การขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดา ของ เฟินชายผ้าสีดา

การขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดาทำได้ 3 วิธีคือ แยกหน่อ เพาะสปอร์ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สำหรับการปลูกเลี้ยงในประเทศไทยนิยมใช้เพียง 2 วิธีแรก ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งการผลิตเฟินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีช่องทางการตลาดกว้างมาก

1. การแยกหน่อ

เฟินชายผ้าสีดาสายพันธุ์ต่างประเทศหลายชนิดแตกหน่อจากตาที่ปลายรากได้ สามารถแยกหน่อมาปลูกโดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เลือกหน่อที่เหมาะสมกับการแยกปลูกควรมีขนาดใหญ่กว่า 3 นิ้ว ถ้าหน่อใหม่เริ่มผลิใบชายผ้าจะช่วยให้แข็งแรงมากขึ้น
  2. ใช้มีดหรือกรรไกรที่คมและสะอาดเฉือนหน่อออกมาอย่างระมัดระวัง
  3. ต้องเฉือนให้ลึกถึงราก ถ้าเฉือนตื้นเกินไปอาจได้แต่ชั้นของใบกาบซึ่งไม่สามารถเจริญต่อไปได้
  4. หากปลูกแบบแขวน ให้นำต้นมาประกบกับซากกระเช้าขนาดพอเหมาะ และใช้วัสดุที่เหนียวทนมัดให้แน่นแล้วมัดติดกับวัสดุเมานท์อีกทีหนึ่ง
  5. หากปลูกในกระถาง ใช้สแฟกนัมมอสส์เป็นวัสดุปลูกจะเก็บความชื้นได้ดี ช่วยให้รากเจริญเร็ว อาจใช้โฟมหรือกาบมะพร้าวสับรองก้นกระถางเพื่อลดการอุ้มน้ำ
  6. สำหรับต้นแม่หากรอยตัดไม่ใหญ่มาก ไม่นานเฟินจะสร้างใบกาบคลุมทับปิดรอยเองหรืออาจใช้วัสดุปลูกเสริมแทนส่วนที่เฉือนออกไปก็ได้ โดยตัดแต่งซากกระเช้าให้มีขนาดพอดีกับรอยเฉือนแล้วมัดด้วยลวดหุ้มพลาสติกหรืออาจใช้ไม้เสียบเพื่อยึดติดกันให้แน่นแทนการใช้ลวดมัด

หลังปลูกควรใช้โฮร์โมนเร่งรากหรือสารกระตุ้นผสมน้ำรดให้ชุ่ม เพื่อกระตุ้นให้เฟินแตกรากใหม่และฟื้นตัวเร็วขึ้น อาจใช้สารป้องกันโรครดทั้งหน่อและต้นเพื่อนรดการติดเชื้อบริเวณรอยตัด พร้อมเขียนป้ายชื่อเฟินติดไว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะเฟินพันธุ์ปลูกที่มีความคล้ายคลึงกัน จากนั้นนำไปวางหรือแขวนในที่ร่มรำไร ค่อยระวังอย่าให้วัสดุปลูกแห้งเมื่อเริ่มผลิใบใหม่แล้วจึงค่อยย้ายไปรับแสงแดดมากขึ้น

2. การเพาะสปอร์

การขยายพันธุ์เฟินด้วยสปอร์ได้ผลผลิตมากกว่าการแตกหน่อเหมาะที่จะทำเป็นการค้า นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ลูกไม้ที่มีลักษณะแปรผันหรือกลายพันธุ์ค่อนข้างง่าย แถบอับสปอร์ของเฟินชายผ้าสีดามีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่แตกต่างอย่างเด่นชัดจากเฟินชนิดอื่น ๆ ปกคลุมด้วยขนรูปดาวจำนวนมาก เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออก ปลดปล่อยสปอร์ให้ล่องลอยไปในอากาศ วัตถุลักษณะเป็นขุยสีน้ำตาล คือเยื่อหุ้มอับสปอร์ที่หลุดออกมาพร้อมกัน ส่วนสปอร์ที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีน้ำตาลเข้ม (ยกเว้น P.Wallichii ที่สปอร์เป็นสีเขียว) หากคัดแยกออกจะพบว่าสปอร์มีปริมาณน้อยกว่าเยื่อที่เป็นขุย