม หลังจากปี ค.ศ. 1570 สีย้อมเส้นไหมสีดำเป็นเงาเริ่มมีให้ใช้และเข้ามามีบทบาทกับชุดเกราะ ชุดเกราะที่มีเส้นไหมหรือเชือกร้อยสีดำก็ได้รับความนิยมในหมู่ซามูไรอย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญที่สุดคือชุดเกราะนั้นเปรียบเสมือน “เครื่องมือทำมาหากิน” สำหรับซามูไร ที่สามารถช่วยให้ผู้สวมใส่นั้นสามารถรอดชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่อันตรายอย่างยิ่งยวดของสนามรบ

เกราะโยะโรย สำหรับไดเมียวหรือแม่ทัพ จะมีหมวกเกราะที่มีขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อบ่งบอกถึงสถานะของผู้สวมใส่ หมวกเกราะสำหรับเกราะโยะโรย อาจจะติดเขากวาง เขาสัตว์ ขนนกขนาดใหญ่หรือหงอนขนาดใหญ่ รูปแฉกแสงอาทิตย์หรือดวงอาทิตย์ ที่ทำให้ผู้ที่สวมเกราะโยะโรยนั้นดูน่าเกรงขามและประทับใจในคราวเดียวกัน มอน หรือ ตราประจำตระกูล ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของหมวกเกราะที่นิยมประดับลงบนหมวกเกราะ เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงสถานะและตระกูลของผู้สวมใส่

เกราะโดะมะรุ

เกราะโดะมะรุ สำหรับซามูไรเดินเท้า

เกราะโดะมะรุ (Domaru (ドマル) ) คือชุดเกราะสำหรับ ซามูไร เดินเท้า สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 5 และ 6 เช่นเดียวกับ เกราะโยะโรย จากแผ่นเหล็กกล้าชิ้นบางๆ นับร้อยชิ้น ร้อยเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นแผ่นใหญ่ด้วยเส้นไหมหรือเชือก ซ้อนทับกันหลายชั้น เกราะโดะมะรุ จะแตกต่างกับ เกราะโยะโรย เนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่า สวมใส่พอดีตัวและไม่มีแผงกำบังไหล่ ผู้สวมใส่เกราะโดะมะรุจะไม่ต้องทนแบกรับน้ำหนักของชุดเกราะ ในบริเวณส่วนหัวไหล่เช่นเดียวกับเกราะโยะโรย ทำให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวได้มากกว่า เกราะชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นสำหรับซามูไรเดินเท้า ที่มีความปราดเปรียวคล่องแคล่วว่องไวในการต่อสู้ เพื่อที่จะสามารถคุ้มกัน ไดเมียว หรือแม่ทัพที่อยู่บนหลัง ม้า พร้อมกับอาวุธ ซึ่งจะสวมเกราะโยะโรย ที่มีน้ำหนักมากกว่า และเป็นอุปสรรคเวลาเคลื่อนไหวหรือกวัดแกว่งอาวุธ

เกราะโดะมะรุ มีสีสันที่ไม่ฉูดฉาด สะดุดตาเช่นเดียวกับเกราะโยะโรย ที่นิยมสีสันที่ฉูดฉาดเพื่อเป็นการบ่งบอกสถานะของตนเอง สีของเกราะโดะมะรุนั้นค่อนข้างทึบและเรียบง่าย เหมาะสำหรับการแฝงตัวในความมืดเวลาออกศึก สงคราม ในเวลากลางคืน เกราะโดะมะรุถูกออกแบบขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันกับเกราะโยะโรย คือเพื่อใช้ในการทำศึก สงคราม สำหรับเกราะโดะมะรุนั้น เส้นไหมหรือเชือกที่สำหรับใช้ร้อยแผ่นเหล็กกล้าจำนวนมากเข้าด้วยกัน จะใช้สีที่อ่อนกว่าเส้นไหมหรือเชือกที่ใช้สำหรับร้อยเกราะโยะโรย เช่นสีเทา สีน้ำเงิน ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกถึงสถานะของผู้สวมใส่เช่นเดียวกัน

ไดเมียว แม่ทัพหรือซามูไรที่สามารถซื้อเกราะได้ จะซื้อเกราะโดะมะรุให้แก่ ทหาร ภายในสังกัดของตนเอง ซึ่งจะสวมเกราะที่เรียบๆ ติด ดิน มากที่สุด และสำหรับทหารที่มีความสำคัญภายในกองทัพ อาจจะมีชุดเกราะอื่นๆ ที่ประดับตกแต่งหรูหรา ไว้สำหรับงานพิธีโดยเฉพาะ

หมวกเกราะของเกราะโดะมะรุ เป็นลักษณะหมวกธรรมดาที่ไม่นิยมให้มีการตกแต่งประดับประดามากมาย เช่นเดียวกับหมวกเกราะของเกราะโยะโรย อาจจะประดับบ้างเพียงเล็กน้อยสำหรับหัวหน้านายกอง เพื่อเป็นการบ่งบอกฐานะของตนเองในสมรภูมิ นิยมสีเดียวกันกับชุดเกราะเพื่อให้มีความกลมกลืนซึ่งกันและกัน และจะประดับด้วย มอน หรือ ตราประจำตระกูล ของไดเมียว หรือซามูไรที่สังกัด เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงสถานะของซามูไรเดินเท้า เช่นเดียวกันกับ มอน ของไดเมียวหรือพวกแม่ทัพและเป็นการป้องกันตนเองจากการต่อสู้ในสมรภูมิอีกด้วย เพราะระหว่างศึกสงคราม ซามูไรเดินเท้าจะสวมเกราะโดะมะรุที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมิตรหรือศัตรู ทำให้การแบ่งแยกสังกัดทำได้อย่างยากลำบาก มอน จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงสังกัดของซามูไรเดินเท้า