เจ้าจอมนรินทร์ในเอกสารฝ่ายสยาม ของ เจ้าจอมนรินทร์

จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์: ใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑

จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์พบว่า ฝ่ายสยามออกพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์และพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) อย่างหยาบคายและดูหมิ่นพระเกียรติยศอย่างมาก รายละเอียดในใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑ กล่าวถึงพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) ดังนี้

...วันศุกร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุน นพศก (พ.ศ. ๒๓๗๐) หมื่นชำนาญตำรวจถือหนังสือบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับ ๑ กับคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ลงมาว่า หนังสือพระยาจ่าแสนยากร มาถึงพระยาศรีสหเทพให้นำเอาขึ้นกราบบังคมพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ ด้วยมีพระบัณฑูรโปรดเกล้าฯ ให้บอกลงมาว่า ได้บอกข้อราชการให้สมิงชัยเสนถือลงมาแต่ก่อนแจ้งอยู่แล้ว ครั้นณวันเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ เสด็จยกขึ้นมาถึงค่ายหลวงฟากแม่น้ำปชี กรมหมื่นนเรศร์โยธี นายทัพนายกองปรึกษาพร้อมกันให้หมื่นนรินทร์ชาวเมืองโคราช เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกับอ้ายพระยานรินทร์มาแต่ก่อน เข้าไปพูดกับอ้ายลาวที่หนองบัวลำภู ใกล้ค่ายประมาณ ๙ ศอก ๑๐ ศอกได้พูดกันถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง อ้ายลาวเขียนหนังสือโยนออกมาฉะบับ ๑ กรหมหมื่นนเรศร์โยธีให้อ่านหนังสือยังหาสิ้นข้อความไม่ อ้ายลาวในค่ายระดมกันยิงปืนออกมา ได้ยิงตอบโต้กันแต่เพลาบ่าย ๔ โมงไปจนเพลาพลบค่ำ และทำค่ายตับค่ายวิหลั่นสนามเพลาะเข้าไปชิด ห่างค่าย ๑๐ วาบ้าง ๑๕ วาบ้าง รุ่งขึ้นณวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำเพลาเช้าตรู่อ้ายลาวทิ้งค่ายเสียแตกหนีไป อ้ายลาวตายในที่รบ ๗๐ เศษ พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิชัยราชา พระยาสิทธิอาวุธ ไพร่ ๓ คน จับพระยานรินทร์ ๑ กับไพร่ ๑๒ คน พระยาอุทัยธานี พระยาณรงควิชัย กับนายอ่อนข้ากรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ จับได้ ๑๓ คน เข้ากัน ๒๖ คน กับปืนคาบศิลาคาบชุดดีและชำรุด ๒๕ บอก กองทัพถูกปืนเมื่อรบอ้ายลาว กองมอญตายนาย พระยาเกียรติ์ (บุตร์คนใหญ่ของเจ้าพระยามหาโยธา ทอเรีย คชเสนี) ๑ สมิงสิทธิราชา ๑ ไพร่ ๓ รวม ๕ คน ลำบากสมิงสิทธินายกอง ๑ ปลัดกอง ๓ นายหมวด ๒ คน เข้ากัน ๖ คน กองพระยาพิชัยบุรินทราตายไทย ๑ พะม่า ๑ รวม ๒ คน ลำบาก ๔ คน กองพระยาท้ายน้ำ ไพร่ลำบาก ๑ กองพระยาทศโยธา ไพร่ตาย ๑ ลำบาก ๑ รวม ๒ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ไพร่ลำบาก ๓ กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ไพร่ลำบาก ๑ กองพระเสนาบริรักษ์เมืองโคราชไพร่ตาย ๑ ลำบาก ๕ รวม ๖ คน เข้ากันตายนาย ๒ ไพร่ ๗ รวม ๙ คน ลำบากนาย ๔ ไพร่ ๑๗ รวม ๒๑ คน แต่อ้ายพระยานรินทร์ ๑ กับอ้ายลาว ๑๐ รวม ๑๑ คนนั้น กรมหมื่นนเรศร์โยธี ขอพระราชทานไว้ไล่เลียงถามข้อราชการก่อนจึงจะส่งลงมา แล้วว่าพระยากลาโหมราชเสนา หมื่นณรงค์ ข้ากรมหมื่นนเรศร์โยธี หมื่นฤทธิ์ ข้ากรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ไปติดตามอ้ายลาวพบครัวไทยลาวเมืองโคราช ฉกรรจ์ ๓๐ ชายหญิงใหญ่น้อย ๑๗๙ รวม ๒๐๙ คน แต่ฉกรรจ์นั้น พระยากลาโหมราชเสนาขอพระราชทานไว้ในกองทัพ กำหนดกรมหมื่นนเรศร์โยธีนายทัพนายกองจะได้ยกขึ้นไปตีอ้ายลาวด่านเข้าสารช่องแคบ ณวันเดือน ๖ แรมค่ำ ๑ กรมหมื่นนเรศร์โยธีจึงให้นายขุนทองข้าในกรม คุมอ้ายลาวไพร่ ๑๔ คนปืน ๒๕ บอก กับครัวเมืองโคราช ๑๗๙ คน และคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ลงมาส่ง อนึ่งกองมอญจับอ้ายลาวได้ที่หนองบัวลำภู ๗ คน กับสามเณรบุตรหลวงปลัดเมืองปักธงไชย หลานพระยายกกระบัตรเมืองโคราช หนีอ้ายลาวลงมาแต่บ้านเชียงเพง ๒ รูป.........ถ้ากรมหมื่นนเรศร์โยธี นายทัพนายกองบอกข้อราชการลงมาประการใดจะบอกลงมาครั้งหลัง และครัวชาวเมืองโคราชซึ่งนายทัพนายกองส่งลงมา ๑๗๙ คนนั้น ได้ให้กลับมาอยู่บ้านเรือนตามภูมิลำเนาเดิม แต่อ้ายลาวซึ่งนายทัพนายกองส่งลงมา ๒๑ คนนั้น ขอพระราชทานไว้ไล่เลียงไต่ถามข้อราชการ ๓ คน ส่งลงมากรุงเทพฯ ๑๘ คน แต่ปืนคาบศิลาคาบชุดดีและชำรุด ๒๕ บอก ได้ส่งคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ลงมาด้วยแล้ว.........หนังสือมาณวัน ๖ฯ๘๖ ค่ำ ปีกุนนพศกฯ (พ.ศ. ๒๓๗๐)[10]

จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์: คำให้การอ้ายพระยานรินทร์

ความอีกตอนหนึ่งในจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์ เรื่องคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ ก็มีการออกนามอย่างหยาบคายเช่นเดียวกับใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑ และออกนามเมืองสี่มุมเพี้ยนไป เนื้อความโดยละเอียดระบุว่า

อ้ายพระยานรินทร์ เจ้าเมืองศรีมุม ให้การว่าณเดือนอ้ายปีจอ อัฐศก อ้ายอนุเวียงจันทน์ใช้ให้อ้ายแก้วตำรวจกับไพร่ ๑๓ คน ไปเอาตัวข้าพเจ้ามาหาอ้ายอนุเวียงจันทน์ณบ้านดอนสาร ตำรวจว่าถ้าไม่ไปจะตัดศีร์ษะเสีย ข้าพเจ้ากลัวก็มาหาอ้ายอนุบ้านดอนสาร อ้ายอนุถามข้าพเจ้าว่าจะไปด้วยกันหรือไม่ไป ข้าพเจ้าว่าจะไปแล้วอ้ายอนุพาข้าพเจ้าลงไปเมืองโคราช ประมาณไพร่ซึ่งมากับอ้ายอนุ ๙,๐๐๐ เศษ ครั้นถึงเมืองโคราชอ้ายอนุให้หาพระยายกกระบัตรกรมการมาถามว่า จะไปเมือเมืองเวีงจันทน์ด้วยกันหรือไม่ พระยายกกระบัตรกรมการก็ว่า ถ้าปล่อยจะยอมไปด้วยอ้ายอนุเวียงจันทน์ๆ ให้อ้ายราชวงษ์คุมไพร่ ๖๖๐ คนยกลงไปไล่ครัวเมืองสระบุรี แต่ตัวข้าพเจ้าอ้ายอนุใช้ให้อ้ายศักกะละคอน (สกลนคร) กับไพร่ ๑๐๐ คนคุมกลับไปเมืองศรีมุม ให้ไล่ครัวมาบัญจบกันที่ทางสามม่อจะได้ไปเวียงจันทน์ ข้าพเจ้าตามครัวชายหญิงประมาณ ๑๐๐ เศษออกจากเมืองศรีมุมแต่ณวันแรม ๑๓ ค่ำ ตามครัวมาถึงบ้านแทน อ้ายอนุให้ตำรวจขึ้นมาเร่งให้ข้าพเจ้าตั้งค่ายณบ้านแทน ข้าพเจ้าตั้งค่ายยังหาแล้วไม่ จึงยกกลับขึ้นมา อ้ายอนุบอกข้าพเจ้าว่า ครัวเมืองโคราชซึ่งให้เพี้ยรามพิชัยคุมไพร่ ๒๐๐ คนไปถึงบ้านสัมริด พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเสียหมดแล้ว ให้อ้ายสุทธิสารคุมไพร่ ๒,๐๐๐ คน มีปืน ๒๐๐ บอกยกไปรบกับครัวโคราชณบ้านสัมริด อ้ายสุทธิสารแตกหนีมา พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเป็นอันมาก พออ้ายสุทธิสารหนีมาถึงณบ้านแทน อ้ายสุทธิสารบอกอ้ายอนุว่าครัวฆ่าไพร่ลาวตายเสีย ๖๐๐ เศษ แล้วอ้ายอนุกับอ้ายสุทธิสารข้าพเจ้าก็พากันขึ้นมาถึงบ้านหนองบัวลำภู อ้ายอนุตั้งให้เป็นเจ้าเมืองหนองบัวลำภู[11]

ใกล้เคียง

เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมก๊กออ เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาจีน เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมนรินทร์