ประวัติ ของ เจ._อาร์._อาร์._โทลคีน

ต้นตระกูล

บรรพชนของตระกูลโทลคีนส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ในแซกโซนี ประเทศเยอรมนี แต่ได้อพยพย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 นามสกุลของโทลคีนได้เปลี่ยนมาจากภาษาเยอรมันคำว่า Tollkiehn (จากคำว่า tollkühn หมายถึง "มุทะลุ" รากศัพท์เดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า dull-keen) มาเป็น Tolkien เพื่อให้เข้ากับภาษาอังกฤษ[4]

ส่วนตระกูลฝ่ายมารดาคือ ซัฟฟิลด์ ตากับยายของโทลคีนคือ จอห์น และ อีดิธ เจน ซัฟฟิลด์ เป็นคริสตชนแบ๊บติสต์พำนักอยู่ในเมืองเบอร์มิงแฮม เปิดร้านค้าอยู่ใจกลางเมืองเป็นอาคารชื่อว่า แลมบ์เฮ้าส์ ตระกูลซัฟฟิลด์เป็นตระกูลพ่อค้า มีกิจการค้าหลายอย่างนับแต่ยุคปู่ของตา คือวิลเลียม ซัฟฟิลด์ ที่เริ่มกิจการร้านหนังสือและเครื่องเขียนในปี ค.ศ.1812 ตาทวดและตาของโทลคีนสืบทอดกิจการมาตั้งแต่ปี 1826 รวมทั้งร้านเสื้อผ้าและเสื้อชั้นใน[5]

วัยเด็ก

โทลคีน และน้องชาย เมื่อปี ค.ศ. 1905

โทลคีนเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) ที่เมืองบลูมฟอนเทน เมืองหลวงของจังหวัดฟรีสเตท ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นบุตรของ อาเธอร์ รูเอล โทลคีน (พ.ศ. 2400-2439, ค.ศ. 1857–1896) นายธนาคารอังกฤษ กับภรรยา มาเบล นี ซัฟฟิลด์ (พ.ศ. 2413-2447, ค.ศ. 1870–1904) ทั้งสองต้องเดินทางไปจากอังกฤษเนื่องจากอาเธอร์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาบลูมฟอนเทน โทลคีนมีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ ฮิลารี อาเธอร์ รูเอล ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) ในวัยเด็กขณะที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ โทลคีนเคยถูกแมงมุมในสวนของเขากัด ต่อมาภายหลังเหตุการณ์นี้ได้ไปปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขาด้วย[6]

เมื่ออายุได้ 3 ปี โทลคีนได้กลับไปประเทศอังกฤษกับแม่และน้องชายเพื่อพักฟื้นรักษาตัว ระหว่างนั้นเองพ่อของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไข้อักเสบเรื้อรังก่อนจะทันเดินทางกลับอังกฤษมา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้ แม่ของเขาจึงต้องนำตัวเขากับน้องไปอยู่อาศัยกับตายายในเมืองเบอร์มิงแฮม หลังจากนั้นโทลคีนต้องย้ายบ้านไปมาหลายครั้ง เช่นไป Sarehole ไป Warcestershire และย้ายมาชานเมืองเบอร์มิงแฮมอีกครั้ง แม่ของโทลคีนต้องการให้เด็กๆ เติบโตมาในที่ชนบทอากาศดีเนื่องจากสุขภาพของพวกเขาไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นตลอดช่วงวัยเด็กโทลคีนได้เที่ยวเล่นอยู่ในเขตชนบทอันร่มรื่น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในงานประพันธ์ของเขาในเวลาต่อมา[6]

ความที่โทลคีนมีสุขภาพไม่ดี จึงไม่สามารถเข้าโรงเรียนตามปกติ มาเบลสอนหนังสือเด็กๆ ด้วยตัวเอง แต่พี่น้องตระกูลโทลคีนนี้ฉลาดหลักแหลมมาก แม่ของพวกเขาสอนเรื่องพฤกษศาสตร์ให้แก่พวกเขา ซึ่งทำให้ทั้งสองคนทราบข้อมูลเกี่ยวกับพืชได้ดีมาก โทลคีนยังชอบวาดรูปทิวทัศน์และหมู่ไม้ และมีฝีมือวาดที่ดีด้วย แต่สิ่งที่โทลคีนสนใจที่สุดคือศาสตร์ทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาลาติน ซึ่งเขาสามารถอ่านออกได้ตั้งแต่มีอายุเพียง 4 ปี และเขียนได้หลังจากนั้นอีกไม่นาน ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ.1900) เมื่อโทลคีนอายุได้ 8 ปี จึงได้เข้าโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เนื่องจากความไม่เคร่งครัดเรื่องการหยุดเรียน แต่ค่าเล่าเรียนก็แพงมาก ปีเดียวกันนั้น แม่ของโทลคีนได้หันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ครอบครัวของเธอเองได้คัดค้านอย่างรุนแรง และตัดขาดไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เธออีก โทลคีนกับน้องจึงต้องย้ายไปโรงเรียนเซนต์ฟิลลิป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่การเรียนการสอนก็ด้อยกว่ามาก ภายหลังมาเบลตัดสินใจให้โทลคีนย้ายกลับมาโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ดอีกครั้งในปี ค.ศ.1903 โทลคีนสามารถสอบเข้าเรียนได้โดยการชิงทุน[6]

ครั้นถึง ปี ค.ศ.1904 เมื่อโทลคีนมีอายุได้ 12 ปี มาเบลก็เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวาน ในยุคนั้นยังไม่มีอินซูลิน มาเบลในวัย 34 ปี จึงถือว่ามีชีวิตอยู่ได้ยาวนานมากแล้วโดยไม่มียารักษา นับแต่นั้นมาจนตลอดช่วงชีวิตของโทลคีน เขารำลึกถึงแม่ในฐานะคริสตชนผู้มีศรัทธาแรงกล้า ซึ่งส่งอิทธิพลต่อเขาในการนับถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด[6]

หลังจากมาเบลเสียชีวิต โทลคีนกับน้องไปอยู่ในความดูแลของบาทหลวงฟรานซิส ซาเวียร์ มอร์แกน ตามความตั้งใจของแม่ เขาเติบโตขึ้นในย่าน Edgbaston ใกล้เบอร์มิงแฮม สภาพแวดล้อมในแถบนั้นเช่น หอคอยสูงทรงวิกตอเรียของโรงประปา Edgbaston อาจเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างหอคอยทมิฬในงานเขียนของเขา หรือภาพเขียนยุคกลางของ Edward Burne-Jones หรืองานอื่นๆ ที่แสดงใน พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งเบอร์มิงแฮม ก็น่าจะมีส่วนอย่างมากต่องานเขียนของโทลคีน[6]

วัยหนุ่ม

โทลคีนในปี 1911 ปีที่ก่อตั้งสมาคม T.C.B.S.

บาทหลวงฟรานซิส จัดให้สองพี่น้องโทลคีนอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง เวลานั้นโทลคีนมีอายุได้ 16 ปี ที่บ้านเช่าแห่งนี้เขาได้พบและตกหลุมรักกับเด็กสาว ผู้แก่วัยกว่าเขา 3 ปี นามว่า เอดิธ แมรี่ แบรท (Edith Mary Bratt) บาทหลวงฟรานซิสเกรงว่าเธอจะทำให้เขาเสียการเรียน และยังวิตกกับความเป็นโปรแตสแตนท์ของเธอด้วย จึงสั่งห้ามให้เขาไปคบหาพูดคุยกับเธอจนกว่าโทลคีนจะมีอายุครบ 21 ปี ซึ่งโทลคีนก็ปฏิบัติตัวเช่นนั้นอย่างเคร่งครัด นอกจากด้วยความเคารพนับถือในตัวบาทหลวงแล้ว ยังด้วยเงื่อนไขด้านการศึกษาด้วย นั่นคือถ้าโทลคีนไม่สามารถสอบชิงทุนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนอีกเลย

ในปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เบอร์มิงแฮม โทลคีนและเพื่อนอีก 3 คน คือ รอบ กิลสัน, เจฟฟรี่ สมิธ และคริสโตเฟอร์ ไวส์แมน ได้ตั้งสมาคมลับ the T.C.B.S. ย่อมาจาก Tea Club and Barrovian Society ซึ่งมีที่มาจากการชื่นชอบดื่มน้ำชาของทั้งสี่ ในร้านบาร์โรว์ (Barrow's Stores) ระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ให้ห้องสมุดของโรงเรียน ถึงแม้จะออกจากโรงเรียนแล้วพวกเขาก็ยังติดต่อกันอยู่เหมือนเดิม และในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ทั้งสี่ก็ได้มารวมตัวประชุมกันอีกครั้งที่บ้านไวส์แมน สำหรับโทลคีนแล้ว การพบกันครั้งนี้ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างมากในการประพันธ์บทกวี[6]

ฤดูร้อนปี 1911 โทลคีนได้ไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเขาได้เขียนไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1968 (เป็นเวลาผ่านไปถึง 57 ปี) ว่า การผจญภัยของบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ในเทือกเขามิสตี้ ในเรื่อง เดอะฮอบบิท มาจากการเดินทางของเขาในเทือกเขาแอลป์คราวนั้น และยอดเขาจุงเฟรา กับซิลเบอร์ฮอร์น ก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างยอดเขาซิลเวอร์ไทน์ (เคเล็บดิล) นั่นเอง[7]

ปลายปี 1911 โทลคีนสามารถสอบชิงทุนเข้าเรียนในวิทยาลัย Exeter มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้สำเร็จ เขาเลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ภาษา และได้อ่านบทแปลภาษาอังกฤษของมหากาพย์ฟินแลนด์เรื่อง คาเลวาลา เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการศึกษาภาษาฟินแลนด์ ด้วยต้องการอ่าน คาเลวาลา ในภาษาต้นฉบับ โทลคีนยังเล่าเรียนแตกฉานในภาษายุคโบราณและยุคกลางอีกหลายภาษา รวมถึงงานประพันธ์ของวิลเลียม มอร์ริส เขาได้อ่านบทกวีเก่าแก่ของแองโกลแซกซอน ว่าด้วยเทพองค์หนึ่งชื่อ เออาเรนเดล (Earendel) ซึ่งประทับใจเขามาก ในปี 1914 หลังการรวมพลของสมาชิก T.C.B.S. โทลคีนแต่งบทกวีขึ้นบทหนึ่ง ตั้งชื่อว่า การผจญภัยของเออาเรนเดล ดวงดาวสายัณห์ (The Voyage of Earendel the Evening Star) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีน[6]

โทลคีนในปี 1916 ปีที่แต่งงาน

ปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ.1913) ในคืนวันเกิดอายุ 21 ปีของโทลคีน เขาได้เขียนจดหมายถึงเอดิธ หญิงสาวที่รัก เพื่อจะขอให้แต่งงานกับเขา แต่เธอบอกกับเขาว่า ได้รับหมั้นชายคนหนึ่งไว้แล้ว เพราะคิดว่าโทลคีนลืมเธอไป ทั้งสองมาพบกันใต้สะพานรถไฟเก่าๆ และคิดจะฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ เอดิธจึงนำแหวนไปคืนชายคนนั้น และตัดสินใจที่จะมาแต่งงานกับโทลคีน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2456 ทั้งสองก็หมั้นกันในเมืองเบอร์มิงแฮม และเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม ของอีก 3 ปีต่อมา ทั้งสองก็แต่งงานกันที่เมืองวอร์ริค ประเทศอังกฤษ โดยเอดิธได้หันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกตามโทลคีน[6]

ปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) โทลคีนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เวลานั้นอังกฤษได้ประกาศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว โทลคีนได้ไปเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษโดยเป็นนายร้อยตรีอยู่ใน Lancashire Fusiliers เข้ารับการฝึกฝนอยู่ 11 เดือน แล้วจึงย้ายไปเป็นนายทหารสื่อสาร กองพันที่ 11 ทัพหน้า ที่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1916 ปีเดียวกันกับที่แต่งงาน จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม เขาได้ล้มป่วยเป็นไข้กลับ และถูกส่งตัวกลับอังกฤษในวันที่ 8 พฤศจิกายน เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนสนิทของเขาหลายคนถูกสังหารในระหว่างสงคราม โดยเฉพาะเพื่อนสนิทชาว T.C.B.S. ผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของโทลคีนไปตลอดชีวิต ในระหว่างรอพักฟื้นอยู่ที่ Staffordshire โทลคีนได้เขียนนิยายเรื่องแรกของเขา คือ The Book of Lost Tales เริ่มต้นด้วยการล่มสลายของกอนโดลิน[6]

หน้าที่การงาน

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 โทลคีนได้ไปเป็นพนักงานตรวจชำระพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) เขาได้เป็นอาจารย์ ตำแหน่ง Reader (ตำแหน่งสูงกว่า อาจารย์อาวุโส แต่ต่ำกว่า ศาสตราจารย์) ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ และได้เลื่อนชั้นเป็นศาสตราจารย์ในอีก 4 ปีต่อมา เขาได้จัดทำ พจนานุกรมภาษาอังกฤษกลาง รวมถึงได้แปลวรรณกรรมอังกฤษยุคกลางเรื่อง Sir Gawain and the Green Knight ร่วมกับอาจารย์รุ่นน้องคือ อี. วี. กอร์ดอน งานทั้งสองชิ้นนี้ได้กลายเป็นงานมาตรฐานทางวิชาการต่อมาอีกหลายทศวรรษ

ปี พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) โทลคีนได้กลับไปยังออกซฟอร์ดถิ่นเก่า ในฐานะศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยเพมโบรค ระหว่างที่อยู่เพมโบรค โทลคีนได้เขียนเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ 2 ตอนแรก ที่บ้านบนถนนนอร์ธมัวร์ ในเขตออกซฟอร์ดเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีป้าย Blue Plaque ติดเอาไว้ในฐานะสถานที่สำคัญของประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ.1936 โทลคีนได้ตีพิมพ์งานวิชาการสำคัญชิ้นหนึ่ง เรื่อง "เบวูล์ฟ : บทวิเคราะห์แง่มุมของปีศาจ" (Beowulf: the Monsters and the Critics) ซึ่งเป็นงานที่ทำให้แนวทางศึกษาวรรณกรรมโบราณเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง[8] โทลคีนให้ความสำคัญกับเนื้อหาและความเป็นมาของโคลงโบราณนี้ มากกว่าแง่มุมด้านภาษาซึ่งเป็นจุดด้อยของโคลงเมื่อเทียบกับมหากาพย์เรื่องอื่น เขากล่าวว่า "เบวูล์ฟ เป็นแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่งของข้าพเจ้า..." แนวคิดนี้ได้สะท้อนให้เห็นปรากฏอยู่มากในเรื่องลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในยุคที่โทลคีนนำเสนอแนวคิดนี้ เหล่าบัณฑิตล้วนดูถูกโคลงเบวูล์ฟว่าเป็นนิทานหลอกเด็ก ไม่มีความสมจริงในทางการยุทธ์ แต่โทลคีนโต้แย้งว่า ผู้ประพันธ์เรื่องเบวูล์ฟไม่ได้เน้นเรื่องโชคชะตาของวีรบุรุษ หรือแม้ความเป็นชนเผ่าต่างๆ ในดินแดนนั้นเลย หัวใจสำคัญของเรื่องคือเหล่าปีศาจต่างหาก

ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โทลคีนย้ายไปประจำที่วิทยาลัยเมอร์ตัน ของออกซฟอร์ด และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดี จนถึงปลดเกษียนเมื่อปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959)

ตลอดชีวิตการทำงานของโทลคีน เขาสร้างผลงานวิชาการได้ค่อนข้างน้อย แต่เป็นงานที่มีคุณค่าและส่งผลกระทบต่อวงการวรรณกรรม อย่างเช่นบทวิเคราะห์เรื่อง เบวูล์ฟ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากโทลคีนใช้เวลาไปกับงานสอนค่อนข้างมาก และยังรับเป็นอาจารย์พิเศษอีกหลายแห่ง เพื่อจะได้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายภายในครอบครัว แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือ ความปราณีตพิถีพิถันของโทลคีนเอง ทำให้เขามีงานเขียนต้นฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์

ภาพสุดท้ายที่โทลคีนถ่าย กับต้นไม้ในสวนพฤกษศาสตร์ในออกซฟอร์ด

การสมาคม

โทลคีนเป็นคนที่ชอบงานสังสรรค์และมีเพื่อนมากมาตั้งแต่เด็ก นับแต่อยู่ที่โรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เขาได้ก่อตั้งสมาคม T.C.B.S. ร่วมกับเพื่อนๆ เมื่อเขาไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ โทลคีนก็ก่อตั้งชมรม The Viking Club ร่วมกับอาจารย์รุ่นน้องชื่อ อี. วี. กอร์ดอน เพื่ออ่านบทลำนำสนุกๆ ของนอร์สโบราณ และแปลบทกวีเก่าแก่ให้เป็นภาษาแองโกลแซกซอน ชมรมนี้เป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ และทำให้จำนวนนักศึกษาสาขาวรรณคดีอังกฤษของลีดส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมากกว่าของออกซฟอร์ดในช่วงเวลาเดียวกันเสียอีก[6] ครั้นเมื่อโทลคีนย้ายมาสอนที่ออกซฟอร์ด เขาก็ก่อตั้งชมรม Coalbiters Club (หรือ Kolbitar ในภาษาไอซ์แลนด์) คือกลุ่มชมรมที่นั่งหน้าเตาไฟ เผาถ่านในเตาผิง และอ่านบทกวีไอซ์แลนด์พร้อมกับแลกเปลี่ยนทัศนะ

นอกจาก T.C.B.S. แล้ว โทลคีนไม่มีเพื่อนสนิทอีกเลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2469 ขณะที่เขาย้ายมาเป็นศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยเพมโบรค ออกซฟอร์ด โทลคีนได้รู้จักกับอาจารย์จากวิทยาลัยมอดลินคนหนึ่ง ชื่อว่า Clive Staples Lewis หรือ ซี. เอส. ลิวอิส และได้เชิญให้เขามาร่วมใน Coalbiters Club ด้วย ทั้งสองค่อยๆ สนิทกันมากขึ้น และได้ก่อตั้งชมรมอิงคลิงส์ (Inklings) ซึ่งเป็นชมรมสำคัญอันมีส่วนสนับสนุนต่อการสร้างงานเขียนของโทลคีนในเวลาต่อมา ลิวอิสได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของโทลคีน และมีส่วนช่วยเหลือผลักดันให้โทลคีนสร้าง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ งานเขียนชิ้นสำคัญของโทลคีนได้จนสำเร็จ[6]

ครอบครัว

เอดิธ แบรท เมื่ออายุ 19 ปี "ลูธิเอน" ของโทลคีน

โทลคีนได้แต่งงานกับนางสาว เอดิธ แมรี่ แบรท และมีลูกด้วยกันถึง 4 คน ได้แก่ จอห์น ฟรานซิส รูเอล (17 พ.ย. พ.ศ. 2460 – 22 ม.ค. พ.ศ. 2546) ไมเคิล ฮิลารี รูเอล (ต.ค. 2463–2527) คริสโตเฟอร์ จอห์น รูเอล (2467 – ) และ พริสซิลลา แอนน์ รูเอล (2472 – ) โทลคีนเอาใจใส่กับครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ อย่างมาก เขามักอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่งนิทานให้ลูกอ่าน อันเป็นกำเนิดของนิทานเด็กมากมายที่ได้ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา งานชิ้นสำคัญคือ เดอะฮอบบิท และ จดหมายจากคุณพ่อคริสต์มาส ซึ่งโทลคีนเขียนเป็นจดหมายพร้อมภาพวาดประกอบ สมมุติว่ามาจากซานตาคลอส ส่งให้เด็กๆ อ่านจนกระทั่งพวกเขาเริ่มโต

ปลดเกษียณและวัยชรา

ในช่วงปีตั้งแต่เกษียน พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) จนถึงเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) โทลคีนมีชื่อเสียงจากนิยายของเขาอย่างมาก เขาโด่งดังไปทั่วอังกฤษและอเมริกา และได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์หนังสือเป็นจำนวนมาก จนโทลคีนเคยคิดว่าเขาน่าจะเกษียณตัวเองเร็วกว่านี้ แฟนหนังสือพากันเขียนจดหมาย โทรศัพท์ไปหา หรือแม้กระทั่งเดินทางไปยังบ้านของโทลคีน เพื่อถามรายละเอียดของเรื่องราวให้มากยิ่งขึ้น จนที่สุดโทลคีนต้องยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์ และย้ายไปอยู่บอร์นเมาธ์ในทางใต้[9]

โทลคีนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเครือจักรภพอังกฤษ ระดับชั้น Commander จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ที่พระราชวังบัคคิงแฮม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) เมื่อเขามีอายุ 80 ปี[1]

หลุมศพของคนทั้งสอง

นางเอดิธ โทลคีน ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) มีอายุได้ 82 ปี โทลคีนให้แกะสลักคำว่า ลูธิเอน (Lúthien) ซึ่งเป็นตัวละครเอลฟ์ที่ได้แนวความคิดมาจากเอดิธในเรื่องที่เขาแต่ง หลังชื่อของนางบนป้ายหลุมศพด้วย และเมื่อโทลคีนเสียชีวิตหลังจากนั้นอีก 21 เดือน ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) รวมอายุได้ 81 ปี เขาก็ได้สั่งไว้ให้ฝังตนเองในหลุมเดียวกันกับนางเอดิธ และให้เติมคำว่า เบเรน ข้างหลังชื่อเขา ดังนั้นป้ายหลุมศพจึงได้เขียนไว้ดังนี้

Edith Mary Tolkien
Lúthien
1889–1971
John Ronald Reuel Tolkien
Beren
1892–1973

ใกล้เคียง

เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เจ. อาร์. อาร์. โทลคีนส์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ วอลลุมวัน (วิดีโอเกม พ.ศ. 2537) เจ. ออพเพนไฮเมอร์ เจ. อาร์. รามิเรซ เจ. เค. โรว์ลิง เจ. เจ. ทอมสัน เจ. บรูซ อิสเมย์ เจน ออสเตน เจ.เจ. แอบรัมส์ เจ. วาย. ปิลไล

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ._อาร์._อาร์._โทลคีน http://64.6.241.183/blue/jtolkien.html http://ourworld.compuserve.com/homepages/billramey... http://www.crisismagazine.com/november2001/feature... http://findarticles.com/p/articles/mi_m0OON/is_3-4... http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3760/i... http://books.google.com/books?id=Q6zgmCf_kY4C&pg=P... http://video.google.com/videoplay?docid=8119893978... http://www.leaderu.com/humanities/wood-biography.h... http://www.merp.com/essays/MichaelMartinez/michael... http://news.nationalgeographic.com/news/2001/12/12...