การเมือง ของ เตียง_ศิริขันธ์

ก่อนเข้าร่วมเสรีไทยสายอีสาน

เดิมเขาเป็นบุคคลสำคัญจากขบวนการต่อสู้ทางการเมืองลาวในนาม "ลาวเสรีชน" จากนั้นได้แนะให้ไทยตั้งขบวนการ "เสรีไทย" ขึ้นตามแนวทางการต่อสู้ของขบวนการลาวเสรีชน แล้วมอบหมายให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้บัญชาการ ต่อมา พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1947) เขาถูกเชิญตัวเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเจรจาเรื่องเอกราชลาวแต่ถูกสังหารก่อน การเจรจาจึงไม่สำเร็จ[11]

สมาชิกเสรีไทย

นายเตียง ศิริขันธ์ (คนกลาง) ในเครื่องแบบเสรีไทย กับนายทหารสัมพันธมิตร

เมื่อปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น เขาขณะอายุ 34 ปี เข้าร่วมขบวนการเป็นรุ่นแรกพร้อมจำกัด พลางกูร โดยรับภาระจัดตั้งเสรีไทยภาคอีสานแห่งแรกที่บ้านเกิดคือจังหวัดสกลนคร ปรีดี พนมยงค์ ส่งจำกัด พลางกูร เป็นผู้แทนขบวนการไปติดต่อกับจีน ณ เมืองจุงกิง[12] เดินทางจากไทยผ่านภาคอีสาน เขาอำนวยความสะดวกโดยรอรับที่จังหวัดขอนแก่นและไปส่งที่จังหวัดนครพนมเพื่อข้ามน้ำโขงไปฝั่งลาวตัดเข้าเวียดนามต่อไปจีน ก่อนแยกทางได้รวบรวมทรัพย์สิน แหวน กำไล ของภรรยามอบติดตัวเพื่อใช้ยามขาดแคลน นับว่าฐานที่มั่นเสรีไทยภาคอีสานขณะนั้นมีคนในพื้นที่เข้าร่วมจำนวนมาก วิสุทธิ์ บุษยกุล ระบุว่า "...แต่ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยกำลังรบภาคอีสานต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ครูเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ ทุกหน่วยที่นักการเมืองเหล่านี้ จัดตั้งขึ้นล้วนแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุณครูเตียง ซึ่งจะติดต่อรับทราบนโยบายใหญ่จากท่านปรีดีอีกทีหนึ่ง..."[13]

ผลงานวิชาการ

เขามีผลงานเขียนหนังสือชุดเพื่อนครูร่วมกับสหัส กาญจนพังคะ 5 เล่ม ได้แก่ หลักการศึกษา ประวัติการศึกษา จิตวิทยา การสอนวิชาเฉพาะ และนักการศึกษา นอกจากนี้ยังแปลหนังสือ "เอมิล" (Emile, Or Treatise on Educationของ) ของ ฌ็อง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau)[14] และแต่งหนังสือทางการเมืองเรื่อง "หัวใจปฏิวัติในฝรั่งเศส" ร่วมกับจำรัส สุขุมวัฒนะ โดยระบุว่า "เรื่องปฏิวัติในฝรั่งเศสนี้ชาวอารยประเทศถือว่าผู้ที่ได้รับการศึกษารักชาติเอาใจใส่ในชาติควรจะได้รู้ละเอียด เพื่อจะได้ซาบซึ้งในหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยพิจารณาในปรัชญาจากเรื่องนี้จริง ๆ"

การศาสนา

พ.ศ. 2489 เขาขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครพร้อมด้วยพระวิมลเมธี เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร นายเติม ศิลปี ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และพระสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ประชุมพร้อมกันเป็นเอกฉันท์เพื่อสร้างพระวิหารวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารขึ้นใหม่เนื่องจากหลังเก่าทรุดโทรม กรมศิลปากรเขียนแบบแปลนพระวิหารสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2497 เบื้องต้นใช้เงินวัด 13,516 บาทจัดซื้อศิลาแลง 4,516 ก้อน ขณะเดียวกันทางการได้บอกบุญตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสกลนครได้เงินบริจาค 40,000 บาทเศษ คณะกรรมการจัดสรรเงินบริจาคให้เขาจัดจ้างทำอิฐ 300,000 ก้อน สิ้นเงิน 14,421 บาท ทางวัดแบ่งอิฐไปสร้างกำแพงวัดเกือบครึ่งหนึ่งแต่ยังไม่ได้ก่อสร้างพระวิหาร ส่วนเงินบริจาคที่เหลือทางจังหวัดเก็บรักษาไว้ 27,000 บาทเศษ[15]

ขัดแย้งกับรัฐบาลและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พ.ศ. 2487 เขาและคณะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับหลวงพิบูลสงครามหรือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเปิดเผย โดยท่านและเพื่อนสมาชิกสภาในภาคอีสานร่วมออกเสียงไม่รับร่างกฎหมายรัฐบาลติดกัน 2 ฉบับในเดือนกรกฎาคม หลวงพิบูลสงครามจำใจลาออกจากนายกรัฐมนตรี ชัยชนะทางการเมืองในรัฐสภาครั้งนี้เกิดจากการอภิปรายคัดค้านรัฐบาลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธศักราช 2487 และร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑลในบริเวณรอบพระพุทธบาท พุทธศักราช 2487 ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตทางการเมืองของท่านรุ่งเรืองอย่างมากเมื่อทวี บุณยเกตุ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับจากสหรัฐอเมริกามาดำรงตำแหน่ง เขาและผู้นำเสรีไทยสายอีสานเข้าร่วมรัฐบาลโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย) ครั้งแรก แม้รัฐบาลมีอายุสั้นแต่ได้เป็นรัฐมนตรีต่อมาในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2489 เมื่อรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจากการลงเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 หลังว่างเว้นจากการเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ และรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ถึง 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจึงกลับเข้าเป็นรัฐมนตรี (ลอย) อีกครั้งจนถึง 10 เมษายน พ.ศ. 2490 แล้วลาออกไปเป็นตัวแทนการเจรจาประนีประนอมระหว่างไทย-ฝรั่งเศสเนื่องจากสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ต่อมารัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกโค่นอำนาจจากคณะรัฐประหารในขณะที่เขาอยู่นอกรัฐบาล วิสุทธิ์ บุษยกุล ระบุว่า "...หลังจากเกิดรัฐประหารไม่กี่วัน ครูก็ออกจากบ้านราชวิทย์ บอกว่าจะไปตั้งหลักอยู่สกลนคร.....ครูออกป่าไปหลายเดือน แล้วได้กลับมา..."[16][17]