ขอบเขตที่ตั้งเมืองสวางคบุรีโบราณ ของ เมืองสวางคบุรี

เมืองสวางคบุรี มีใจกลางอยู่ในเขตบ้านพระฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมฝั่งทางด้านใต้ของลำน้ำน่าน

ศูนย์กลางเมือง

ศิลาจารึกวัดพระฝางอักษรไทยโบราณสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าเป็นจารึกที่กล่าวถึงในจารึกนครชุม ว่าพญาลิไทโปรดให้สร้างขึ้น (เป็นศิลาจารึกโบราณที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันยังไม่ได้มีการอ่านและแปลความ)

ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าขนานไปกับลำน้ำ ปัจจุบันร่องรอยของแนวคันดินเหลือให้เห็นบางตอนทางด้านใต้เท่านั้น บริเวณส่วนหนึ่งของเมืองถูกน้ำเซาะทลายลง สิ่งที่เหลือเป็นหลักฐานสำคัญก็คือ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ มีวิหารหลวงและพระประธาน รวมทั้งโบสถ์ขนาดเล็ก[23] จากลักษณะผังเมืองและโบราณวัตถุสถานที่พบแสดงให้เห็นว่า เมืองสวางคบุรีน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ขอบเขตด้านตะวันออก

บริเวณเมืองสวางคบุรี ริมแม่น้ำน่าน เป็นจุดที่เรือสินค้าขนาดใหญ่จากทางใต้สามารถเดินทางมาจอดเทียบเรือเป็นจุดเหนือสุดในเส้นทางแม่น้ำน่านตอนล่าง เนื่องจากเหนือตัวเมืองสวางคบุรีโดยแม่น้ำน่านขึ้นไปเล็กน้อย เป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ด่านคุ้งยาง” คุ้งยางเป็นคุ้งน้ำในแม่น้ำน่านที่มีต้นยางขึ้นอยู่มาก ใต้คุ้งยางลงมาก็มีแก่งและโขดหินขนาดใหญ่ขวางกระแสน้ำน่านอยู่ ในหน้าแล้งสามารถเดินข้ามแม่น้ำไปได้

หลักประโคน เขตแดนสยาม-น่าน บ้านผาเต่า อ.ท่าปลา หมุดหมายเหนือสุดของเมืองสวางคบุรี และอาณาจักรอยุธยาโบราณ

ในขณะเดียวกันบริเวณนั้นก็เป็นที่ตั้งด่านของเมืองสวางคบุรี ซึ่งมีฐานะเป็นด่านชายแดนพระราชอาณาจักรของกรุงศรีอยุธยาที่ติดต่อกับเมืองน่านด้วย บริเวณดังกล่าวจึงมีชุมชนชื่อว่า “บ้านด่าน” และปรากฏชื่อบ้านด่านนี้ในแผนที่โบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย [24]

เหนือจากด่านคุ้งยางไปตามแม่น้ำน่านราว 10 กิโลเมตรบริเวณตำบลแสนตอ ด้านใต้ของบ้านผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นบริเวณหลักเขตแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองน่าน ปรากฏในแผนที่โบราณว่า “หลักประโคน”[25] ซึ่งหมายถึง เสาใหญ่ปักหมายเขตแดนระหว่างประเทศหรือเมือง [26] ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “หลักมั่นหลักคง”

สำหรับบ้านผาเลือดซึ่งอยู่เหนือหลักประโคนขึ้นมานี้ เดิมขึ้นอยู่กับเมืองท่าปลาในเขตปกครองของเมืองน่าน และเป็นชุมชนสุดท้ายชายแดนของเมืองน่านทางทิศใต้ด้วย[27] แต่ด้วยความที่เมืองท่าปลาอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์มากกว่าศาลากลางจังหวัดน่าน พ.ศ. 2465 กระทรวงมหาดไทยจึงตัดเขตพื้นที่ของจังหวัดน่านมาอยู่ในความปกครองของจังหวัดอุตรดิตถ์ กลายเป็นอำเภอท่าปลาในปัจจุบัน[28]

ขอบเขตด้านตะวันตก

สมุดไทยดำกฎหมายพระอัยการโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

บริเวณใต้เมืองสวางคบุรีโดยแม่น้ำน่าน หรือขอบเขตด้านตะวันตกของเมืองสวางคบุรี โดยทางบก เป็นพื้นที่บึงกะโล่ พื้นที่ชุ่มน้ำรับน้ำหลากโบราณ และเป็นพื้นที่ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "ทุ่งบ่อพระ" เนื่องจากเคยเป็นสมรภูมิคราวปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313

นอกจากนี้ ใต้เมืองสวางคบุรีทางฝั่งซ้ายแม่น้ำน่าน บริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวัดคุ้งตะเภา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ตั้งของค่ายหาดสูงในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คราวพักทัพหลังจากปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ปรากฏหลักฐานการอพยพเคลื่อนย้ายการสร้างวัดและตั้งถิ่นฐานของผู้คนจากเมืองสวางคบุรี การค้นพบหลักฐานพระราชกำหนดบทพระอัยการสมัยอยุธยาจำนวนมาก และซากโบราณสถานทั้งที่เป็นไม้และอิฐโบราณ ในเขตพื้นที่โบราณสถานวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

ซึ่งบริเวณดังกล่าวสันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นศูนย์กลางทางการปกครองชั่วคราวของเมืองสวางคบุรีในสมัยธนบุรี ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายผู้คนไปอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำบางโพ ท่าอิฐ ท่าเสา เนื่องจากการเปลี่ยนเส้นทางการค้ากับหัวเมืองล้านนาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในระยะต่อมา[29]