ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ เฟินชายผ้าสีดา

เฟินชายผ้าสีดาเป็นเฟินอิงอาศัย (Epiphytes) มักเกาะอยู่ตามคาคบไม้ใหญ่ แต่ไม่จัดเป็นพืชจำพวกกาฝาก เพราะไม่ได้ดูดกินอาหารจากต้นไม้ที่อาศัยอยู่ ส่วนมากมีแหล่งกำเนิดอยู่ในป่า แต่บางชนิดก็อาจพบได้ในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น P. veitchii บางต้นที่ขึ้นอยู่ตามหน้าผาหินร้อนระอุในเขตกึ่งทะเลทรายของทวีปออสเตรเลีย ซึ่งฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือนเฟินชายผ้าสีดามีส่วนประกอบ ดังนี้

ตา (Bud)

ปกคลุมด้วยขนหรือเกล็ด เป็นส่วนที่ทำให้พืชเจริญเติบโตหากตาถูกทำลายไม่ว่าโดยเชื้อโรค แมลงหรืออุบัติเหตุ เฟินชายผ้าสีดาต้นนั้นก็จะตายและอาจใช้เวลานานกว่าส่วนต่าง ๆ ของต้นจะเหี่ยวแห้งไปหมด แต่หากเป็นชนิดที่แตกหน่อได้และมีหน่อใหม่แล้ว หน่ออื่น ๆ จะสามารถเจริญต่อไปได้

เหง้า (Rhizome)

ตาที่เจริญขึ้นจะค่อย ๆ งอกยาวเป็นลำต้นหรือเหง้าที่ห่อหุ้มอยู่ภายในใบกาบ เหง้าของเฟินชายผ้าสีดาชนิดที่ไม่สามารถแตกหน่อใหม่ได้จะมีความสำคัญต่อพืชมาก ตัวอย่างเช่น P.ridleyi หรือเขากวางตั้งจากป่า เป็นเฟินที่เลี้ยงให้รอดยาก ทั้งนี้อาจเพราะเหง้าหักอยู่ในใบกาบระหว่างการเก็บหรือการขนย้าย ทำให้พืชค่อย ๆ ตายอย่างช้า ๆ

ใบกาบหรือใบโล่ (Shield Fronds, Base Fronds)

เจริญจากตาแผ่หุ้มเหง้าและรากซึ่งยึดเกาะอยู่กับแหล่งอาศัย ใบกาบที่เกิดขึ้นใหม่จะซ้อนทับใบเก่าไปเรื่อย ๆ จนเป็นชั้นหนา ช่วยควบคุมความชุ่มชื้น ปกป้องเหง้าและรากไว้ภายใน ใบกาบของเฟินชายผ้าสีดาแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ กลุ่มที่ปลายใบห่อแนบหุ้มต้นจนมิด ได้แก่ P.alcicorne, P.ellisii, P.madagascariense และ P.ridleyi ใบกาบช่วยป้องกันไม่ให้พืชที่อยู่ในแหล่งกำเนิดที่มีฝนตกชุกได้รับน้ำมากเกินไป

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งปลายใบจะเผยอตั้งขึ้นเพื่อรองรับน้ำฝนและเศษซากใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาทับถมเป็นอาหาร ได้แก่ P.andinum, P.bifurcatum, P.coronarium, P.elephantotis, P.grande, P.holttumii, P.quadridichotomum, P.stemaria, P.suprebum, P.veitchii, P.wallichii, P.wandae และ P.willinckii

เฟินชายผ้าสีดาในธรรมชาติมักเริ่มผลิใบกาบใหม่ซ้อนทับใบกาบเดิมตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน บางชนิดเมื่อใบกาบเจริญเต็มที่จะหมดอายุกลายเป็นสีน้ำตาลแนบติดอยู่กับต้นไม่หลุดร่วงไป แต่สำหรับกลุ่มเฟินชายผ้าสีดาต้นเดี่ยว ส่วนมากใบกาบจะมีอายุนานเป็นสีเขียวอยู่จนกระทั่งผลิใบกาบใหม่ออกมาอีกครั้ง

ใบชายผ้า (Fertile Fronds, Foliage Fronds)

เจริญจากตาในลักษณะตั้งขึ้นหรือห้อยย้อยลงมา ส่วนมากปลายใบชายผ้าจะหยักเว้าลักษณะต่าง ๆ กัน ยกเว้น P.elephantotis (หูช้างแอฟริกา) ที่ปลายใบแผ่กว้างโค้งมนจนเป็นที่มาของชื่อ ใบชายผ้าของต้นที่เจริญเต็มที่จะสร้างแถบอับสปอร์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ทั้งใบกาบและใบชายผ้าของเฟินชายผ้าสีดาปกคลุมด้วยขนรูปดาวสีขาว บางครั้งแซมสีน้ำตาล เห็นได้ชัดเจนเมื่อเป็นใบอ่อน บางชนิดเมื่อเจริญขึ้นขนจะบางลงจนดูผิวใบเรียบเป็นมัน บางชนิดก็มีขนหนาปกคลุมผิวใบตลอดช่วงอายุ

ราก (Roots)

แตกแขนงออกจากเหง้า แทรกอยู่ในใบกาบที่ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ เฟินชายผ้าสีดาพันธุ์ต่างประเทศหลายชนิดสามารถแตกหน่อใหม่จากตาที่รากได้ คือ P.bifurcatum แต่มี 2 ชนิด คือ P.madagascariense และ P.ellisii ที่แตกรากน้อยและกระจุกอยู่บริเวณรอบ ๆ เหง้า ไม่แผ่คลุมสลับกับใบกาบจนเป็นชั้นหนาเหมือนฟองน้ำ เช่นเดียวกับชนิดอื่น ๆ ทำให้เก็บน้ำไว้ได้ไม่มาก

เฟินชายผ้าสีดาสปีชีส์ Platycerium superbum