ประวัติ ของ เมืองสวางคบุรี

ชื่อเมืองสวางคบุรี

ตั้งแต่อดีต มีการเรียกชื่อเมืองสวางคบุรีในหลากหลายชื่อ เช่น เมืองฝาง เมืองพระฝาง หรือเมืองสวางคบุรี เป็นต้น[11] ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหลักฐานทั้งศิลาจารึกและพระราชพงศาวดาร ดังนี้

เมืองฝาง

เมืองฝาง เป็นชื่อที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยสองหลัก ได้แก่ จารึกสุโขทัยหลักที่ 3 จารึกนครชุม และจารึกสุโขทัยหลักที่ 11 จารึกวัดเขากบ สำหรับที่มาของชื่อเมืองฝาง มีความเห็นต่างกันเป็นสองแนวคิด คือ

แนวคิดแรกเชื่อว่ามีที่มาจากสภาพที่ตั้งเมืองเป็นเมืองด่านสำหรับขวางข้าศึก จึงมีชื่อเมืองว่า “เมืองขวาง” ซึ่งมาจากคำว่า “ฉวาง” ในภาษาเขมรหมายความว่า “ขวาง”[12]

ส่วนแนวคิดที่สองสันนิษฐานว่ามาจากชื่อต้นฝาง มีที่มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้นำไปต้มออกสีแดงคล้ำสำหรับย้อมผ้า ในสมัยอยุธยาเป็นที่ต้องการของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เป็นสินค้าที่ทำรายได้มาสู่ท้องพระคลังอย่างสม่ำเสมอ เมืองสวางคบุรีในสมัยโบราณจึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงอีกอย่างหนึ่งด้วย[13] ซึ่งเดิมทีบริเวณแห่งนี้มีต้นฝางขึ้นอยู่มาก ในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงชื่อของเมืองฝางว่า “...สำหรับเมืองฝางนั้น โดยที่ฝางเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อว่าใช้ในการย้อมสี ที่ชาวปอรตุเกศเรียกว่า ซาปัน ลางคนก็แปลว่า เมืองป่าฝาง...” [14] สำหรับแนวคิดที่สองนี้ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน[15]

เมืองสวางคบุรี

เมืองสวางคบุรี ชื่อนี้ปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลายสืบเนื่องมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจาก “สว่างบุรี” แปลว่า เมืองสว่าง หมายความว่าเป็นเมืองที่ได้รับความสว่างจากพระพุทธศาสนา ต่อมาได้กลายเป็น “เมืองสวางคบุรี” โดยไม้เอกหายไปมีตัว ค เข้ามาแทน [16] ส่วนในเอกสารประกาศเทวดาบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 4 พบการเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองฉวาง” [17] ซึ่งน่าจะเกิดจากการรับรู้เกี่ยวกับการออกเสียงที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดการเขียนพยัญชนะต่างกันตามไปด้วย[18]

ถึงแม้ว่าในระยะหลังจะมีการเรียกเมืองฝางว่าเมืองสวางคบุรี แต่ชื่อเมืองฝางก็ยังมีการใช้เรียกปะปนกับชื่อสวางคบุรีมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [19] และตำนานพื้นเมืองน่าน [20] หรือแม้แต่ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเรียกว่า “เมืองฝาง” [21] แสดงให้เห็นว่าชื่อเมืองฝางจะเป็นที่รับรู้ของผู้คนโดยทั่วไปมากกว่าชื่อสวางคบุรี ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่มีการตั้งชื่อขึ้นใหม่โดยราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยาในภายหลัง[22]