ทัศนคติและมุมมองของโทลคีน ของ เจ._อาร์._อาร์._โทลคีน

โทลคีนนับเป็นชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัด ทัศนคติของเขาในแง่ที่เกี่ยวกับศาสนาและการเมืองเป็นแบบอนุรักษนิยม คือยึดมั่นในขนบประเพณีดั้งเดิมและไม่ใคร่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ เหตุนี้เขาจึงต่อต้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมและผลสืบเนื่องของการณ์นั้นอย่างรุนแรง ด้วยความรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเข้าคุกคามชีวิตชนบทอันสงบสุขของอังกฤษ ตลอดชั่วชีวิตของเขา โทลคีนหลีกเลี่ยงในการใช้รถยนต์ แต่นิยมใช้จักรยานมากกว่า ทัศนคติเช่นนี้ปรากฏเห็นชัดอยู่ในงานเขียนของเขา โดยเฉพาะในเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เมื่อแคว้นไชร์ถูกบีบบังคับให้ทำอุตสาหกรรม[10]

นักวิจารณ์พากันศึกษาและบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวในปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ กับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของโทลคีน เช่น เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ มักโดนวิจารณ์ว่าเป็นตัวแทนของประเทศอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งโทลคีนเองปฏิเสธแข็งขันในบทนำของการตีพิมพ์เอดิชันที่สองของหนังสือชุดนี้[11] ว่าเขาไม่ชอบเขียนงานประเภทสัญลักษณ์แฝงคติ แนวคิดเช่นนี้ปรากฏอีกครั้งในงานเขียนของเขา เรื่อง On Fairy-Stories ซึ่งโทลคีนเห็นว่า เทพนิยาย เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง บางครั้งยังสื่อถึงความเป็นจริงบางประการอีกด้วย เขาเห็นว่าความเชื่อของคริสเตียนก็เป็นไปในลักษณะนี้ คือสมบูรณ์ในตัวเอง และแสดงถึงความเป็นจริงภายนอก พื้นฐานความเชื่อเช่นนี้ของโทลคีนพาให้เหล่านักวิจารณ์พากันค้นหาแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ในผลงานเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องมีความเกี่ยวพันกับศาสนาคริสต์น้อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา หรือการสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า

ด้านศาสนา

ความศรัทธาอันแรงกล้าของโทลคีนต่อศาสนาคริสต์เป็นหัวข้อสนทนาสำคัญระหว่างเขากับลิวอิส ผู้ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนมานับถือพระผู้เป็นเจ้า แม้โทลคีนจะผิดหวังอยู่บ้างที่ลิวอิสเลือกเข้ารีตในนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ แทนที่จะเป็นโรมันคาทอลิก[12]

ในช่วงปีท้ายๆ ของชีวิต โทลคีนยิ่งผิดหวังมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ไซมอน โทลคีน หลานของเขาได้บันทึกไว้ว่า

ผมจำได้แม่นเมื่อครั้งไปโบสถ์ที่บอร์นเมาธ์พร้อมกับคุณปู่ ท่านมีศรัทธาในความเป็นโรมันคาทอลิกอย่างมาก เวลานั้นทางโบสถ์ได้เปลี่ยนบทสวดจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ คุณปู่ของผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และกล่าวตอบคำสวดมนต์เป็นภาษาละตินเสียงดังลั่น ทั้งที่คนอื่นพากันกล่าวเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ผมรู้สึกอายมาก แต่ดูเหมือนคุณปู่จะไม่สนใจอะไรเลย ท่านเพียงต้องการทำในสิ่งที่ท่านเห็นว่าถูกต้องเท่านั้นเอง[13]—  ไซมอน โทลคีน หลาน

ด้านการเมือง

มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดการเหยียดผิวที่ปรากฏอยู่ในผลงานของโทลคีน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากมายในหมู่นักศึกษา[14] คริสทีน ไคซม์ นักศึกษาคนหนึ่งจำแนกข้อกล่าวหานี้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การเหยียดผิวโดยตั้งใจ การยึดยุโรปเป็นศูนย์กลางโดยไม่ตั้งใจ และการพัฒนาจากการเหยียดผิวที่แฝงในงานของโทลคีนช่วงต้นไปเป็นการปฏิเสธการเหยียดผิวในชั้นหลัง

เป็นที่รู้กันดีว่า โทลคีนดูหมิ่นพวกนาซีมากอยู่ว่าเป็นพวกล้าหลังและอันตราย เขาดูถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาก เนื่องจากเขาเห็นว่าฮิตเลอร์นั้น "ใช้จิตวิญญาณบริสุทธิ์ไปในทางที่ผิด"[15] แต่ถึงกระนั้นเขาก็ตำหนิกลุ่มต่อต้านเยอรมันที่รวมตัวกันขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งปรากฏในข้อความที่เขาเขียนไปถึงคริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชาย [16] และแสดงความรังเกียจระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมากับนางาซากิอย่างมาก เขาเรียกกลุ่มผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ว่าเป็น "นักวิทยาศาสตร์บ้า" และ "ผู้สร้างหอบาเบล"[17]

แนวคิดด้านการเมืองของโทลคีนล้วนมีพื้นฐานมาจากแนวคิดทางศาสนา เช่นเมื่อครั้งสงครามกลางเมืองในสเปน เขาออกเสียงสนับสนุนนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก เมื่อได้ทราบว่าเกิดความวุ่นวายถึงกับเผาทำลายโบสถ์คาทอลิกและสังหารพระกับแม่ชีไปเป็นจำนวนมาก เขายังแสดงความชื่นชมต่อกวีชาวแอฟริกาใต้ รอย แคมป์เบล อย่างมากมายหลังจากได้พบกันในปี ค.ศ. 1944 เนื่องจากแคมป์เบลเคยรับราชการในกองทัพสเปนมาก่อน โทลคีนนับถือว่าเขาเป็นนักรบผู้ปกป้องชาวคาทอลิก ขณะที่ ซี. เอส. ลิวอิส เขียนบทกวีล้อเลียนแคมป์เบลว่า เป็นชาวคาทอลิกจอมเผด็จการ[18]

ด้านอื่นๆ

ความรักในตำนานปรัมปรา และความเชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้าของโทลคีนผสมผสานกันเป็นอย่างดี จนกระทั่งโทลคีนเชื่อว่า ตำนานปรัมปราทั้งหลายเป็นสิ่งสะท้อนถึง "ความจริง" ที่เคยเกิดขึ้น[19] โทลคีนแสดงแนวคิดเช่นนี้ไว้ในบทกวีเรื่อง Mythopoeia ซึ่งตีพิมพ์พร้อมงานเขียนเรื่อง Tree and Leaf ในปี พ.ศ. 2474 แนวคิดนี้ได้กลายเป็นแกนกลางของการสังสรรค์ในชมรมอิงคลิงส์ในเวลาต่อมา และเป็นหัวใจของงานประพันธ์ชุดมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีนด้วย

ใกล้เคียง

เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เจ. อาร์. อาร์. โทลคีนส์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ วอลลุมวัน (วิดีโอเกม พ.ศ. 2537) เจ. ออพเพนไฮเมอร์ เจ. อาร์. รามิเรซ เจ. เค. โรว์ลิง เจ. เจ. ทอมสัน เจ. บรูซ อิสเมย์ เจน ออสเตน เจ.เจ. แอบรัมส์ เจ. วาย. ปิลไล

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ._อาร์._อาร์._โทลคีน http://64.6.241.183/blue/jtolkien.html http://ourworld.compuserve.com/homepages/billramey... http://www.crisismagazine.com/november2001/feature... http://findarticles.com/p/articles/mi_m0OON/is_3-4... http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3760/i... http://books.google.com/books?id=Q6zgmCf_kY4C&pg=P... http://video.google.com/videoplay?docid=8119893978... http://www.leaderu.com/humanities/wood-biography.h... http://www.merp.com/essays/MichaelMartinez/michael... http://news.nationalgeographic.com/news/2001/12/12...