เบร็กซิต

บทความนี้ใช้ระบบคริสต์ศักราช เพราะอ้างอิงคริสต์ศักราชและคริสต์ศตวรรษ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งเบร็กซิต (อังกฤษ: Brexit) หมายถึง การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่กำลังเกิดขึ้น โดยเกิดหลังการลงประชามติวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ซึ่งผู้ออกเสียงลงคะแนนร้อยละ 51.9 ออกเสียงสนับสนุนการถอนตัว รัฐบาลใช้ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป เป็นการเริ่มกระบวนการสองปีซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดด้วยการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรในวันที่ 29 มีนาคม 2019 เส้นตายนั้นมีการต่อเวลาเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019[1]นักกังขาคติยุโรป (Eurosceptic) ซึ่งมีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา สนับสนุนการถอนตัว ส่วนผู้นิยมยุโรป หรือนักสหภาพยุโรป ซึ่งมีทั้งสองฝ่ายของสเปกตรัมการเมืองเช่นกัน สนับสนุนให้เป็นสมาชิกต่อ สหราชอาณาจักรเข้าร่วมประชาคมยุโรป (EC) ในปี 1973 ภายใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเอ็ดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath) โดยมีการลงประชามติในปี 1975 สนับสนุนให้คงเป็นสมาชิกต่อ ในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 ฝ่ายซ้ายทางการเมืองเป็นผู้สนับสนุนหลักของการถอนตัวออกจากประชาคมยุโรป โดยคำแถลงนโยบายทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 1983 ของพรรคแรงงานสนับสนุนให้ถอนตัวอย่างสมบูรณ์ ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ฝ่ายขวาเริ่มต่อต้านการพัฒนา EC เป็นสหภาพที่เป็นการเมืองเพิ่มขึ้น โดยมาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งแม้เป็นผู้สนับสนุนหลักของตลาดเดียวยุโรป เริ่มสองจิตสองใจต่อยุโรปเพิ่มขึ้น นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 การคัดค้านบูรณาการยุโรปมาจากฝ่ายขวาเป็นหลัก และการแตกแยกภายในพรรคอนุรักษนิยมนำไปสู่การกบฏในเรื่องสนธิสัญญามาสทริชท์ในปี 1992พรรคเอกราชยูเค (UKIP) ที่เพิ่งตั้งใหม่เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของการลงประชามติว่าด้วยการดำรงสมาชิกภาพขององค์การที่ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป และความนิยมในพรรคที่เพิ่มขึ้นในต้นคริสต์ทศวรรษ 2010 ทำให้ UKIP เป็นพรรคการเมืองสหราชอาณาจักรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปปี 2014 นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยม เดวิด แคเมอรอน ให้คำมั่นระหว่างการรณรงค์การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรปี 2015 ว่าจะจัดการลงประชามติใหม่ ซึ่งเขาจัดให้มีขึ้นในปี 2016 หลังแรงกดดันจากปีกกังขาคติยุโรปในพรรคของเขา แคเมอรอนผู้รณรงค์อยู่ฝ่ายให้อยู่ต่อ ลาออกหลังผลประชามติ เทรีซา เมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลแคเมอรอน สืบตำแหน่ง เธอจัดการเลือกตั้งทั่วไปกะทันหันไม่ถึงปีให้หลัง ซึ่งเธอเสียฝ่ายข้างมากโดยรวม รัฐบาลเสียงข้างน้อยของเมย์มีพรรคสหภาพประชาธิปไตยสนับสนุนในการออกเสียงสำคัญวันที่ 29 มีนาคม 2017 รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้ข้อ 50 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ตามเวลาสหราชอาณาจักร เมื่อระยะเวลาเจรจาความตกลงถอนตัวหมดลงเว้นแต่มีการตกลงขยายเวลา เมย์ประกาศเจตนาของรัฐบาลว่าจะไม่แสวงสมาชิกภาพถาวรของตลาดเดียวยุโรปหรือสหภาพศุลกากรอียูหลังออกจากสหภาพยุโรป และให้คำมั่นว่าจะบอกเลิกพระราชบัญญัติประชาคมยุโรปปี 1972 และรับกฎหมายสหภาพยุโรปที่มีอยู่เป็นกฎหมายในประเทศของสหราชอาณาจักร มีการตั้งกระทรวงใหม่คือ กระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป ในเดือนกรกฎาคม 2016 การเจรจากับสหภาพยุโรปเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2017 โดยมุ่งให้ความตกลงถอนตัวเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคม 2018 ในเดือนมิถุนายน 2018 สองฝ่ายจัดพิมพ์รายงานความคืบหน้าร่วมที่วางเค้าโครงความตกลงในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งพิกัดศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มและยูราตอม ในเดือนกรกฎาคม 2018 คณะรัฐมนตรีบริเตนตกลงรับแผนเชกเกอส์ (Chequers plan) ซึ่งเป็นเค้าโครงข้อเสนอของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2018 มีการจัดพิมพ์ความตกลงถอนตัวฉบับร่างและปฏิญญาการเมืองฉบับเค้าโครง ซึ่งตกลงกันระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ในวันที่ 15 มกราคม 2019 สภาสามัญชนออกเสียง 432 ต่อ 202 คัดค้านข้อเสนอนี้ นับเป็นความปราชัยในรัฐสภาครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรมีความเห็นพ้องอย่างกว้างขวางในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่าเบร็กซิตน่าจะลดรายได้จริงต่อหัวของสหราชอาณาจักรในระยะกลางและระยะยาว และว่าการลงประชามติเบร็กซิตก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การศึกษาต่อผลลัพธ์นับแต่การลงประชามติแสดงว่าครัวเรือนสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยเสียรายได้ 404 ปอนด์ต่อปีอันเนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และจีดีพีของประเทศลดลงระหว่างร้อยละ 2 ถึง 2.5 เบร็กซิตน่าจะลดการเข้าเมืองจากประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และสร้างอุปสรรคต่ออุดมศึกษาและการวิจัยทางวิชาการของสหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ขนาดของ "ร่างกฎหมายหย่าร้าง" การรับความตกลงการค้าอียูที่มีอยู่ของสหราชอาณาจักร และความสัมพันธ์กับไอร์แลนด์และรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นยังไม่แน่นอน ผลกระทบที่แน่ชัดต่อสหราชอาณาจักรขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการจะเป็นเบร็กซิต "แข็ง" หรือ "อ่อน" บทวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรพบว่าเบร็กซิตทุกรูปแบบจะไม่ส่งเสริมภาวะทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร โดยสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของกระทรวงการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่าด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของข้อเสนอเชกเกอส์คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเลวลงร้อยละ 3.9 ในเวลา 15 ปีเมื่อเทียบกับการอยู่ในอียู

แหล่งที่มา

WikiPedia: เบร็กซิต http://derstandard.at/2000046722023/Juncker-warnt-... http://edition.cnn.com/2017/09/21/europe/uk-may-br... http://eureferendum.com/documents/1975referendum1.... http://quotes.euronews.com/topic/brexit http://www.newstatesman.com/politics/staggers/2017... http://www.theguardian.com/world/video/2016/jan/05... http://www.thehindu.com/todays-paper/tp-internatio... http://www.zeit.de/news/2017-06/23/eu-merkel-lobt-... http://europa.eu/rapid/press-release_IP-18-6851_en... http://data.consilium.europa.eu/doc/document/XT-21...