ประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาประดับเจดีย์จุลประโทน ของ เจดีย์จุลประโทน

เป็นรูปภาพประดับที่บนฐานประทักษิณแบ่งออกเป็นช่องและตกแต่งด้วยภาพดินเผา และปูนปั้น ซึ่งความเห็นของนักวิชาการหลายๆท่านที่มีการนำเสนอแนวความคิด และหลักฐานจากการอ้างอิงที่ต่างกันทำให้จำแนกสรุปได้ดังนี้

นันทนา ชุติวงศ์ มีความเห็นที่สอดคล้องกับ ชอง บัวเซอลีเย่ ที่ว่าภาพดินเผา และปูนปั้นประดับที่เจดีย์จุลประโทนนั้นมีอายุเวลาที่ต่างกัน ไม่น่าจะอยู่ช่วงเดียวกัน

ความเห็น นันทนา ชุติวงศ์ เป็นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องของลัทธิ หรือนิกายทางศาสนา ที่เห็นว่าทุกลัทธิหรือนิกายทางพุทธศาสนานั้นสามารถหยิบยืมเรื่องราวที่มีการเขียนขึ้นในพุทธศาสนากันได้ อาจจะเป็นเรื่องที่มีความนิยม หรือมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ณ ที่นั้นๆ มาใช้สั่งสอนแก่ประชาชนร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการจำกัดที่มาถึงมูลเหตุว่างานประพันธ์ในพุทธศาสนานั้นมีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการที่จะสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดี โดยไม่ให้ความสำคัญกับลัทธิหรือนิกายใดนิกายหนึ่ง[5]

ส่วน พิริยะ ไกรฤกษ์ ให้ความเห็นว่าแต่เดิมตอนแรกเริ่มสร้างในสมัยแรกนั้นน่าจะใช้ดินเผาก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนวัสดุเป็นมาเป็นปูนปั้นแทนและน่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะจากการจัดองค์ประกอบของตัวภาพแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวัสดุ อาจเป็นผลเนื่องมาจากวัสดุเช่นดินเผานั้น มีราคาสูง รวมทั้งมีขั้นตอนตกแต่ง และในการผลิตที่ยุ่งยากกว่าการใช้เทคนิคปูนปั้น

ภาพชาดกที่เจดีย์จุลปะโทน

"ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 1 รูปภาพที่ 15 )"

พิริยะ ไกรฤกษ์ ให้ความเห็นว่าเป็นอวทานเรื่องไมตระกันยกะว่า ไมตระกันยกะเป็นพ่อค้าน้ำหอมที่เมืองพาราณสี วันหนึ่งต้องออกเดินทางไปค้าขายที่เมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งจำเป็นต้องออกเดินเรือทางทะเล มารดาของตนได้ทำการห้ามเอาไว้เนื่องจากบิดาของไมตระกันยกะได้เสียชีวิตลงกลางทะเล จึงไม่อยากให้ไมตระกันยกะต้องเสียชีวิตเหมือนบิดาของตน แต่ไมตระกันยกะไม่ฟัง สุดท้ายนางจึงต้องล้มตัวลงที่เท้าของเขา ไมตระกันยกะโกรธเคืองที่นางไม่ยอมให้ออกเดินทาง จึงเตะนางเข้าที่ศีรษะแล้วเดินจากไป เรือที่ไมตระกันยกะออกเดินทางได้ 7 วันก็เกิดอัปปางลง เขาได้ลงแพไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งได้พบกับนางอัปสร 4 นาง ซึ่งได้เอาใจใส่ไมตระกันยกะเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้น ไมตระกันยกะก็ได้ออกเดินทางต่อ จนไปพบอีกเกาะที่ได้พบกับนางอัปสรอีก 8 นาง ไมตระกันยกะได้ออกเดินทางต่ออีก ไปเจออีกเกาะ ซึ่งมีนางอัปสรอยู่ 16 นาง ไมตระกันยกะก็ยังไม่พอใจ จึงออกเดินทางต่อ ครั้งนี้ไปพบกับนางอัปสรถึง 32 นางซึ่งอยู่อีกเกาะหนึ่ง ไมตระกันยกะยังไม่พอใจ จึงเดินทางไปต่อ แต่ครานี้ได้พบกับเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเปรตโดนจักรหมุนเจาะกะโหลก ร้องด้วยความทุกข์ทรมาน ไมตระกันยกะจึงถามไปด้วยความสงสัยว่า เหตุใดจึงต้องเจอกับความทุกข์ทรมานเช่นนี้ เปรตตนนั้นได้ตอบว่า เขาได้ทำร้ายมารดาของตน ทันใดนั้น จักรที่หมุนอยู่ก็ได้มาหมุนบนเหนือศีรษะของไมตระกันยกะ ไมตระกันยกะได้ถามว่าเขาต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนานเท่าใด เปรตตนนั้นได้ตอบว่า จนกว่าจะมีคนทำบาปเยี่ยงตนอีก จึงจะมีคนมารับช่วงต่อแทน ไมตระกันยกะได้ยินดังนั้นจึงให้คำปฏิญาณว่า จะขอทูนกงจักรนี้ไปตลอดกาล เพื่อมิให้มีผู้ใดต้องทำบาปต่อมารดาและต้องรับกรรมเช่นตนอีกต่อไป ทันใดนั้น กงจักรก็ได้หยุดหมุนและลอยขึ้นไปในอากาศ หลังจากไมตระกันยกะสิ้นชีพแล้ว ก็ได้ไปอุบัติบนสวรรค์ชั้นดุสิต[6]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 23 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นว่าเป็นอวทาน เรื่องสุปารคะ

สุปารคะเป็นนายเรือผู้มีชื่อเสียงที่มีอายุแก่ชราและตาเกือบบอด แต่ถึงอย่างไรก็เป็นที่นับหน้าถือตาแก่ผู้ที่รู้จักกัน วันหนึ่งมีพ่อค้ามาขอความช่วยเหลือโดยการให้ร่วมโดยสารไปกับเรือ เพราะเชื่อว่าสุปารคะจะทำให้การเดินทางปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ในระหว่างการเดินทางเกิดพายุ เรือได้ออกนอกเส้นทางและเกิดหลงทางขึ้นมา เหล่าพ่อค้าทั้งหลายต่างสิ้นหวังที่จะรอดกลับไป จึงขอร้องให้สุปารคะช่วยเหลือ สุปารคะจึงอธิษฐานต่อพระพุทธองค์ให้ขอความช่วยเหลือ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยเบียดเบียนกับสิ่งมีชีวิตใดในชาตินี้ ขอให้บุญบารมีของข้าพเจ้าได้บันดาลให้เดินทางด้วยความปลอดภัยเถิด” จนในที่สุดเรือและพ่อค้าทั้งหมดก็ได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย[7]

แต่นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องเรื่องสมุททวาณิชชาดก มีบันทึกอยู่ในประชุมชาดกภาษาบาลี เรื่องนี้พระมหาสัตว์เสวยพระชาติเป็นหัวหน้าช่างไม้ผู้พาเรือบรรทุกบริวารจำนวน 500 คน แล่นหนีอันตรายไปได้โดยสวัสดิ์ภาพ

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 24 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทาน เรื่อง กัจฉปะ

พระพุทธองค์ได้เสวยชาติเป็นเต่าและได้ช่วยเหลือเหล่าพ่อค้า 500 คนที่ออกเดินทางโดยเรือและเกิดอัปปาง โดยให้โดยสารขึ้นหลังไปส่งที่พื้นดินอย่างปลอดภัย แต่เมื่อช่วยได้ทั้งหมดแล้ว พ่อค้าทั้ง 500 คนพยายามที่จะฆ่าและกินเนื้อพระองค์ ด้วยความเมตตา พระองค์จึงทราบว่าพ่อค้าทั้งหลายนั้นคงจะหิวมาก จึงบริจาคเนื้อให้เพื่อเป็นทาน[8]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 25 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทาน เรื่อง มหากปิ

ชายผู้หนึ่งได้หลงเข้าไปในป่าและด้วยความหิว ตนจึงปีนต้นไม้ขึ้นไปเพื่อเด็ดผลไม้ซึ่งทอดกิ่งไปยังเหว แต่ตนพลาดพลั้งเกิดพลัดตกลงไปในเหว พระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็นพระยาวานรบังเอิญไปพบเข้า ได้เห็นชายผู้นั้นอยู่ก้นเหว ชายผู้นั้นได้ขอความช่วยเหลือแก่พระยาวานร พระยาวานรจึงช่วยแบกชายผู้นั้นขึ้นมาถึงปากเหว เมื่อช่วยได้แล้ว พระยาวานรเหน็ดเหนื่อยจากการแบกและปีนป่าย จึงได้ล้มตัวลงนอนหลับไป ชายผู้นั้นจึงคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะกินเนื้อพญาวานร จึงได้ยกก้อนหินหมายจะสังหารพญาวานร แต่เกิดพลาด ศิลาจึงไม่โดนจุดสำคัญ พญาวานรจึงได้รับบาดเจ็บ และได้ตำหนิติเตียนเขาและนำออกไปจากป่า ด้วยผลกรรมนี้ ชายผู้นั้นจึงกลายเป็นโรคเรื้อนด้วยผลแห่งการทรยศผู้มีพระคุณ[9]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 26 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทาน เรื่อง ษัฑทันตะ

พระโพธิสัตว์ซึ่งได้เสวยพระชาติเป็นช้าง 6 งา วันหนึ่งมีพระราชินีซึ่งโกรธเคืองกับพระยาช้างมาเมื่อชาติปางก่อน จึงสั่งให้นายพรานไปนำงามาให้แก่ตน พรานจึงปลอมตัวเป็นนักบวชและได้ยิงพระช้างด้วยลูกดอกอาบยาพิษ พระโพธิสัตว์ด้วยความเคารพแก่นักบวช จึงมิได้ทำอันตรายต่อนายพรานและอนุญาตให้นำงาของตนไปได้ พรานได้บอกว่า ตนเป็นนายพรานและไม่อยากให้งาต้องถูกมือที่ไม่บริสุทธิ์ พระยาช้างจึงเอางวงถอดงาของตนมอบให้แก่นายพรานซึ่งกำลังคอยอยู่[10]

ลานประทักษิณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 2 รูปภาพที่ 28 )

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวทานอวทาน เรื่อง ศยามกะ

ศยามกะเป็นบุตรชายผู้ซื่อสัตย์ต่อบิดามารดาที่ตาบอด และได้อาศัยอยู่ในป่า โดยใช้ชีวิตเป็นนักบวชทั้งหมด วันหนึ่งขณะที่ไปตักน้ำให้บิดามารดา พระราชาได้เข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ เห็นศยามกะนึกว่าเป็นกวางจึงยิงลูกดอกอาบยาพิษเข้าใส่ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นนักบวช พระราชาก็ตกพระทัยและทรงวิงวอนขอโทษแก่ศยามกะ ศยามกะได้บอกว่าตนเป็นบุตรเพียงคนเดียวและขอให้ดูแลบิดามารดาแทนตนด้วย พระราชาก็ตรัสว่า จะยอมสละราชสมบัติเพื่อมาดูแลบิดามารดาให้แทน เมื่อนั้นพระราชาก็ได้ตรงไปยังอาศรมแล้วตรัสบอกบิดามารดาของศยามกะว่า ตนได้สังหารบุตรชายเสียแล้ว และได้ขอปรนนิบัติทำหน้าที่แทนศยามกะ บิดามารดาของศยามกะก็ขอร้องให้พระราชาพาไปยังที่ศยามกะนอนตายอยู่ พระราชาก็เสด็จนำไป เมื่อไปถึงแล้ว บิดามารดาจึงอธิษฐานให้พิษที่อยู่ในศยามกะได้สลายไป ถ้าหากเป็นความจริงที่ว่าศยามกะได้มีเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวงและได้ปฏิบัติต่อบุพการีอย่างดีมาตลอด ทันใดนั้นศยามกะจึงฟื้นจากความตายมาเหมือนกับว่าเพิ่งตื่นนอน[11]

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องเวสสันดรชาดก

บุคคลทั้ง 3 ในภาพหมายเลข 30 ไม่สวมเครื่องประดับเพราะถือเพศเป็นนักบวชบุคคลกลางคือพระเวสสันดรกำลังถือพระหัตถ์ชายาในพิธีประทานพระนางให้กับท้าวสักกะเทวราชผู้จำแลงเป็นพราหมณ์มาขอ แผ่นภาพดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับที่ซุ้มประตูพระสถูปที่สาญจี ประเทศอินเดีย และบนหินจำหลักรูปบนใบเสมาในภาคอีสานของไทย

ลานประทักษิณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์จุลประโทน (แผนผังที่ 3 รูปภาพที่ 31, 32 และ 33)

พิริยะ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นเว่าเป็นอวนทาน เรื่อง หัสติง

พระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็นพระยาช้างป่าและอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งใกล้กับทะเลทราย วันหนึ่งได้เจอกับผู้เดินทางซึ่งข้ามทะเลทรายเข้ามายังในป่า และได้ถามว่าเหตุใดจึงมาอยู่ในทะเลทรายแห่งนี้ได้ เหล่าผู้เดินทางทั้งหลายจึงบอกว่า ถูกขับไล่ออกมาจากบ้านเมืองของเขา จากจำนวนคน 1,000 คน เหลืออยู่ 700 คนเท่านั้น เนื่องจากความหิวโหยและกระหายน้ำ พระยาช้างจึงบอกว่า เดินทางตรงไปจะเจอกับเหว ใต้เหวนั้นจะมีซากช้างตายที่เพิ่งตกจากภูเขาลงไปตาย ให้นำเนื้อของช้างนั้นมารับประทานและนำกระเพาะอาหารของช้างนั้นไปทำเป็นที่บรรจุนำเสีย หลังจากนั้นพระยาช้างจึงไปที่ยอดเขาและกระโจนตกลงมาที่ก้นเหวเพื่อสละตนเองแก่คนเหล่านั้น เมื่อคนเหล่านั้นมาพบซากช้าง ก็จำได้ว่าเป็นช้างเชือกเดียวกันกับที่ได้ช่วยเหลือเขาไว้ และได้ตัดสินใจกินเนื้อช้างนั้นเสียเพื่อให้กระทำตามที่พระยาช้างประสงค์[12]

ชิ้นส่วนรูปคนบนหลังม้า

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องพระยาม้า

พระยาม้าเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อค้านายวานิชให้หนีพ้นจากเกาะนางยักษ์ เรื่องของพระยาม้า ดังกล่าวนี้มิได้มีจำกัดเฉพาะอยู่แต่เพียงในวรรณคดีภาษาสันสกฤตเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏอยู่ในประชุมชาดกภาษาบาลีด้วย เป็นนิทานที่นิยมกันมากในหมู่ชาวพุทธทั้ง 2 ฝ่าย [13]

ภาพราชสำนัก

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องพระเจ้าสุรูปะ

กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานบารมีองค์นี้ ประทานพระโอรส พระมเหสี และสุดท้ายตัวพระองค์เองให้แก่ยักษ์กระหายเลือด ที่แท้ก็คือท้าวสักกะเทวราชจำแลงกายลงมา หลังจากที่กษัตริย์สุรูปะได้แสดงพระอัธยาศัยในทานบารมีให้เป็นที่ปรากฏแล้ว ท้าวสักกะก็ประทานทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนให้พระองค์ ในภาพพระเจ้าสุรูปะกำลังอุ้มเจ้าชายผู้เป็นพระราชโอรสประทานให้แก่พระยายักษ์ผู้ซึ่งยืนอยู่ทางขวาสุดของภาพ พระมเหสีประทับยืนอยู่ตรงกลางภาพ พระพักตร์เศร้า แต่สงบ ยอมรับการตัดสินพระทัยของพระสวามีโดยดุษณี ทางด้านซ้ายของภาพ เหล่าบรรดาข้าราชสำนักนำภาชนะใส่อาหารมาเลี้ยงดูแขกหฤโหดผู้ปฏิเสธไม่ยอมรับบริโภคอาหารอันใด นอกเหนือจากเลือดเนื้อของพระโอรส [14]

แผ่นภาพหมายเลข 70

นันทนา ชุติวงศ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องศรภะชาดก

ศรภะชาดก หรือ สรภะมิคะชาดก พระมหาสัตว์เสวยพระชาติเป็นตัวศรภะ สัตว์ประหลาดซึ่งเชื่อกันว่ามีพละกำลังมากเท่ากับราชสีห์ และพระยาช้างสาร พระเจ้ากรุงพาราณศรีไล่ล่าตัวศรภะจนพระองค์เองตกลงไปในเหวลึก พระมหาสัตว์ศรภะเห็นภัยเกิดแก่พระราชา จึงไต่ลงไปในเหวแล้วให้พระราชาขึ้นบนหลัง และพาพระองค์ขึ้นไปจากเหวได้โดยปลอดภัย [15]