ชีวิต ของ เชอร์ล็อก_โฮมส์

วัยเยาว์

ภาพแรกของโฮมส์ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1887

นอกเหนือไปจากการผจญภัยของโฮมส์ที่หมอวอตสันบันทึกเอาไว้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของเขาน้อยมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์และครอบครัวของเขาอยู่บ้าง ทำให้เห็นภาพชีวประวัติของโฮมส์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ

จากอายุของโฮมส์ที่ระบุไว้ในเรื่อง ลาโรง ทำให้ประมาณได้ว่า เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1854 เพราะเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 และบรรยายว่าโฮมส์มีอายุ 60 ปี เลสลี คลิงเกอร์ ระบุวันเกิดของโฮมส์ว่าเป็นวันที่ 6 มกราคม[10]

โฮมส์เคยบอกว่าเขาเริ่มพัฒนากระบวนการลำดับเหตุผลของตนขึ้นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา คดีแรก ๆ ของเขาสมัยที่ยังเป็นมือสมัครเล่นนั้นมาจากพวกเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย[11] ตามที่โฮมส์เล่า การได้พบกับพ่อของเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งทำให้เขาตัดสินใจถืออาชีพเป็นนักสืบ[12] และเขาใช้เวลาอีก 6 ปีทำงานเป็นนักสืบที่ปรึกษา จนกระทั่งประสบปัญหาทางการเงิน จึงต้องมาหาคนร่วมแบ่งห้องเช่า และได้พบกับหมอวอตสัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายชุดนี้

นับแต่ปี 1881 โฮมส์อาศัยอยู่ที่ห้องเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ กรุงลอนดอน อันเป็นที่ซึ่งเขาดำเนินกิจการนักสืบที่ปรึกษา ห้อง 221 บี เป็นอะพาร์ตเมนต์ชั้นบน มีบันได 17 ขั้น ตั้งอยู่ทางซีกบนของถนน ก่อนจะพบกับหมอวอตสัน โฮมส์ทำงานเพียงลำพัง และจ้างชาวบ้านหรือเด็กข้างถนนใช้งานเป็นครั้งคราว

มีการกล่าวถึงครอบครัวของโฮมส์เพียงเล็กน้อย ไม่มีการเอ่ยถึงพ่อแม่ของเขาในนิยายเลย เขาพูดถึงบรรพบุรุษของตนคร่าว ๆ ว่าเป็น "ผู้ดีบ้านนอก" ในเรื่อง ล่ามภาษากรีก โฮมส์บอกว่าลุงของพ่อเขาคือ เวอร์เนต์ ศิลปินชาวฝรั่งเศส พี่ชายของโฮมส์ชื่อ ไมครอฟต์ อายุมากกว่าเขา 7 ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏในนิยาย 3 เรื่อง[13] และถูกเอ่ยถึงในนิยายอีก 1 เรื่อง[14] ตำแหน่งงานของไมครอฟต์เป็นพลเรือน ทำหน้าที่คล้าย ๆ ฝ่ายข้อมูลหรือฐานข้อมูลเคลื่อนที่สำหรับนโยบายของรัฐบาลทั้งหมด นิยายบรรยายถึงไมครอฟต์ว่ามีพรสวรรค์ในด้านการสังเกตและการวิเคราะห์เหตุผลยิ่งกว่าโฮมส์เสียอีก แต่เขาออกจะขี้เกียจและไม่ชอบงานภาคสนามแบบโฮมส์ กลับชอบใช้เวลาว่างอยู่ในสมาคมไดโอจีนีส ซึ่งบรรยายไว้ว่าเป็น "สมาคมสำหรับชายผู้ไม่ชอบสมาคมแห่งลอนดอน"

กับหมอวอตสัน

ภาพวาดเชอร์ล็อก โฮมส์ โดย Sidney Paget จาก นิตยสารสแตรนด์, ค.ศ. 1891 ในเรื่อง "ชายปากบิด"

โฮมส์ใช้ช่วงชีวิตการงานส่วนใหญ่ของตนอยู่กับหมอวอตสัน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและผู้จดบันทึกชีวประวัติของเขา หมอวอตสันพักอยู่กับโฮมส์ก่อนจะแต่งงานในปี ค.ศ. 1887 และหลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิตก็กลับมาอยู่กับโฮมส์อีก เจ้าของห้องพักที่พวกเขาเช่าอยู่คือมิสซิสฮัดสัน

วอตสันมี 2 บทบาทในชีวิตของโฮมส์ อย่างแรกคือเป็นผู้ช่วยโฮมส์ในการสางคดี ทำหน้าที่คอยดูต้นทาง เป็นนกต่อ เป็นผู้ช่วยและส่งข่าว อย่างที่สอง เขาเป็นผู้บันทึกชีวประวัติของโฮมส์ เรื่องราวของโฮมส์เขียนขึ้นจากมุมมองของวอตสันในรูปบทสรุปของคดีน่าสนใจต่าง ๆ ที่โฮมส์เคยสะสางมา โฮมส์มักบ่นว่างานเขียนของวอตสันนั้นเร้าอารมณ์มากเกินไป และมักบอกให้วอตสันบันทึกแต่ข้อเท็จจริงกับรายงานทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว

ถึงกระนั้น โฮมส์ถือว่ามิตรภาพกับวอตสันมีความสำคัญสูงยิ่ง มีบรรยายในนิยายหลายเรื่องถึงความชื่นชมที่โฮมส์มีต่อวอตสัน ซึ่งมักถูกปิดบังเอาไว้ภายใต้ความเย็นชาของเขา เช่นในเรื่อง พินัยกรรมประหลาด วอตสันได้รับบาดเจ็บจากการเผชิญหน้ากับโจร โฮมส์จัดการเอาปืนกระแทกศีรษะคนร้ายแล้วเข้าไปหาวอตสันทันที แม้กระสุนปืนนั้นจะเพียงแค่ถากไปก็ตาม และยังประกาศกับคนร้ายว่าหากคนร้ายฆ่าวอตสัน เขาจะไม่ปล่อยอีกฝ่ายให้ออกจากห้องนี้ทั้งที่ยังมีชีวิต

โดยรวมแล้วโฮมส์ประกอบอาชีพนักสืบอยู่ 23 ปี โดยมีหมอวอตสันร่วมอยู่ในชีวิตการงานของเขา 17 ปี[15]

ความรัก

ในนิยายเรื่อง นายหน้าขู่กิน โฮมส์ได้หมั้นหมายกับหญิงคนหนึ่ง แต่ก็เพื่อหาข้อมูลในการทำคดีเท่านั้น แม้โฮมส์จะแสดงความสนใจในสตรีลูกความหลายคน (เช่น ไวโอเลต ฮันเตอร์ ในเรื่อง คฤหาสน์อุบาทว์ ไวโอเลต สมิธ ในเรื่อง นักจักรยานผู้เดียวดาย และเฮเลน สโตนเนอร์ ในเรื่อง ห่วงแต้ม) วอตสันก็บอกว่าเขา "เลิกสนใจในตัวลูกความทันทีที่หล่อนไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหาที่เขาต้องขบคิดอีกต่อไป" โฮมส์เห็นว่าความสาว ความสวย และความกระชุ่มกระชวย (ของคดีที่พวกหล่อนนำมา) ทำให้เขาสดชื่นรื่นเริง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชิงพิศวาสแต่อย่างใด ในนิยายชุดนี้ โฮมส์เป็นคนมีเสน่ห์ วอตสันเล่าว่าโฮมส์นั้น "เป็นโรคเกลียดผู้หญิง" แต่ "สามารถประจบประแจงเข้ากันกับพวกหล่อนได้เป็นอย่างดี" ส่วนโฮมส์บอกว่า ตนมิได้ชื่นชมสตรีอย่างหมดใจ เขาพบว่า "แรงผลักดันของสตรีนั้นไม่อาจหยั่งรู้ได้ การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกหล่อนอาจตีความได้มากมาย ... ความประพฤติอันผิดธรรมดาที่สุดอาจเป็นเพราะปิ่นปักผมอันเดียวเท่านั้น"

เกษียณ

ในเรื่อง ลาโรง โฮมส์เกษียณตนเองไปอยู่ในฟาร์มเล็ก ๆ ที่ซัสเซกซ์ดาวน์ ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่าย้ายไปเมื่อใด แต่ประมาณว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1904 เพราะมีการเล่าย้อนความหลังในเรื่อง รอยเปื้อนที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ในปีนั้น ที่ฟาร์มนี้เขาเลือกงานอดิเรกในการเลี้ยงผึ้งมาเป็นงานประจำ และได้เขียนหนังสือ "คู่มือว่าด้วยวัฒนธรรมของผึ้ง และผลสังเกตการณ์บางส่วนในการแยกอยู่กับนางพญา" เนื้อเรื่องเล่าถึงโฮมส์กับวอตสันที่หยุดชีวิตเกษียณชั่วคราวเพื่อช่วยเหลืองานทางทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากนี้มีนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเกษียณ คือ ขนคอสิงห์ ซึ่งโฮมส์เป็นคนเล่าเรื่องเอง ไม่มีรายละเอียดว่าโฮมส์เสียชีวิตเมื่อใด

ใกล้เคียง

เชอร์ล็อก โฮมส์ เชอร์รีบุลเลต เชอร์รี เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ดับแผนพิฆาตโลก เชอร์ล็อค โฮล์มส์ เกมพญายมเงามรณะ เชอร์ล็อก (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์) เชอร์รีสเปน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ลาโรง เชอร์ลีย์ แม็กเลน เชอร์ลีย์ โจนส์

แหล่งที่มา

WikiPedia: เชอร์ล็อก_โฮมส์ http://168.144.50.205/221bcollection/canon/index.h... http://www.angelfire.com/ks/landzastanza/publicati... http://members.aol.com/_ht_a/shbest/ref/beetons-ch... http://bakerstreetdozen.com/coca.html http://www.bakerstreetdozen.com/furtheradvent.html http://www.bluebookski.com/bluebook9/Switzerland_M... http://www.channel4.com/science/microsites/S/scien... http://my.core.com/~jcnash/sherlock_graphic.html http://writer.dek-d.com/zeezayuiwoy/story/viewlong... http://www.henryzecher.com/sherlock_holmes.htm