ประวัติ ของ เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค

ยุคจักรวรรดิเยอรมนี

การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสหรือประมวลกฎหมายนโปเลียน (ฝรั่งเศส: Code Napoléon) เมื่อ ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347) ส่งอิทธิพลมายังประเทศเยอรมนีครั้งที่ยังเป็นสมาพันธรัฐให้จัดทำประมวลกฎหมายแพ่งดุจกัน อันจะเป็นการจัดระบบและรวบรวมกฎหมายที่ต่างแบบกันทั้งหลายซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่หนทางไปสู่ความฝันครั้งนี้ของประเทศเยอรมนียังขรุขระนัก เนื่องเพราะช่วงนั้นยังไม่มีองค์กรนิติบัญญัติที่เหมาะสม กับทั้งได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์เยอรมันที่นำโดย ฟรีดริช คาร์ล ฟอน ซาวิจนือ (เยอรมัน: Friedrich Carl von Savigny)

กระนั้น ใน ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414) รัฐต่าง ๆ ในประเทศเยอรมันร่วมกันนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบจักรวรรดิ ซึ่งในช่วงแรกรัฐต่าง ๆ ยังบริหารอำนาจนิติบัญญัติอย่างเอกเทศ กระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นทำหน้าที่องค์กรกลางในการนิติบัญญัติ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการหลายคณะเพื่อร่างกฎหมาย เพื่อใช้เป็นรากฐานในการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งใช้บังคับตลอดจักรวรรดิแทนที่กฎหมายที่ใช้บังคับเฉพาะถิ่นอย่างเดิม

ประมวลกฎหมายแพ่งฉบับแรกร่างเสร็จใน ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) แต่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบอย่างท่วมท้น คณะกรรมการชุดใหม่จึงได้รับการแต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิยี่สิบสองคนจากหลายสาขา อาทิ ผู้แทนนักนิติศาสตร์ ผู้แทนนักเศรษฐศาสตร์ และผู้แทนนักปรัชญา ทำหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ ได้แก่ "เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค" นี้ ซึ่งต่อมาผ่านการพิจารณาสำคัญหลายครั้งกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเยอรมนีลงมติรับรองให้ใช้เป็นกฎหมายได้ใน ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ตราบวันนี้

ยุคนาซี

ในยุคนาซี รัฐบาลนาซีมีแผนการจะยกเลิกเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคทั้งหมด แล้วประกาศใช้ประมวลกฎหมายใหม่ที่ตั้งใจจะให้เรียก "โฟคส์เกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Volksgesetzbuch) หรือ "ประมวลกฎหมายแห่งปวงชน" แทนที่ โดยประมวลกฎหมายใหม่ที่จัดทำขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับอุดมคติของรัฐบาลนาซี มากกว่าเจตนารมณ์แบบเสรีนิยมของเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค แต่แผนการครั้งนี้มิเคยกลายเป็นจริง

ยุคตั้งแต่ ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีแบ่งออกเป็นสองฟาก ฟากตะวันตกยึดถือระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ส่วนฟากตะวันออกยึดถือระบอบสังคมนิยม กระนั้น เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคยังคงทำหน้าที่เป็นกฎหมายแพ่งของทั้งสองฟากอยู่ กระทั่งฟากตะวันออกค่อย ๆ ประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่ละอย่างสองอย่างเพื่อแทนที่เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค โดยเริ่มประกาศใช้ประมวลกฎหมายครอบครัวก่อนใน ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) และกฎหมายอื่น ๆ จนสิ้นสุดลงที่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ทั้งฉบับใน ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) เรียก "ซีวิลเกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Zivilgesetzbuch) และรัฐบัญญัติว่าด้วยสัญญา ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) แต่ฟากตะวันตกนั้นยังใช้เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคอยู่ กระทั่งมีการสร้างเอกภาพใหม่ในเยอรมนีเพื่อรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวเมื่อ ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคจึงกลับมีผลใช้บังคับทั่วประเทศเยอรมนีอีกครั้ง

ในฟากตะวันตกตลอดมาจนเมื่อสร้างเอกภาพใหม่ในเยอรมนี เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาหลายครานับแต่ประกาศใช้เป็นครั้งแรกมา ครั้งสำคัญได้แก่ใน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ที่มีการชำระขนานใหญ่ซึ่งบรรพ 3 อันว่าด้วยหนี้ ส่งผลให้แนวทางของศาลในการปรับใช้และตีความกฎหมายแพ่งต้องพัฒนาเป็นการใหญ่ไปด้วย

เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคยังคงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของระบบซีวิลลอว์ในประเทศเยอรมนี มีอิทธิพลเหนือกฎเกณฑ์หลัก ๆ ที่ตราขึ้นต่อ ๆ มา แม้ปัจจุบัน ดังนั้น ในประมวลกฎหมายพาณิชย์เยอรมันจึงเป็นแต่กฎเกณฑ์พิเศษที่กำหนดขึ้นมาควบคุมห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อประกอบกฎเกณฑ์ทั่วไปที่มีแล้วในเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค

ระบบควบคุมสังคมตามเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคเป็นแนวความคิดอันเป็นแบบอย่างทางนิติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) เมื่อแรกประกาศใช้ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ว่าไม่ได้คำนึงถึงการกำหนดให้ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่อสังคม นักนิติศาสตร์ก็ช่วยกันปรับปรุงระบบดังกล่าวเรื่อยมาเพื่อให้ใช้การได้ดีที่สุด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยอิทธิพลของกฎหมายแห่งสหภาพยุโรปอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคก็ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างมากเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศนี้ ทั้งนี้ นักนิติศาสตร์มองว่าการปรับปรุงเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค เป็นไปเพื่อยังให้เกิดผลจริงซึ่งการทำให้กฎหมายว่าด้วยหนี้เกิดความทันสมัยขึ้นตามแนวความคิดสมัยใหม่ใน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)