ปฏิบัติการทางทหาร ของ เนโท

สมาชิกเนโท

ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มเนโท (Major Non-NATO Ally – MNNA)

ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา สถานะ "ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มเนโท" มี 2 ประเภท คือ สถานะที่ 1 เป็นการให้ตาม title 10 หมวดที่ 2350 (a) ของ U.S. code (แก้ไขโดย Nunn Amendment ปี 2530) และสถานะที่ 2 เป็นการให้ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ปี 2541 (ตามที่ได้มีการแก้ไขโดย title 22 หมวดที่ 2321 (k) ของ U.S. Code) หมวดที่ 571

1.) สถานะ MNNA ตาม title 10 หมวดที่ 2350 (a)

กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการให้สถานะ “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มเนโท” ด้วยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการ กำหนดสถานะ "ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มเนโท" โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA สามารถเข้าร่วมในโครงการวิจัยและการพัฒนาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA ประเภทนี้มี 11 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี (2530) จอร์แดน (2539) อาร์เจนติน่า (2541) นิวซีแลนด์ บาห์เรน (2545) ฟิลิปปินส์และไทย (2546)

ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA ประเภทนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

• บริษัทของประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA สามารถเข้าร่วมการประมูลสัญญาการซ่อมบำรุง การซ่อมแซม หรือการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในบางโครงการนอกผืนแผ่นดินสหรัฐฯ

• ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA จะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกับสหรัฐฯ บางโครงการ

• กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถเข้าร่วมโครงการร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในการป้องกันประเทศของประเทศที่ได้รับสถานะ โดยรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายร่วมกันอย่างเป็นธรรม

2.) สถานะ MNNA ตามหมวดที่ 517 ของกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ พ.ศ. 2504 ฉบับแก้ไข

กฎหมายให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการให้สถานะ MNNA แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้หลังจากที่ได้แจ้งต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วย การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกอาวุธ การให้สถานะ MNNA ตามกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปี 2539 โดยเริ่มแรกมีประเทศที่ได้รับสถานะ คือ ออสเตรเลีย อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และนิวซีแลนด์ ต่อมาได้มีการให้สถานะ MNNA เพิ่มเติมแก่ จอร์แดน (2539) อาร์เจนตินา (2541) บาห์เรน (2545) ฟิลิปปินส์ และไทย (2546) รวมทั้งหมด 11 ประเทศ

ประเทศที่ได้รับ MNNA ประเภทที่ 2 จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

• สำหรับประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA ที่อยู่ด้านทิศใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกลุ่มเนโทจะได้รับสิทธิ์ได้รับอุปกรณ์ทางทหารส่วนเกินจากสหรัฐฯ เป็นลำดับแรก

• สิทธิ์ในการซื้อกระสุนที่ทำจากกากยูเรเนียมและสิทธิ์ได้รับคลังอาวุธยุทโธปกรณ์สำรองของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศของตนนอกค่ายทหารสหรัฐฯ

• สิทธิ์ในการทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดการฝึกในแบบทวิภาคีหรือ พหุภาคีโดยใช้ระบบการใช้จ่ายต่างตอบแทนที่อาจยกเว้นการใช้คืนค่าใช้จ่ายทางอ้อม และค่าธรรมเนียมต่างๆ เฉพาะรายการ

• สิทธิ์ในการเช่าอุปกรณ์ทางทหารบางอย่างเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ตาม โครงการการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินทางทหารแก่รัฐบาลต่างประเทศของสหรัฐฯ

• สิทธิ์ในการขอยืมวัสดุ อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกันและสำหรับการทดสอบและประเมินผล

• สิทธิ์ในการขอให้มีการพิจารณาได้รับใบอนุญาตส่งออกดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงเทคโนโลยี ส่วนประกอบและระบบของดาวเทียมนั้นๆ โดยเร่งด่วน

การให้สถานะ MNNA ประเภทที่ 2 นี้ อาจถูกยกเลิกได้โดยดุลพินิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งต้องแจ้งรัฐสภาล่วงหน้า 30 วัน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการยกเลิกการให้สถานะ MNNA ประเภทนี้ และไม่มีหลักเกณฑ์ในการยกเลิกสถานะดังกล่าว